เป็นคำถามที่ผมถูกถามบ่อยๆ ทั้งผ่านเพจ Tripder เอง และทักมาถามผ่านเฟสส่วนตัว ถ้าให้ตอบสั้นๆ และฟันธงเลย ว่า “รองเท้าวิ่งเทรล สามารถเดินป่าได้แน่นอน” ครับ แต่ก็ใช่ว่าจะเหมาะสมทุกคู่นะ มีจุดสังเกตอยู่บ้าง เรามาดูรายละเอียดกัน

ขอออกตัวก่อนว่า ทาง Pathwild ได้ส่งรองเท้ามาให้ทดสอบคู่หนึ่ง คือตัว Salming Ranger (ผมเคยได้ยินมาบ้าง แต่เข้าใจมาตลอดว่าเป็นแบรนด์จีน แต่จริงๆแล้วเป็นแบรนด์สวีเดนนะ) ตั้งใจว่าหยุดยาว 1-4 พค นี้ จะเอาไปใส่ลุยทดสอบเดินป่าโหดๆ ที่วังหีบ นครศรีธรรมราช เพราะดูจากรูปทรงและคุณสมบัติ น่าเอาไปลองลุยป่าดิบชื้นจริงๆ แต่สุดท้ายก็อดไป เพราะสถานการณ์ COVID-19 เลยคิดว่าจะมา Unbox รีวิวแทนแล้วกัน ว่าทำไมผมถึงคิดว่าจะลองเอาไปเดินป่า

รองเท้าวิ่งเทรล กับ รองเท้าเดินป่า ต่างกันอย่างไร?

ภาพจาก https://www.facebook.com/salmingthailand

จริงๆ สองกิจกรรมนี้ค่อนข้างคล้ายกัน ตรงที่ต้องลุยในสภาพพื้นผิวที่ทุรกันดารเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดจริงๆ จะมีต่างกันบ้างในรายละเอียดที่จะใช้งาน ถ้าให้ผมพูดถึง 3 ข้อดีที่สุดของรองเท้าทั้งสองแบบ ขอสรุปได้ดังนี้ครับ

ข้อดีของรองเท้าวิ่งเทรล

  1. รองเท้าวิ่งเทรล น้ำหนักเบา : เพราะใช้วิ่ง เลยต้องคล่องตัวมากกว่า
  2. รองเท้าวิ่งเทรล มีการระบายน้ำที่ดีกว่า : เพราะเป็นการลุยในทุกสภาวะสนามที่ถูกออกแบบมาให้ท้าทายโดยผู้จัดงานวิ่ง
  3. รองเท้าวิ่งเทรล ราคาถูก : เรียกว่าอาจจะไม่ทุกคู่ แต่ก็มีช่วงราคาให้เลือกได้ตั้งแต่ถูกไปถึงแพง ขึ้นกับความต้องการของเรา

ข้อดีของรองเท้าเดินป่า

  1. รองเท้าเดินป่า ทนทาน : เพราะด้วยวัสดุที่ต้องแข็งแรง ห่อหุ้มเท้าจนถึงข้อเท้า และต้องแบกรับน้ำหนักได้เยอะ (คน+เป้+ของต่างๆ)
  2. รองเท้าเดินป่า ยึดเกาะทุกพื้นผิว : รองเท้าเดินป่ามีดอกยางที่สูง และพื้รองเท้านหลากหลาย การลุยโคลน เดินถนน เดินดิน จึงหลอกหลายตามไปด้วย
  3. มีการปกป้องเท้าและกันน้ำได้ดี : ด้วยความผิวรองเท้าหนา เวลาเดินเตะหินก็ไม่เจ็บ เจอความเย็ฯในหิมะก็ไม่ทะลุเข้ามา ลุยน้ำก็ไม่ซึมเข้า และบางรุ่นก็หุ้มข้อเท้าเพื่อป้องกันข้อเท้าพลิกได้ด้วย

จะสังเกตได้ว่า รองเท้าทั้งสองมีข้อดีทั้งคู่ แบบที่ไม่อยากปฏิเสธเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าให้ผมสรุปสำหรับพี่น้องชาวไทยนะ แบ่งได้สองกลุ่ม

ถ้าคุณหารองเท้าเพื่อเดินป่าในไทย หรือปีนเขาทั่วไป

ใช้รองเท้าอะไรก็ได้ เพราะป่าบ้านเราค่อนข้างแห้ง ไม่ชันมากนัก มีสภาพไม่ได้หลากหลาย และอาจต้องเจอฝนหรือลุยแม่น้ำด้วย ดังนั้น หากเป็นนักวิ่งอยู่แล้ว(หรือไม่ใช่นักวิ่ง)ต้องการใส่รองเท้าเบาๆ ผมแนะนำ รองเท้าวิ่งเทรล ได้เลยครับ, ยกเว้นไปป่าใต้หรือป่าที่มีความชันมากๆ ความยากสูงๆ ตรงนี้รองเท้าวิ่งเทรลใช้ได้ก็จริง แต่ก็อาจจะพังง่าย และลื่นหน่อยเมื่อเจอโคลนเละๆ ดังนั้นควรใช้รองเท้าเดินป่าดีกว่าครับ

ถ้าคุณหารองเท้าเพื่อปีนเขาหิมะ

แนะนำให้ใช้รองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อเท่านั้น เพราะมันทนทาน ป้องกันความเย็นเข้าเท้าได้ และด้วยดอกพื้นหนาและแข็ง จะทำให้จิกหิมะได้ดีประมาณหนึ่ง (แต่ก็ควรเสริมด้วย Crampon เพื่อการเกาะพื้นได้ดี)

สำหรับผมเอง หลังๆ ผมเลือกใช้รองเท้าวิ่งเทรลไปเดินป่าบ่อยขึ้น เพราะน้ำหนักเบา ใส่เดินนานๆ ก็ไม่เมื่อยข้อเท้าด้วย และที่สำคัญราคาไม่แพงเท่าพวกรองเท้าเดินป่า

Salming Ranger เหมาะกับวิ่งเทรลและเดินป่า?

ก่อนจะได้รับรองเท้า ผมแอบเข้าไปสืบใน Facebook Salming Thailand ก่อนแล้ว ว่ารุ่นนี้ได้นิยามว่า “Versatile and functional trainer for the journey through the trails and beyond” คือ เป็นรองเท้าใช้งานได้อเนกประสงค์และหลากหลายสภาพเส้นทาง

พอถึงวันที่ได้รับตัวรองเท้าจริงมา และได้ลูบๆคลำๆ มีหลายจุดที่ชอบมาก อย่างแรกเลยคือ น้ำหนักที่เบามากๆ ตามสเปกคือ ข้างละ 280กรัม เท่านั้น เอาว่าเบากว่าไม้เทรกกิ้งโพลทั่วไป ซึ่งการมีรองเท้าน้ำหนักเบา เวลาต้องใส่เดินป่านานๆ หรือใส่วิ่งเทรลนานๆ จะช่วยทำให้ไม่เมื่อยข้อเท้าครับ

กล่องสีเขียว ฟ้า ดำ สวยเลย
ความรู้สึกแรกที่หยิบขึ้นจากกล่อง น้ำหนักเบามากๆ, แต่เอ๊ะธงชาติสวีเดนเบี้ยวไหมวะ อ่อ ป่าว เขาตั้งใจให้ทำไว้มุมนี้ เป็นกิมมิก ฮ่าๆ

แต่การที่เขาจะผลิตให้รองเท้าน้ำหนักเบาได้ พร้อมกับทนทานด้วยนะ ต้องใช้วิธีการผลิตพิเศษ ในหลายๆส่วนเข้าเสริมกันทั้งตัวรองเท้า

Upper ของ Salming Ranger เอง เป็นวัสดุผ้าที่ชื่อว่า Cordura เป็นนวัตกรรมการทอเนื้อผ้าที่มีโครงสร้างเส้นใยที่ทนทานเป็นพิเศษ มักเอาไปใช้ทำกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า ที่ต้องการความทนๆ โหดๆ และน้ำหนักเบา โดยมีเนื้อคล้ายไนลอน แต่ทนกว่าไนลอน

ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Cordura
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Cordura
ผ้า Cordura

ด้วยตัว Upper เป็นเนื้อผ้า จึงทำให้มีความยืดหยุ่น คนที่ทรงเท้า หนา หรือกว้าง กว่าเท้าปกติ อย่างผม ก็จะไม่อึดอัดมาก เพราะมันยืดไปตามทรงเท้าได้

ด้านข้างของรองเท้า Salming Ranger

ด้านข้างรองเท้า มีการสกรีนผิวยางที่เป็นเทคโนโลยีเรียกว่า exo เพื่อลดการเคลื่อนไหวด้านข้างของเท้า และเพิ่มความทนทานเวลาตัวผ้า Cordura โดนขูดขีด

ด้านหน้าส่วนของ Toe Box

ในส่วนพื้นผิวของ Toe Box มีเทคโนโลยีอีกตัวเรียกว่า Rocshield เคลือบส่วนนี้ไว้ ทำหน้าป้องกันเวลาเราไปเดินเตะพวกหิน กิ่งไม้ ต่างๆ และส่วนนี้เองจะช่วยยืดอายุตัวรองเท้าได้นานขึ้นด้วย เพราะจากที่ผ่านมาถ้ารองเท้าไหนไม่มีส่วนนี้เคลือบแถว Toe Box ผมมักจะนิ้วก้อยทะลุบ้าง นิ้วโป้งทะลุบ้าง เมื่อใส่ไปนานๆ

ป้องกันหน้าเท้า

ส่วนด้านหน้าของรองเท้า มีส่วนของพื้นยางขึ้นมาเล็กน้อย ส่วนตัวผมชอบฟีเจอร์นี้นะ เอาไว้จิกพื้นด้วยปลายเท้า ไม่ว่าจะขึ้นทางชัน หรือการวิ่งสปิน และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ผมเป็นคนชอบเตะหินบ่อยๆ เจ้าฟีเจอร์แบบนี้ ช่วยลดแรงกระแทกได้เยอะ ก่อนจะเข้ามากระทบที่ Toe Box

ภายในตัวรองเท้า และลิ้นรองเท้า Salming Ranger
ลิ้นรองเท้า

ตรงส่วนของลิ้นรองเท้าค่อนข้างหนาและนุ่ม ไม่บาดเท้า ส่วนตัวด้านข้างเองขอบรองเท้าเองก็หนาหนุ่มเช่นกัน ใส่สบายเท้า แต่ก็ไม่ได้อึดอัดครับ

ด้านหลังรองเท้า Salming Ranger

ด้านหลังของรองเท้ามีการหุ่มส้นแน่นดี และมีหูให้ไว้อำนาวยความสะดวกตอนสวมใส่และไว้แขวนรองเท้าได้ด้วย

Salming Runlite

ในตัวของพื้นรองเท้า ทาง Salming ใช้เทคโนโลยีผลิตยางให้มีน้ำหนักเบา เรียกว่า Runlite ทำให้ส่วนของกลางแผ่นเท้า (Midsole) และพื้นรองเท้าชั้นนอก (Outsole) จะมีน้ำหนักเบา มีความทนทานสูง และเกาะพื้นได้ดี

สังเกตได้ว่าพื้นรองเท้าตรงกลางจะเป็นปุ่ม ตรงนี้ค่อนข้างแปลกจากรองเท้าวิ่งเทรลที่ผมเห็นบ่อยๆ แต่แอบไปเหมือนกับรองเท้าเดินป่ามากกว่า อย่างเช่น สตั๊ดดอย ที่ขึ้นชื่อว่าหนึบเกาะ เจาะโคลน ขวัญใจลูกหาบและนักเดินป่าสายแข็ง ส่วนขอบข้างๆจะเป็นแนวขวาง ที่ช่วยให้การยึดพื้นในช่วงชันขึ้นหรือชันลง ทำได้ดีขึ้น

Salming Ranger พื้น Drop 5mm

ดูแนวขวางของพื้น มีจุดสังเกตอีกอย่างคือ ดอกรองเท้าเป็นแบบสั้นสลับยาว เรียกว่าไม่ได้ทำให้หนึบมากไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้ลื่นเกินไป (รองเท้าหลายๆยี่ห้อก็ทำคล้ายกันนี้) ถามว่าช่วยอะไร ส่วนตัวผมเอง การมีรองเท้าที่หนึบมากไป จะรั้งข้อเท้าและทำให้เราบาดเจ็บได้ เช่นข้อเท้าพลิก ฝ่าเท้าบิด (ให้ลองนึกถึงใส่รองเท้าหนึบๆ แล้วไปเดินบนพื้นยาง หรือวิ่งลู่ยาง เราอาจจะสะดุดพื้นราบๆ ล้มได้)

จากที่ทดลองใส่ มีความกระชับ หนึบๆ รองรับฝ่าเท้าของผมได้เต็มแผ่นเท้า ตรงส้นเท้า/กลางเท้า/ปลายเท้าไม่เลยพื้นออกมา ครั้งแรกรู้สึกว่ามีความแข็งเล็กน้อย แต่ใส่ไปสักพักก็ชินครับ

สรุป

น่าเสียดาย ที่ไม่ได้ใส่ลองเดินป่าหรืิวิ่งเทรลบนสภาพพื้นที่ดินจริงๆ แต่จากที่แกะรีวิวและทดลองใส่แล้ว เป็นรองเท้าที่น่าจะถูกใจใครหลายๆคน ทั้งสายเดินป่าและสายวิ่งเทรล ซึ่งตัว Salming Ranger นี้ได้เปิดตัวไปเมื่อวาน (1 พ.ค. 2564) ด้วยราคาที่น่าตกใจ นั่นคือ 3,700 บาท เท่านั้น!!

อย่างที่ผมบอกตอนต้น รองเท้าเดินป่าแท้ๆ ราคาอาจจะแพงไป (4,500+ บาท) ถ้าจะลองมาใช้รองเท้าวิ่งเทรลเพื่อเดินป่าแทน ด้วยฟีเจอร์และข้อดีจากที่ผมได้อธิบายมา เมื่อรวมกับราคาเปิดตัวที่ค่อนข้างถูก ผมแนะนำสำหรับมือใหม่ที่จะเดินป่าและไม่อยากลงทุนสูงเลยครับ

ส่วนนักวิ่งที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่วงการวิ่งเทรล ไม่อยากลงทุนสูง มีความอยากไปลงทดสอบสนามแข่งหลายๆแบบ หรือใส่ซ้อมในสภาพภูมิประเทศหลายๆ แบบ คู่นี้ก็ตอบโจทย์เช่นกัน เพราะเป็นรองเท้ากลางๆ ลุยได้ทุกสภาพผิว ในราคาที่ไม่ได้แพง


ที่มาภาพปก : https://www.facebook.com/salmingthailand

Published by iFew

ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ชื่นชอบหลายเรื่องที่ไม่น่าจะไปกันได้ ทำงานไอที แต่ชอบท่องโลกกว้าง รักประวัติศาสตร์ แต่ก็สนใจเทคโนโลยี ชอบสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง และไปป้ายยาคนอื่นต่อ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Exit mobile version