in History

Arab Spring และ ประชาธิปไตย แบบไทยๆ

นิตยสารไทม์ (Time Magazine) ฉบับเดือน กรกฎาคม 2556 ขึ้นปกฝูงชนชาวอียิปต์โดยแบ่งเป็นสองข้าง ด้านหนึ่งเรียก World’s Best Protestors และอีกข้างหนึ่งคือ World’s Worst Democrats

แปลโดยรวมคือ “ผู้ประท้วง” ที่ดีก็มี และ “นักประชาธิปไตย” ที่แย่ก็ไม่น้อย

1101130722_600

จากเหตุการณ์มวลมหาประชาชนที่โค่นล้มระบอบทักษิณที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เริ่มขึ้นช่วง เดือนตุลาคม 2556 ถึง ปัจจุบันที่ผมกำลังเขียน ได้เกิดเหตุการณ์ที่สุดในหลายๆเรื่อง เช่น ความตื่นตัวของประชาชนทุกภาคส่วนเป้นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ อาจารย์ นักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ที่ไดถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า มีผู้ออกมาประท้วงมากที่สุด และจากนั้นก็เริ่มต้นไปสู่การดื้อแพ่ง การเดินขบวน การใช้ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค การประกาศหยุดงาน จนไปถึงการยึดสถานที่ราชการ จนเกิดความรุนแรงขึ้นมาในช่วง 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2556

ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ สื่อต่างประเทศเรียกกันว่า People’s Coup หรือ รัฐประหารโดยประชาชน

ผมเพิ่งได้อ่านบทความเรื่อง “จาก Arab Spring สู่นิยาม ประชาธิปไตยส่วนร่วม” ที่เขียนโดยคุณสุทธิชัย หยุ่น โดยคุณสุทธิชัยได้สัมภาษณ์ท่าน Shanel Nasser เอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย ผ่านทางวิทยุ โดยท่าน Shanel Nasser บอกว่า การปฏิวัติในอียิปต์ไม่เรียกว่า “coup” (รัฐประหาร)

ท่านทูตอียิปต์ บอกว่า ที่ไม่เรียกการล้มล้างครั้งนี้ว่าเป็นรัฐประหาร เพราะท่านอ้างว่าทหารเพียงแค่ทำตามคำเรียกร้องของประชาชน ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง

“ทหารไม่ได้ต้องการปกครองประเทศ แต่ต้องการจะจัดระเบียบใหม่ เพื่อให้กลับไปสู่การเลือกตั้ง ที่จะสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” ท่านทูตบอก

ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอียิปต์เท่านั้น แต่เกิดต่อเนื่องกันหลายประเทศในโลกอาหรับ (เข้าใจว่าเกิดแรงฮึดสู้ เพราะมีตัวอย่าง) ไม่ว่าจะเป็น ตูนิเซีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย บาห์เรน ซีเรีย แอลจีเรีย อิรัก จอร์แดน คูเวต มอรอคโค โอมาน จนถูกเรียกกันว่า Arab Spring

โดยการปฏิวัติประชาธิปไตยในอาหรับ หรือ Arab Spring  รูปแบบการประท้วงต่อต้านโดยประชาชนมีตั้งแต่ การหยุดงาน (Strikes) การเดินขบวน (Demonstrations, marches, rallies) ตลอดจนการใช้สื่อสังคม (Social media) เช่น Facebook, Twitter, YouTube เพื่อใช้ในการจัดตั้ง สื่อสาร การยกระดับความตระหนัก

และการเดินขบวนประท้วงส่วนใหญ่จะได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝ่ายรัฐ และฝ่ายประชาชนสนับสนุนรัฐบาล กองกำลังจัดตั้ง ทหารพราน (Militias) และการจัดเดินขบวนตอบโต้โดยการสนับสนุนของรัฐบาล คำขวัญที่ใช้ในการรณรงค์ในโลกอาหรับคือ “ประชาชนต้องการโค่นล้มอำนาจของฝ่ายเผด็จการ” (The people want to bring down the regime.)

ในหลายประเทศที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่เป็นเพียงชื่อ เพื่อให้ดูดี ถูกต้อง สวยหรู โดยเนื้อแท้จริง คือ “เผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง” เท่านั้น

เพราะ ประชาธิปไตย ของประเทศเหล่านั้น ได้มาจากการหย่อนบัตรเลือกตั้งของประชาชนส่วนมาก (ที่อาจถูกหลอก เพ้อฝัน ความสัมพันธ์ตัวบุคคล หรือถูกซื้อเสียง) โดยพวกนั้นจะคิดเหมาเอาเองว่า เมื่อได้อำนาจมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ จะดี จะชั่วแค่ไหน จะฟังใครหรือไม่ฟังใครก็ได้ และจะกำหนดทิศทางของประเทศไปตามแนวทาง ที่พวกตนต้องการเท่านั้น ก็เท่ากับเป็นการใช้คำว่า “กระบวนการประชาธิปไตย” เพื่อผลประโยชน์แห่งตนเท่านั้น โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้รับผลพวงแห่งความเป็นประชาธิปไตย อย่างแท้จริง

ซึ่ง ก็เหมือนกับประเทศไทย ที่มีรูปแบบแบบนั้น และนักประชาธิปไตยทั้งหลายก็เข้าใจแบบนั้นเช่นกันว่ามีเสียงข้างมากก็ย่อมทำอะไรได้ทุกอย่างตามมติเสียงข้างมากอยากให้ทำ แม้มีฝ่ายค้านในระบบรัฐสภาที่ออกมาอภิปรายชี้มูลความผิด หรือออกมาชี้แจงไม่เห็นด้วยในนโยบายที่มีความผิดปกติ แต่เมื่อโหวตแล้วคะแนนเสียงฝั่งรัฐบาลย่อมมากกว่า อย่างไรก็ผ่านเสมอ

และถึงแม้จะมีองค์กรที่คอยทัดทานความถูกผิด  มีสื่อที่คอยแฉข้อมูลต่างๆ แต่ก็ถูกแทรกแซง ด้วยการติดสินบน การหยิบยื่นหรือตัดผลประโยชน์ จึงทำให้การทำงานของระบบรัฐสภา สื่อ องค์กรต่างๆ ล้วนทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถตรวจสอบ เสนอแนะ และทำอะไรได้เลย ถ้ารัฐบาลไม่อยากจะทำ

สุดท้าย การออกมาเล่นการเมืองข้างถนน อย่างเช่น เหตุการณ์  Arab Spring หรือที่ไทยบ้านเราเรียกว่า สงบ สันติ อหิงสา หรือ อารยะขัดขืน ตามวิถีของท่านมหาตมะ คานธี ดูแล้วอาจจะได้ผลกว่า เกิด impact ในการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการเล่นไปตามเกมส์ที่ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่การออกมาด้วยการกดดันแบบอารยะขัดขืน สันติ อหิงสา หรือ Arab Spring  นั้น ย่อมตรึงรัฐบาลไม่ให้ทำอะไรได้สะดวกเป็นแน่นอน จึงมักลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรงปราบปรามมวลชน ถ้าดูแล้ว ประเทศไทยที่เราคิดว่ารุนแรง ก็ดูจะรุนแรงน้อยกว่าต่างประเทศมากนัก

จริงๆ ผมไม่ค่อยอยากเขียนการเมืองเท่าไรนัก แต่ใจหนึ่งก็อยากอธิบายไว้ให้เข้าใจกันว่าระบอบประชาธิปไตย มันก็อาจไม่ได้ดีอย่างที่คิด ด้วยพื้นฐานความรู้ วินัย นิสัย ของคนในชาติ อาจต้องมาปรับปรุงและบัญญัติระบอบกันใหม่ เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมไทยๆ อย่างเราก็เป็นได้

ปล. เรื่องที่ผมเขียนถึงประเทศไทย ในท่อนท้ายๆ ผมไม่ได้เขียนถึงฝ่ายไหน ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลคือใคร โปรดอ่านด้วยใจเป็นกลาง แล้วคิดว่ามันใช่หรือไม่ใช่ โปรดแสดงความเห็นในรูปแบบการคิด อย่ามาแสดงความเห็นในมุมของฝ่ายต่างๆ หรือมาเกรียน หรือมาถามประชดประชัน ผมรับการมองต่างมุมได้ ผมประชาธิปไตยพอ แต่เมื่อมาอยู่บ้านผม ก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ผมกำหนดข้างต้นด้วย ผมยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยครับ

 

อ้างอิง

มาคุยกัน

Comment