รวบรวมมาได้ 18 ข้อ จากการไปเดินป่าที่เนปาล เป็นเรื่องเล็กๆ เก็บตก บางทีก็เป็นเรื่องสนุกๆ ตลกๆ ที่จะไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่ถ้ารู้ไว้ก็ดี (เอ๊ะยังไง?)

1.จงเตรียมอาหารไปกินเอง

ด้วยความที่คนในชาติเป็นฮินดูเสียส่วนใหญ่ และใกล้อินเดีย อาหารที่นั่นเลยคล้ายอินเดีย เนื้อหมูไม่ค่อยมี ยิ่งเข้าป่าความหลากหลายทางของกินยิ่งหายาก มีแต่ผัก ไข่ ไก่ ข้าว แป้ง ดังนั้น อยากกินอะไร จงเตรียมไปให้พรั่งพร้อม

จากภาพ ข้าวผัดอินเดียมีกลิ่นแรง แต่จืดสนิด ต้องหาซอสใส่ ซอสเขาก็เป้นแบบเขียวๆเผ็ดๆ หรือไม่ก็มะเขือเทศ บางทีก็กินเป็นเส้นผัดคล้ายหมี่ซั่ว ก็จืดเช่นกัน และพอคนไทยกินอาหารอินเดียบ่อยๆก็เริ่มเบื่อ เราจึงโหยหาความง่าย ที่เหมือนในบ้านเมืองเรา นั่นคือ ข้าวผัดผักไข่ดาว

ซึ่งแรกๆ ก็ดี แต่หลังๆ พี่แกคงคิดว่าเราชอบ จุดทุกมื้อ! ทุกวัน!

ดังนั้น นอกจากเตรียมของกินไปแล้ว ยังควรวางแผนเรื่องการกินให้ดีด้วย ว่ามือ้ไหนจะกินอะไร

2.คนเนปาลเป็นคนชิลๆ

ไปคลุกคลีกับคนเนปาลหลายวัน ประเทศนี้แม้ไม่เจริญมากนัก สกปรก และวุ่นวาย
แต่คนก็มีความสุข

ผมพบว่าความสุขเขาเกิดจากวิธีคิด คิดจากความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และปล่อยให้มันเป็นไป

จากวิถีของคนเนปาล ได้ถ่ายทอดมายังนักท่องเที่ยวแบบผม
ไกด์ถามแท็กซี่ขณะยกกระเป๋าขึ้นหลังคารถ ประมาณว่า “เอ็งไม่มีเชือกรัดหน่อยหรอ”
แท็กซี่ตอบว่า “ไม่มี ไม่เป็นไร มันโอเค”
ไกด์หันมาตอบผมแบบทันที “ไม่มี แต่ถ้ามันร่วง เดี๋ยวคุณก็รู้เอง”

เออ ก็จริงของมัน, ในเมื่อมันไม่มีวิธีที่ดีกว่านี้
เราก็ต้องอยู่กับมัน ตามที่เขาแนะนำ
แต่แอบวิตกเล็กๆ เพราะรถที่เนปาลขับลืมตายมาก
เลยต้องโหนจับกระเป๋าตัวเองอยู่เรื่อยๆ ตามภาพนี่แหละ

3.เรื่องส้วมๆ

ส้วมที่เนปาลดูผ่านๆก็โอเคนะ แต่ที่แปลกคือเป็นส้วมนั่งแต่ไม่มีที่ฉีดตูด

แล้วทำไงล่ะ?!

ก็หนีบขี้มานั่งล้างกับพื้นไง

แถมประตูก็มักเป็นกลอนอยู่ด้านบน แอบสงสารคนเตี้ยเลย

นี่ถ่ายในโรงแรมเกสต์เฮาส์อินเตอร์ยังดีหน่อย ถ้าส้วมตามป่าเขาใน Annapurna นั่นเป็นส้วมหลุมที่ครอบด้วยสุขภัณฑ์ ขี้ทีนึง ร่วงไปอยู่ไหนไม่รู้ แต่แอบเหม็นๆเหมือนทับถมกันเยอะๆ เพื่อนหญิงบอกว่าบางแห่งประตูเป็นร่องระดับหนึ่งนิ้ว ที่ล็อกเป็นไม้ขัดแบบหลวมๆ

คือนึกภาพผู้หญิงตัวเล็กๆนั่งยองๆ มือหนึ่งจับกางเกง มือหนึ่งดันประตู แล้วต้องปิดไฟ เพื่อไม่ให้ใครมองลอดช่องเข้ามาเห็น อืมมม มันดูทรมานดี

4.เรื่องของสำลี ลูกอม และเครื่องบินเล็ก

ผมบินไปถึงกาฐมันฑุแล้วต้องบินต่อไปโพคลา เราใช้บริการสายการบินเยติ เป็นเครื่องใบพัดลำเล็กๆสักสามสิบคน ประสบการณ์ใหม่คือ ยังมีแอร์ฯให้บริการด้วย

หน้าตาเธอเป็นสาวอินเดีย แต่งชุดแนวๆพื้นเมืองยืนไหว้ต้อนรับและสื่อสารระหว่างนักบินกับผู้โดยสาร

เมื่อทุกคนพร้อม เธอถือตะกร้ามาใบหนึ่งแล้วเดินแจกทุกคน นั่นคือลูกอมและสำลี

ลูกอมพอเข้าใจ อมเล่นระหว่างเดินทาง แต่สำลีนี่สิ มารู้ทีหลังว่าให้อุดหูเพราะเสียงเครื่องบินดังมาก!

แจกปุ๊บอุดปั๊บ แล้วชีก็พูดอะไรไม่รู้ เออ แล้วกรูจะได้ยินไหมอ่ะ สรุปต้องถอดออกแลัวปั้นใหม่

แต่จนแล้วจนรอด พายุเข้าครับ ฟ้ามืดเลย เครื่องบินไปวนรันเวย์มารอบหนึ่งแล้วก็กลับมาจอดที่เดิม เธอบอกว่าบินต่อไม่ได้

โธ่ว… หมดสนุกเลย
แต่เอาเถอะ ถึงบินได้ ก็คงเสียวตลอดทาง ขนาดจอดอยู่เฉยๆเครื่องยังสั่นเพราะลมแรงมากๆ

5.สนามบินภายในของเนปาล

Domesic Airport ที่สนามบิน Tribhuvan Nepal ติสมาก สร้างไปใช้ไป ฝุ่นตลบ

เดินมาครั้งแรกนึกว่าไกด์จะลวงไปฆ่า เหมือนตึกร้าง และมีแต่คนแขกเดินตามขอยกกระเป๋า เพื่อขอเงินค่าบริการ ใครไม่อยากเสียเงินก็ยกเองนะ

Security Check ไม่ต้องพูดถึง มีเครื่องแสกนตรวจอย่างดี แต่ทุกคนก็เดินเข้าออกไปมาได้

ได้อารมณ์สถานีรถ บขส ตามต่างจังหวัด แต่นี่แหละ ต้องแบบนี้ ถึงจะเรียกว่ามาถึงชมพูทวีป

 

6.อยากได้อะไร ซื้อได้ที่ทาเมล

ย่านทาเมล ในเมืองกาฐมันฑุ เป็นสวรรค์ของนักเดินทาง ของถูกมาก ขาดเหลืออะไร หรืออยากซื้อฝาก หาได้จากย่านนี้เลย ครั้นผมไป ได้ถุงนอน-10c มา 800 บาท, ไม้เท้าคู่ละ 250 บาท, เสื้อดาวน์ 1,100 บาท ลองใช้แล้วแม้ไม่เต็มที่ตามที่ตัวเลขอ้างอิง แต่ก็ผ่านฉลุย คุ้มค่าคุ้มราคาดี

 

7.Duffle Bag ของสำคัญสำหรับนักเดินทาง

ผมก็เพิ่งรู้จักนี่แหละ ว่ากระเป๋าทรงเหลี่ยมๆใบใหญ่ๆ มันเรียกว่า Duffle Bag แล้วก็เพิ่งรู้ว่าถ้าไปตามยอดเขาหรือเดินป่าต่างประเทศ และมีลูกหาบ เราต้องแยกของใส่ลง Duffle bag เพื่อให้ลูกหาบแบก และมี day pack สำหรับเดินทาง ส่วนเป้ใหญ่ที่เราแบกไปแต่แรก อาจทิ้งไว้ในโรงแรม หรือยัดลง Duffle bag ก็ได้ เพราะลุกหาบจะแบกสะดวกกว่า

 

8.คอเบียร์ไม่ควรพลาด

มีเบียร์สามยี่ห้อที่คนเนปาลและนักท่องเที่ยวนิยมดื่มกัน
เรื่องของรสชาติ อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะครับ
Gorkha beer – เปรี้ยวๆเหมือนเบียร์ผลไม้
Everest beer – อร่อยดี เปรี้ยวนิดนึง
Tuborg – ดื่มง่าย นุ่ม เหมือนไฮเนเก้น

 

9.ปลั๊กพ่วง ที่ชาร์ตแบต พกไปเถอะ ได้ใช้แน่

ทุกบ้านพักจะมีไฟให้ใช้ แต่เก็บเงินค่าใช้ด้วย จ่ายทีเดียวจบกัน (ประมาณ100-200รูปีเนปาล) หากเป้นปลั๊กพ่วง บางที่ก็คิดราคาเท่ากับ ชาร์ตแบต เราจะเสียบต่อไปกี่รูก็ได้ แต่เสียบมากๆ ก็แอบกลัวระเบิดเหมือนกันนะ

แล้วอีกเรื่องคือ ระวังปลั๊กหลวม เพราะเมื่อชาร์ตกันหลายคน เดินไปขยับกันไปมา บางทีไฟของเราไม่เข้า ตื่นเช้ามาพบว่าแบตไม่เต็ม เดี๋ยวจะร้องไห้นะ

 

10.โจ๊กแบบเนปาล

โจ๊กแบบเนปาลที่ลองจำแนกรสชาติได้คือ เขาใช้ข้าวบาเล่ (อาจมีธัญพืชอื่นด้วย เพราะผมพบลูกเดือยด้วย) ต้มกับน้ำใส่นม ใส่เนย หวานๆหนืดๆดี แต่บางคนกินไม่ได้หลายคน แต่ผมก็ชอบนะ เหมือนเนสวิต้าดี

แล้วถ้าไปสั่งเขาให้ทำข้าวต้มเหมือนบ้านเรา อย่าเผลอสั่งว่า ข้าวต้มกับน้ำ เพราะคุณก็จะได้ข้าวบาเล่ต้มน้ำ จืดๆ หวานๆ เหมือนกัน ให้บอกไปเลยว่าใช้ข้าวสารแบบเดียวกับที่คุณผัดให้เรากินเนี่ยแหละ

ปล. ในภาพ หมูกับไข่ เตรียมจากไทยไปเองนะครับ

 

11.สวรรค์ของทุกคน

เวลาเดินป่าแล้วไปพักตามเกสเฮ้า หรือที่เรียกว่า Tea House ให้ลองเดินสำรวจให้ทั่ว บางทีจะมีห้องที่มีเตาผิง ซึ่งเจ้าของบ้านหรือลูกหาบจะมานั่งหลบหนาว และตากผ้า กัน

 

12.ของที่ไทยบางอย่าง ก็ไม่เหมาะในเนปาล

แนะนำเลย เช่น อย่าเอาปลอกแขนจักรยานที่ขายตามบ้านเราไปใช้กันแดดที่เนปาล เพราะมันทำมาแบบ extra cool ครับ เหมาะกับเมืองร้อนแบบเรา ใส่แล้วกันแดด กัน UV ได้จริง แต่มันก็ดูดความร้อนออกจากตัวเราไปด้วย หนาวสะท้านสิครับ

 

13.Chaba (ชบา) น้ำผลไม้สัญชาติไทยในเนปาล

Chaba เป็นน้ำผลไม้ที่ผสมเนื้อผลไม้ ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยพบในประเทศไทย เพราะว่ามีขายตามห้างสรรพสินค้าหรือ Super Market ใหญ่ๆ เท่านั้น ตามร้านสะดวกซื้อไม่ค่อยเห็น

แต่ที่เนปาล คุณจะพบได้ทั้งในเมือง ในป่า บนเขา สูงแค่ไหนก็จะเจอ มีให้เลือกหลากหลายรสชาติ เจาะตลาดได้เก่งมากยี่ห้อนี้ ไม่รู้ใครริเริ่ม

ราคาก็ขึ้นอยู่กับความกันดาร ตั้งแต่กระป๋องละ 55 ถึง 300 รูปีเนปาล (ประมาณ 100 บาท) ก็เจอมาแล้ว

 

14.ดินแดนศักดิ์สิทธิ์

หลายจุดตามภูเขาในเนปาล จะมีป้ายแจ้งแก่นักท่องเที่ยว ห้ามกินเนื้อหมู เนื้อควาย เนื้อไก่ เนื่องจากชาวเมืองแถวนี้เขาเชื่อว่าเป็นสถานที่สถติของเทพเจ้าของเขา และเมนูอาหารที่ครัวเนปาลทำก็จะเจอผัก ปลา แป้ง ข้าว

คือเพิ่มเลเวลความลำบากในการกินเข้าไปอีกระดับ

(แต่หากหิ้วเนื้อต้องห้ามไปแล้วเสียดาย หรืออดไม่ได้ก็แอบๆกินอย่าประเจิดประเจ้อละกันครับ)

 

15.เนปาลหนาว แต่ที่พักไม่มีผ้าห่ม

เมื่อเดินเข้าไปในป่าลึกๆ ที่พักหลายแห่ง มีแต่ห้องกันลม กันฝน กันแดด และเตียงกับหมอน แต่ไม่มีผ้าห่มให้ จากที่สอบถาม มันแห้งยากครับ โดยเฉพาะผ้านวม และการซักผ้าของเขาจะทำให้เขาหนาวและสิ้นเปลืองน้ำ (อันนี้เข้าใจว่าแล้วแต่ที่มั้ง) ดังนั้น ถุงนอนอุ่นๆควรพกไปอย่างยิ่ง

 

16.ลูกหาบแสนขยัน

ลูกหาบต้องมาแพ็คกระเป๋าทุกเช้า พอแบกไปถึงบ้านหลังไหนที่จะนอน เขาจะส่งคืนให้เจ้าของเอาไปใช้สอย  ซึ่งลูกหาบตื่นเช้าและขยันมาก บางทีลูกทัวร์ยังเก็บของไม่เสร็จ ก็มายืนรอกระเป๋าแล้ว ต่างคนต่างเกรงใจกันเลยทีเดียว

 

17.มาๆ ฉันจะเจิมให้นะนายจ๋า เพื่อความโชคดี

เมื่อเดินไปเจอพราหม์หรือนักบวชที่ไหนก็ตาม มีทีท่าจะเจิมหน้าผาก หรือจะทำพิธีอะไรกับเรา หรอืแม้แต่ชวนให้เราถ่ายรูป โปรดพึงรู้ไว้ว่า เขาคิดเงินเราด้วยนะครับ เพราะบางทีแกเดินเข้ามาเนียนๆ คนไม่รู้หรือที่รู้แต่ตั้งตัวไม่ทัน ก็จะพลาดกันไป สนนราคราก็ตามแต่เขาเรียก เช่น 100-200รูปีเนปาล แต่อาจต่อรองได้ และถ้าไม่จ่าย เขาก็จะเดินตามไปเรื่อยๆ

 

18.เจ้าดำ หมาปีศาจ

หมาปีศาจ เจอหลายตัวระหว่างเดินทาง มันจะวิ่งไปวิ่งมา ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บางทีก็วิ่งตามเราไปไกลมาก ก็แอบห่วงว่าจะกลับบ้านถูกไหม

หน้าตาก็คล้ายๆกันหมด ดำๆคละน้ำตาล เจอทีไรก็ตกใจนึกว่าตัวเดิมที่เจอวันก่อนๆ

แต่มันก็น่ารักทุกตัว ไม่เคยเห่า ไม่เคยทำท่าจะกัดนักท่องเที่ยวเลย

ปล. ตัวนี้ขาเป๋ แต่เดินเร็วกว่าผมอีก

 

เก็บตกจาก ซีรี่ – 8 วันเดินเท้า ไปเข้าตู้เย็น ในนาม ABC

ตอนที่ 1-2 เริ่มต้นและเตรียมตัว
ตอนที่ 3 มุ่งสู่เนปาล และอันนาปุรณะ
ตอนที่ 4 พบรักที่ Poon Hill
ตอนที่ 5 รสชาติชีวิต
ตอนที่ 6 ในวงล้อมแห่งหิมะ
ตอนที่ 7 จากลาพร้อมบทสรุป

Published by iFew

ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ชื่นชอบหลายเรื่องที่ไม่น่าจะไปกันได้ ทำงานไอที แต่ชอบท่องโลกกว้าง รักประวัติศาสตร์ แต่ก็สนใจเทคโนโลยี ชอบสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง และไปป้ายยาคนอื่นต่อ

Join the Conversation

1 Comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Exit mobile version