เขาช้างเผือกที่คนอื่นฮิตไปกัน ผมก็ไปกับเขาบ้าง
แต่การไปครั้งนี้แปลกที่สุดตั้งแต่เดินป่ามาเลยครับ
เพราะไปแล้วโดนปรับ! ข้อหาบุกรุกอุทยาน!
เรื่องราวเป็นอย่างไร ลองอ่านกันดูครับ

1. กรี๊ดแตก

กาญจนบุรี ผมหลงเสน่ห์หลังจากไปเที่ยวแถวนั้นบ่อยๆ ความหลากหลายทางธรรมชาติเยอะ
คนก็ยังไม่วุ่นวายเหมือนโคราช ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ภูเขา วัฒนธรรม
และเป็นหนึ่งในจังหวัดที่นั่งรถนาน 3 ชั่วโมงก็ยังไม่พ้นสักที

ช่วง 4-5 ปีมานี้ กาญจนบุรีบูมมากในหมู่คนรักการผจญภัย
โดยเฉพาะ เขาช้างเผือก ที่ตั้งอยู่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
(ถ้าเจอใครเรียกว่า บ้านอีต่อง ก็ที่เดียวกันนี่แหละ เพราะจุดเริ่มต้นเดินทางอยู่ที่หมู่บ้านนั้น)

ต่อให้คนไม่ชอบการผจญภัยผมเชื่อว่าต้องเคยได้ยินชื่อ เขาช้างเผือก
เพราะตามโลกออนไลน์เขาโพสรูปกันกระหน่ำซัมเมอร์มากๆ ทั้ง pantip, facebook, multiply(สมัยก่อน)
ส่วนตัวผมเองก็รู้จักเมื่อ 4-5 ปีก่อน จากเพื่อนใน multiply

จำได้ว่าตอนนั้นเห็นรูปแล้วกรี๊ดมากค่ะ!
ภูเขาหญ้าเขียวๆ ทะเลหมอกรำไร
แล้วมีคนถ่ายเซลฟี่ตัวเองบนสันเขาที่สองข้างเป็นเหว

ซึ่งความรู้สึกตอนนั้นคือ อยากไป แต่ก็กลัวชิบ! แล้วไม่รู้ด้วยว่าจะไปอย่างไร!

ส่งรูปให้ใครดู เขาก็ชอบ ชมว่าสวย แต่มักได้คำตอบว่า “กรูไม่ไปกับเมิงหรอก!”
สมัยนั้นก็ได้แต่เก็บความอยากไว้ลึกๆ.. ลึกก็ลืม…

จนวันหนึ่งเห็นเพื่อนผู้หญิงมันไปมา ทำให้รำลึกอดีตได้ว่าอยากไป
คิดว่า “ผู้หญิงบอบบาง(หรือเปล่าวะ)ไปได้ ทำไมตรูจะไปไม่ได้วะ!”
วิธีการคือ ไปค้นใน Google แล้วจะพบว่ามีคนจัดทัวร์
อารมณ์คล้ายทริปหารเฉลี่ย คือ มีคนตั้งทริปว่าจะไปเขาช้างเผือก
เดินทางสองวันช่วงไหน ไปด้วยรถตู้ รวมอาหารกี่มื้อ ค่าประกัน บลาๆ
ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมด สิริรวมแล้ว 2,700 บาท (ราคาเมื่อปี 2556)

คือแอบตกใจว่า ทำไมมันถูกและดูง่ายกว่าที่คิดวะ ก็เลยไม่คิดอะไรมาก จองไปเลย 1 ที่
ตอนนั้นตื่นเต้นมาก เพราะชวนเพื่อนแล้วไม่มีใครไปด้วย ก็เลยไปคนเดียวมันซะเลย! แถมไปกับใครไม่รู้

ทริปนี้เจออุปสรรคตั้งแต่แรกๆ
ผมจองไปเดือนมีนาคม แต่จู่ๆ อุทยานก็ปิดเร็วกว่ากำหนด เลยต้องเลื่อนไปต้นตุลาคม
แต่พอถึงกำหนด เจ้าหน้าที่อุทยานก็บอกว่าให้เลื่อนไปกลางเดือนแทน
แล้วคนในกลุ่มที่ร่วมทริป มีคนบินมาจากสงขลา ซึ่งเขาเคยเลื่อนไปแล้วเมื่อช่วงมีนาคม
คราวนี้หัวหน้าทริปผมโมโห ไม่เลื่อนตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ ขอไปแหกป่าเอาดาบหน้าซะเลย!

2. ออกเดินทาง

เรานัดเจอกันคืนวันศุกร์ และเดินทางไปถึงหมู่บ้านอีต่อง จ.กาญจนบุรี ตอนตี 4 ของวันเสาร์
ที่นั่นอากาศเย็นพอสมควร (แต่ผมว่าแอร์ในรถหนาวกว่ามาก)
ทุกคนนอนเก็บแรงต่อจนถึง 6 โมงเช้า ก็เริ่มแยกย้ายกันไปเตรียมตัว เตรียมของเดินทาง

นั่งรวมตัวนั่งรอรถตู้กันที่ BTS หมอชิต

บ้านอีต่อง สงบๆ ชิลๆ อากาศดี น่ามานอนเล่นมากครับ

บ้านอีต่องมี Guesthouse, ร้านอาหาร และตลาด  ตอนนี้ทาง ปตท เข้าไปทำท่อและสถานีก๊าซ แต่วุ่นวายไม่มากนัก

ในทริปนี้เนื่องจากพวกเราบุกรุกป่าในช่วงที่ยังไม่เปิดอุทยาน จึงทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่ตามไป
และไม่มีลูบหาบคนไหนกล้าไปกับพวกเราด้วย เพราะกลัวเจ้าหน้าที่เล่นงาน
ดังนั้นพวกของกองกลางต่างๆ หม้อ กะทะ จาน ของกิน ต้องแบ่งๆกันแบกขึ้นไป
(ปกติแล้วการเที่ยวแบบนี้มักจะมีลูกหาบแบกของกลางให้ เช่น เต็นท์ อุปกรณ์ทำครัวและอาหาร
ส่วนเราจะแบกของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ถุงนอน กล้อง ขนม น้ำดื่ม)

ซึ่งตอนนั้นผมชั่งน้ำหนักเป้ตัวเองได้ประมาณ 22กิโลฯ!
(ลืมบอกครับ ช่วงที่เลื่อนทริปไปหลายเดือน ผมไปเดินป่าอื่นๆมาก่อนแล้ว เลยพอมีประสบการณ์บ้าง)

แบกกันเต็มเป้

ประตูทางขึ้นเขา

เราเริ่มต้นเดินขึ้นเขา ประมาณ 9 โมงเช้า
ที่นี่ต้องทำใจนิดหนึ่งครับว่าแดดร้อนมาก และแทบไม่มีต้นไม้ให้หลบแดดเลย
สภาพเขาเป็นป่าหญ้า 70% ดังนั้นอุปกรณ์กันแดด เช่น หมวก ปลอกแขน ใส่มันเข้าไป
คือนอกจากกันแดดแล้วยังกันหญ้าคาบาดแขนบาดขาด้วยนะครับ

ถ้ามีร่ม ก็กางเเดินไปเลย เก๋ๆ

ใครมีครีมกันแดดก็โปะมันให้ทั่วตัว และถ้าใครไปช่วงอากาศชื้นๆ มีฝน
แนะนำให้พกถุงกันทากไปด้วย เพราะมีจุดหนึ่งในช่วงแรกๆ จะพบดงทากให้เสียวเล่น

แค่วิวระหว่างทางก็สวยแล้วครับ แต่แดดร้อนมากๆ

นอกจากใส่ถุงกันทากแล้ว แป้งเย็น เกลือ ก็พกไปโรยให้ทากหลุดด้วยก็ดีนะครับ

การเดินช่วง 1-3 กิโลฯ แรก จะไม่ชันมาก สัก 10-30องศา
พอเข้าสู่กิโลฯ ที่ 4-5 จะมีบ้างที่ต้องปีนหินระดับ 30องศา
แล้วก่อนจะถึงจุดกางเต๊นท์ ต้องลงเดินแบบดิ่งชันๆ ค่อนข้างลำบาก ระวังลื่น (จุดนี้จะมีเชือกให้จับ)
ผมแนะนำให้มือหนึ่งจับเชือก อีกมือคว้าหญ้าเป็นกำๆ แล้วดึงไว้
ถ้าใครมีไม้เท้าก็พยายามใช้ยันตัวไว้

ทางขึ้น มีชันสลับราบบ้าง แต่ยังไม่มากนัก

เนื่องจากผมมากับทีมอินดี้ครับ จึงไม่ลงไปนอนในหุบที่เป็นจุดกางเต๊นท์ แต่จะนอนบนยอดเขาก่อนถึงหุบ
ข้อดีคือ ทำให้สบายขึ้นนิดนึงตอนขากลับ เวลาเดินไปยอดแล้วต้องลงไปในหุบก็ไม่ต้องแบกของหนักๆ ให้เสี่ยงลื่น
แถมสามารถดูพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้จากจุดนั้นพอดี
ส่วนข้อเสียคือ ไกลแหล่งน้ำและไม่มีห้องน้ำ ลำบากลูกหาบหน่อย
(แต่ในเวลานี้ เจ้าหน้าที่จัดระเบียบใหม่ เข้าใจว่าจะไม่ให้นอนตรงที่ผมเคยนอนแล้ว)

เราใช้เวลาเดินประมาณ 5-6 ชั่วโมงถึงยอดเขาที่จะใช้นอน
เรากางเต๊นท์ และทำแคมป์กลางเสร็จ ก็ไปลุยต่อกันบนยอด
ซึ่งจากจุดนี้ไปถึงยอดประมาณ 2 กิโลฯ กว่าๆ
เส้นทางขึ้นสันเขา 2 ลูก ความชันระดับ 30-45องศา ต้องปีนป่ายหินตลอด
ดังนั้นหากใครเมื่อยล้ามาทั้งวัน ให้กินยาคลายกล้ามเนื้อหรือพาราเซตามอลก่อนสักระยะหนึ่ง

หลับเอาแรงเพื่อรอไปดูพระอาทิตย์ตกดิน

3. สู่ยอดช้างเผือก

หลังจากลงไปถึงหุบที่เป็นจุดกางเต๊นท์ของอุทยาน
ต้องเดินขึ้นมาบนยอดเขาแรก เราจะได้เจอสันคมมีดอันโด่งดัง
คนที่ไม่กล้าก็เลือกจะหยุดแค่นั้น ส่วนคนกล้าหน่อยก็จะมันส์มาก
สภาพคือเป็นสันหินแคบๆ 2 ฟุต และสองข้างเป็นเหว
ส่วนทางข้างหน้ามีหินสูงเกือบ 2 เมตร ที่เราต้องโหนเชือกขึ้นไป
(จุดนี้ แนะนำให้หาจุดวางเท้าให้มั่นคงก่อน จับเชือกให้แน่น แล้วดึงตัวเองขึ้นไป)

วิวบนเนินเขาที่ทีมผมกางเต๊นท์ ถ้าเดินต่อลงไปในหุบ ก็จะเจอจุดกางเต๊นท์ของอุทยาน แล้วเดินต่อไปบนยอดเขาช้างเผือกที่เห็นลิบๆ เมฆบัง

ยอดเขาช้างเผือกที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ อยู่ตรงหน้าผมแล้ว

ทางลงหุบ ค่อนข้างลื่นและชัน วางเท้าดีๆ ใช้ไม้เท้าช่วย กำหญ้าก็ช่วยประคองตัวเองได้เช่นกัน

หลังลงจากหุบ ก็ต้องปีนขึ้นต่อไปอีก ตรงนี้เป็นหินล้วนๆ

สันคมมีด จุดพีคของที่นี่ และต้องวัดใจกันเลย เพราะเป็นทางผ่านไปสู่ยอดเขาช้างเผือก

ความสนุกอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ได้ปีนสันคมมีด เหมือนมาไม่ถึงเขาช้างเผือก

หลังจากผ่านสันคมมีดมาแล้ว วิวจะสวยมากๆ ครับ เห็น 360 องศาโดยไม่มีอะไรบัง
เพื่อนผมบอกว่า ถ้าเป็นช่วงมีหมอก เราจะอยู่ในระดับเดียวกับหมอก
สัมผัสหมอกที่ไหลเอื่อยๆ ผ่านตัวไป ดั่งอยู่ในสวรรค์อย่างไรอย่างนั้น!
แต่อย่ามัวเสพบรรยากาศเพลิน ระวังตกเขาให้ดี เดี๋ยวจะได้ไปสวรรค์จริงๆ
เส้นทางนี้ยังแคบ 2 ฟุต ถ้ามีอาการกลัว ให้หมอบเดินต่ำๆ หรือคลานไปเลยก็ได้ไม่เป็นไร
(พอกลับมาก็จะมีเพื่อนแอบถ่ายรูปขอบกางเกงใน ตอนเราก้มคลานให้เก๋เล่นๆ)

หลังจากผ่านสันคมมีดมาแล้ว วิวจะตระการตากว่าเดิมมากครับ

ก่อนถึงยอดเขาช้างเผือก จะเจอทางขึ้นสัก 100 เมตร
แต่เป็นร้อยเมตรที่ชันใช้ได้เลย น่าจะ 30-45องศา
ส่วนตัวคิดว่าจุดนี้โหด เพราะถึงจุดนี้ ขาจะล้า และสั่นฐานเริ่มไม่มั่นคง
ระวังลื่นให้ดี คลายสี่ขาได้ก็จัดเลย ทั้งขาขึ้นและลง

เนินสุดท้าย เพื่อไปสู่ยอดเขาช้างเผือก

บนยอดเขาช้างเผือกเราจะเห็นวิว 360องศา ไกลสุดลูกหูลุกตา
โชคดีว่าผมไปวันฟ้าใส แดดร้อนหน่อย แต่ได้วิวสวยมากๆ
คิดว่าถ้าไปช่วงมีหมอก อาจได้อีกอารมณ์หนึ่งเพราะเห็นทะเลหมอกสุดขอบฟ้าแน่ๆ
จุดนี้จะมีป้ายให้ถ่ายเป็นที่ระลึกด้วยแหละ

ยอดเขาช้างเผือกสูง 1,249 เมตร จากระดับน้ำทะเล ข้างบนเห้นวิว 360 องศา และมีป้ายให้ถ่ายเป็นที่ระลึกด้วยครับ

จากบนยอดเขาช้างเผือก มองไปทางฝั่งไทย

มองไปทางฝั่งประเทศพม่า

หลังจากเราถ่ายรูปเสร็จ ก็เดินกลับไปที่จุดกางเต๊นท์
จังหวะนี้ ปกติจะเป็นเวลาพระอาทิตย์เริ่มตกดิน
ไม่ต้องรอดูตกบนยอดครับ เพราะเดี๋ยวมืดแล้วจะเดินลำบาก
ให้ถ่ายภาพตามระหว่างทางเดินกลับนี่แหละ สวยแล้ว
เพราะพระอาทิตย์จะตกให้เห็นต่อหน้าเราเลย สวยมากๆ

ขากลับ ผ่านสันคมมีดเหมือนเดิม ซึ่งตอนปีนลงเสียวกว่าตอนปีนขึ้นมากครับ

พระอาทิตย์ตกดินอยู่ตรงหน้าเราเลย

4. น้ำท่วม และหนังหมู

คืนวันนั้น อากาศเย็นสบายมากๆ
ไม่หนาวเกินไป กะว่าจะนอนชิลๆ ดูดาว
ปรากฎว่ามองไม่เห้นอะไร  อดดูครับ

กำลังทำอาหารค่ำกินกัน

พอหลับไปได้สักพัก ช่วง 5 ทุ่ม เกิดฝนตกห่าใหญ่
เนื่องจากพวกเราส่วนมากนอนกองกลาง จึงทำให้โดนลมและน้ำฝนสาด และหยดน้ำที่ซึมจากผ้าใบ
วุ่นวายกันทั้งทีม เปลี่ยนที่หลับที่นอนใหม่
จัดตำแหน่ง Fly Sheet ใหม่  (แผ่นพลาสติกที่ใช้ทำเป็นหลังคา) ไม่ให้ฝนเข้า
คือจัดให้มันทับซ้อนกัน และดึงให้ตึงอย่าให้น้ำขังเป็นแอ่งบนหลังคาครับ

ผมคิดว่ารอดแล้วก็เลยหลับต่อ
จู่ๆ เพื่อนข้างๆ มาสะกิด “น้ำท่วมๆ!”
ไอ้เราก็สะดุ้ง เพราะน้ำไหลนองผ่านข้างๆตัว (แต่ไหลโดนตัวเพื่อนที่มาสะกิดเต็มๆ)
ปรากฏว่าฝนตกหนักขึ้น น้ำซึมลงดินไม่ทัน
แล้วเราใช้หญ้าปูรองนอนให้นิ่ม เลยทำให้น้ำลงดินยากขึ้น
และตัวแผ่น Ground Sheet (แผ่นพลาสติกที่ใช้ปูพื้น) เราปูราบๆ
ไม่ได้พับพื้นให้มันเป็นกำแพงเพื่อกันน้ำแต่แรก
จึงต้องลุกมาวิดน้ำแล้วเช็ดพื้นใหม่
กว่าจะได้นอนก็เกือบตีหนึ่งเลยทีเดียว

ฝนตกหนักมาก น้ำหยดจาก Fly Sheetแทบไม่ได้นอนกันทีเดียว

ผ่านคืนนั้นมาได้อย่างน่าตื่นเต้น
ตื่นเช้ามา เห็นหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นก็ชื่นใจ
เราทานมือเช้าเสร็จก็เดินลงจากเขาประมาณ 9 โมง
แน่นอนว่ากลางคืนฝนตก เช้าจะมีหมอกสวยงาม
และที่มันส์กว่านั้นคือ พื้นลื่นครับ!
ยิ่งขาลงชันๆ จะเร้าใจมาก!

วันนั้นผมไม่เสียประวัติ ไม่ลื่นเลยสักครั้ง
แต่ก็เห็นเพื่อนหลายคนลื่นกันสนุกสนาน
เพราะดินแถวนั้นอัดแน่น จนกลายเป็นดินหนังหมู เกือบตลอดทาง
(ดินหนังหมู คือดินแข็งๆ ผิวเรียบ พอเจอน้ำฉาบหน่อย ลื่นอย่างกับไสลด์เดอร์
รองเท้าดีๆ แพงๆ แค่ไหนก็เอาไม่อยู่)
เทคนิคคือ ถ้าไม่เดินหลบ ก็ต้องเหยียบตามโคนหญ้าแทนครับ

หลังจากทรมานตากฝนกันทั้งคืน เช้ามาก็เจอทะเลหมอก ค่อยหายเหนื่อยหน่อย

5. สรุปการเดินทาง

เขาช้างเผือกค่อนข้างประทับใจผมมาก เห็นวิว 360องศา
สภาพการเดินปานกลางไม่ยากมากนัก
(แต่ถ้าจะถามว่าเทียบกับภูกระดึงยากไหม ตอบไม่ได้เพราะไม่เคยไป)
ภูเขาเป็นภูเขาหญ้า ดังนั้นจะเห็นรูปทรงสันเขาชัดเจนสวยงาม
วันไหนฟ้าใสคงได้ดูดาวสวยๆ
วันไหนมีหมอกหนา ก็น่าจะเห็นทะเลหมอก
ไม่อดตาย เพราะมีแหล่งน้ำให้ดื่มให้ใช้
ช่วงตรงสันคมมีดวัดใจได้ดีในระดับหนึ่ง
ได้สนุกยามค่ำคืนคือวิดน้ำออกจากเต๊นท์
ถ้าให้กลับไปอีกรอบก็ไปครับ! ชวนเลย! ชวนฉันสิ!

ความสวย: 10/10
ความสนุก: 10/10
ความยาก: ปานกลาง
แหล่งเติมน้ำ: มี

6. สิ่งที่ต้องเตรียม

  • ถุงมือ – ไว้จับหญ้าเวลาเจอทางชัน และปัดป้องหญ้าสูงๆออกจากตัว และไว้ดึงเชือกตอนขึ้นสันคมมีด
  • ปลอกแขน – ป้องกันหญ้าบาด
  • หมวก – แดดร้อนมาก ไม่ค่อยมีต้นไม้ให้หลบ ถ้าได้หมวกแบบมีคลุมหลังหัวจะดีมาก หรือจะใช้ผ้าพันหัวก็ได้
  • ถุงกันทาก – มีทากในช่วงแรกๆนิดหน่อย (หรือไปหาซื้อตามร้านเกษตร บอกว่าถุงกันหอยเชอรี่ ก็ได้)
  • ร่ม – ไม่ดัดจริตนะฮะ อันนี้จริงจัง ร้อนมาก

ปล1. ที่ผมไปครั้งนี้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบการเข้าป่าช่วงที่ยังไม่เปิดอุทยาน ซึ่งผิดกฏหมาย
ดังนั้น นอกจากประกาศนียบัตรไม่ได้แล้ว ยังได้ใบสั่งพร้อมโดนค่าปรับด้วย
และที่สำคัญไม่มีลูกหาบคนไหนอยากตามไปเพราะกลัวมีปัญหากับเจ้าหน้าที่
เจ้าหน้าที่เองก็จะไม่ตามเราเข้าไปด้วย ดังนั้นอาจเกิดอันตรายได้

ปล2. ข่าวทีมผมบุกรุกและโดนค่าปรับไป 500 โด่งดังมาก จนไม่มีใครกล้าไปตามอีกเลย ฮ่าๆ

ลงมาถึงพื้น เจ้าหน้าที่ดักรอจดชื่อและออกใบสั่งค่าปรับ

เก็บไว้เป็นที่ระลึก ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ปีนเขา แต่โดนใบสั่ง ฮ่าๆๆ

————————————————————————

มาแถมอีกนิด สำหรับคนจะไป ระเบียบการการปีนเขาช้างเผือกที่เพิ่งประกาศเมื่อเดือนที่แล้ว
โดยในเพจเพจอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีได้ระบุข้อความไว้ดังนี้

“อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ขอประกาศให้นักท่องเที่ยวทุกท่านทราบว่าทางอุทยานแห่งชาติมีความพร้อมในการเปิดให้ขึ้นเขาช้างเผือก เปิดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2558 และผู้ที่ขึ้นเขาต้องจองล่วงหน้า 7 วัน และส่งรายชื่อ สกุล เลขที่บัตรประชาชน พร้อมที่อยู่มาให้ก่อนล่วงหน้า และให้นักท่องเที่ยวขึ้นได้จำกัดจำนวน วันละ 60 คน เท่านั้น และขอให้นักท่องเที่ยวที่ขึ้นเขาช้างเผือกทุกท่านขอให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบของอุทยานแห่งชาติอย่างเคร่งครัด จึงประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกันค่ะ”

“อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ขอแจ้งนักท่องเที่ยวที่จองขึ้นเขาช้างเผือก ทางอุทยานแห่งชาติรับจองล่วงหน้าก่อน 7 วัน เท่านั้น และในกรณีที่นักท่องเที่ยวจองวันได้แล้วเท่านั้น จึงให้ส่งชื่อ สกุล เลขบัตรประชาชน และที่อยู่ มาที่ อีเมล์ thongphaphumoffice@gmail.com หากคณะใดจองไว้แล้วแต่ไม่ส่งชื่อ มาก่อนวันเดินทางมาทางอุทยานแห่งชาติจะถือว่าท่านได้สละสิทธิ์ จึงประชาสัมพันธ์ให้ทราบค่ะ”

Published by iFew

ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ชื่นชอบหลายเรื่องที่ไม่น่าจะไปกันได้ ทำงานไอที แต่ชอบท่องโลกกว้าง รักประวัติศาสตร์ แต่ก็สนใจเทคโนโลยี ชอบสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง และไปป้ายยาคนอื่นต่อ

Exit mobile version