Lifestyle

สภาวะของจิต

By iFew

April 15, 2014

เมื่อวานเป็นวันพระ เลยมีโอกาสไปทำบุญและแวะกราบครูบาอาจารย์ ท่านได้ไขข้อข้องใจให้แก่ผมเรื่องสติ และสมาธิในหลายๆจุด คิดว่าหลายท่านอาจมีคำถามเดียวกับผมก็เป็นได้

ผมเริ่มถามท่านว่า “เมื่อครู่ในศาลาการเปรียญ ผมนั่งสมาธิ แต่มีสารพัดสิ่งมากระทบ ทั้ง หู จมูก กาย จิต โดยเฉพาะหู ผมได้ยินเสียงเด็กร้องบ้าง เสียงรถหวอบ้าง เสียงคนคุยกันบ้าง พอนั่งไปสักพักก็เมื่อยบ้าง ปวดหลังบ้าง แล้วสภาวะพวกนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ผมควรเลือกจับสภาวะใดก่อน”

อาจารย์บอกว่า “สภาวะใดเด่นกว่าให้รู้สภาวะนั้น เสียงเด็กมา ก็เสียงหนอ แล้วจู่ๆเมื่อย ก็เมื่อยหนอ จู่ๆเด็กร้องอีก ก็เสียงหนอ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ”

ผมเลยสงสัยถามต่อไปว่า “เช่นนั้น จิตจะไม่นิ่งเลยสิครับ เพราะไปรับรู้สภาวะเหล่านั้นตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วย”

อาจารย์บอกว่า “นั่นถูกต้องแล้ว เพราะสิ่งทุกอย่างไม่คงที่ เด็กร้องเดี๋ยวก็หยุด เสียงหวอมา เดี๋ยวก็หายไป เมื่อยสักพักก็ชา ชาสักพักก็หาย เดี๋ยวก็เป็นใหม่ เดี๋ยวเราก็สุข เดี๋ยวเราก็ทุกข์ มันก็เป็นของมันอย่างนั้น เราจึงต้องรู้มัน ว่ามันมาแล้วก็ไป อย่าไปยึดติด”

ท่านบอกต่อว่า “แม้แต่ความคิดเราก็เช่นกัน ถ้าเบื่อ ถ้าคิดวอกแวก ก็ต้องให้มันรู้ว่ามันกำลังคิด ไม่ต้องไปคิดต่อว่า มันจะเป็นอย่างไร ให้ดึงกลับมา ยิ่งถ้าเกิดอาการหรืออารมณ์สงบ อารมณ์เป็นสุข ส่วนมากเราไปคิดปรุงแต่งเลยเถิดต่อไปเอง ว่านี่คือสิ่งที่ได้จาการนั่งสมาธิ ต้องดึงกลับมา อย่าไปยึดติดมัน”

“เอ๊ะ แล้วอย่างนั้น เราจะสงบได้อย่างไร เพราะเราไม่ได้จดจ่อสิ่งใด” ผมถามด้วยความยิ่งสงสัย

ท่านบอกว่า “การจับสภาวะคือการมีสติรับรู้ เป็นวิปัสสนาสมาธิ ส่วนถ้าอยากฝึกสมถสมาธิ ต้องจดจ่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ลมหายใจ มันแยกกันนะสองอย่างนี้”

“อ่อออ” ผมถึงบางอ้อเลย

“จริงๆมันไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่ผมคิดเยอะ เผลอเอาไปผสมกันเอง แล้วก็คิดมากไปเองว่ามันง่ายไป อาจไม่ถูก” ผมบอกอาจารย์ อาจารย์เลยยิ้มๆ แล้วบอกว่า “ใช่แล้ว”

แล้วก็คุยเรื่องสภาวะจิตอีกสักพักใหญ่ๆ พอสรุปคำอาจารย์ได้ใจความว่า

“ถ้าจับความรู้สึกได้เรื่อยๆ จะเริ่มแยกได้ว่า นี่คือความคิด นี่คือจิต นี่คือร่างกาย เราจะไม่ไปผูกมัน เราจะรับรู้ แต่ไม่รู้สึก เพราะเราหยุดมันไว้แค่นั้น”

ฟังแล้วรู้สึกดี

“เอวัง โหตุ” ท่านอาจารย์ให้พร ปล1. เอวัง โหตุ แปลว่า ขอความปรารถนาที่ท่านปรารถนาแล้วอย่างนั้น จงสำเร็จด้วยเทอญ ปล2. ย้อนกลับไปเชื่อมโยง Iceberg Model ได้นะครับ ว่าแยกแยะจิต ความคิดได้ ก็จะรู้ว่าเราอยู่ในสภาวะใด เพื่อไม่ให้หลงคิดต่อ ยึดติด

โต๊ะทำงาน ในห้องนอนย่านกลางกรุง 15 โมษายน 2557