เดือนพศจิกายน ช่วงทิ้งฝนพอดี จังหวัดตากค่อนข้างหนาวกว่ากรุงเทพฯพอสมควร โดยเฉพาะอำเภอไทยใกล้พม่า ที่ชื่อว่าท่าสองยาง และเป็นที่ตั้งของภูเขาที่ชื่อว่า “ม่อนทูเล” หรือที่ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า “ทูเลโค๊ะ” ที่แปลว่าภูเขาสีทอง
ที่นี่ถูกผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวโดย อบต ท่าสองยาง ดังนั้นใครจะไปก็ติดต่อที่นั่นได้เลย และเขาจะเตรียมอาหารลูกหาบให้ด้วย ซึ่งเราเดินทางจากกรุงเทพไปถึงที่นั่นประมาณ 8 โมงเช้า อากาศยังเย็นสบาย แต่แดดแรงพอสมควร
เมื่อเตรียมสิ่งของและเปลี่ยนเสื้อผ้าเรียบร้อย ต้องนั่งรถจาก อบต ท่าสองยาง ต่อไปยังจุดเริ่มเดิน เป็นทุ่งนาของชาวบ้านย่านนั้น ผมชอบวิวประมาณนี้มากๆ มีทุ่งนาและภูเขาเบื้องหลัง สลับกับแสงแดดและไอหมอก ลงตัวสุดๆ แม้จะร้อน แต่ก็ทำให้มีแรงฮึมเหิมจะเดิน
เราเริ่มเดินลัดทุ่งนาและไต่ขึ้นไปตามเนิน ระหว่างทางได้ยินเสียงร้องเพลงแต่ไกล เมื่อเราหันไปมอง มันเป็นภาพที่สวยมากๆเลยครับ ชาวบ้านกำลังช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าวบนทุ่งนาสีทอง ดูเขามีความสุขจัง
เส้นทางค่อนข้างชัน และไม่ชัดเจน บางจุดเป็นดินหนังหมูที่ลื่น ต้องอาศัยการทรงตัวดีๆ เมื่อเดินมาได้ 3-4 กิโลฯ จะพบลำธารเล็กๆ ให้เราได้เติมน้ำดื่ม ล้างหน้า และเป็นสัญญาณว่าเรามาถึงครึ่งทางแล้วหละ เราจึงวางเป้และทานข้าวกลางวันที่นั่น เพราะต่อจากนี้ไปจะไม่ใช่เส้นทางธรรมดาแล้ว
หลังจากอิ่มท้อง เดินต่อไปอีก 2 กิโลฯ เราเริ่มเห็นยอดม่อนทูเล แต่ด้วยจุดที่เรายืน ระยะทางที่เดินมา 6 กิโลฯ และยอดดอย เอ๊ะ ไหนว่าเดินแค่ 7กิโลฯ แต่ทำไมยอดดอยยังสูงมากเช่นนั้น ดูเหมือนอีกไกลเลย แต่เมื่อเดินต่อไปเรื่อยๆ ก็ถึงบางอ้อเลยทีเดียว เพราะเป็นหินผาให้เดินไต่ขึ้นไป ความชันก็ 45องศา ขึ้นไป ช่างเป็นช่วงปราบเซียนสุดๆ (ใครเคยไปภูสอยดาว ก็ประมาณเนินมรณะ หรือเขาช้างเผือกก็ประมาณทางขึ้นไปสันคมมีด แต่ระยะเดินไกลกว่า) มันทุลักทุเลตรงนี้แหละ!
แต่เสน่ห์ของการปีนเขา การไต่ในที่ชันๆลำบากๆ ก็ย่อมมีความสวยงามแอบแฝง เมื่อเราหันหลังกลับมามองทางที่เราเคยเดินมาแล้ว เราจะพบทิวเขาสลับซับซ้อนสุดลูกหูลูกตามาให้กำลังใจ และมีลมเย็นๆ เหมือนเสียงเชียร์บอกให้เรารีบขึ้นไปบนยอดเพื่อให้เจอความสวยงามยิ่งกว่านี้
เมื่อไต่มาถึงยอดเท่านั้นแหละ เจอป้ายต้อนรับประหนึ่งตอกย้ำความทุลักทุเลที่พาดผ่านมาในหลายชั่วโมงที่แล้ว! โว้ว เราทำสำเร็จแล้ว!
พอเดินต่อมาตรงที่จุดกางเต็นท์ ก็ต้องประหลาดใจครับ บนยอดเขามีลำธาร! และสวยด้วย! ถ้ามีน้ำเต็มเปี่ยมแบบนี้ ก็หมายถึงเรารอดตายแล้วๆจ้าา จะล้างหน้า แปรงฟัน ทำอาหาร น้ำดื่มก็ลุยเลย ส่วนใครใคร่อาบน้ำก็เชิญตามสบาย (แต่ไม่มีใครทำนะ หนาวมาก แถมโอเพ่นแอร์โล่งโจ้งขนาดนี้ ฟ้าผ่า!)
พวกเราจัดแจงกางเต็นท์และรีบเดินขึ้นต่อไปยังจุดชมวิวไม่ไกลนัก แค่เดินขึ้นเนินไปนิดเดียว ทุ่งแสงสีทองและทิวเขาก็อยู่ต่อหน้าเรา มองไปทางไหนก็สวยงามและหายเหนื่อยทันที เข้าใจแล้วว่าทำไมชาวปกาเกอะญอถึงเรียกว่าภูเขาสีทอง
พวกเราทอดกายและใจ ใช้เวลาอยู่ตรงนั้นเพื่อรอชมพระอาทิตย์ตกดิน เป็นอีกที่หนึ่งที่พระอาทิตย์ตกสวยมาก และมันจะอยู่ในความทรงจำผมไปอีกนานเลยทีเดียว
พอตกค่ำ คืนนี้เป็นคืนเดือนมืด มืดสนิทไม่มีแสงใดๆ และอาจเรียกได้ว่าเป็นคืนแรกที่ผมเห็นดาวพร่างพรายสวยงามเต็มท้องฟ้า และเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นทางช้างเผือกชัดเจนที่สุด ผมถามพี่ๆแถวนั้นถึงวิธีการถ่ายภาพทางช้างเผือก หัดกันตรงนั้นเลย แม้จะหนาวสักแค่ไหนก็ไม่หวั่น
คืนนั้นที่จุดกางเต็นท์ลมไม่แรงมาก ผมสวมถุงนอนนอนดูดาวอยู่กองกลาง ไม่ได้นอนเต็นท์ ความเย็นก่อนนอนกำลังดีและหลับสบาย แต่ตื่นมาอีกทีก็รู้สึกหน้าชาเพราะเย็นมาก คนอื่นๆเดินไปขึ้นยอดอีกยอดหนึ่ง ผมรีบดื่มชาร้อนๆและตามไป กลัวว่าจะดูพระอาทิตย์ขึ้นไม่ทัน ใครจะไปก็เผื่อเวลาเหนื่อยสัก 30 นาทีในการขึ้นยอด
ผมไปถึงตอนที่แสงกำลังเป็นสีแดงฉากหลัง และต้นไม้เป็นเสมือนเงาดำลอยขึ้นมา นี่มันเป็นภาพวาดได้เลยครับ
ณ จุดนี้เองมีป้ายให้เราถ่ายคู่เป็นที่ระลึกว่าเราพิชิตยอดม่อนทูเล 1,350เมตร มาแล้ว คาดว่าน่าจะเป็นจุดที่สวยที่สุด แต่เปล่าเลย มีกลุ่มอีกกลุ่มได้เดินต่อไปยังยอดตรงข้าม(ยอดที่ผมถ่ายรูปเงาต้นไม้ด้านบน) พบว่าจุดนั้นสวยกว่านะ คราวหน้าคงต้องไปบ้างแล้ว
ทิวเขาที่เคยเห็นเมื่อวานถูกกลบด้วยเมฆ ยอดอันน้อยนิดโผล่เหมือนเกาะกลางชายทะเล และเมฆก็ไหลเอื่อยๆเหมือนคลื่นน้ำ
หลังจากพวกเราถ่ายภาพเสร็จ เรานั่งลงเงียบๆที่ริมผาด้วยกัน แม้เราจะไม่ได้เอ่ยปากคุยกัน แต่คิดว่าความรู้สึกของพวกเราน่าจะเหมือนกัน ณ ขณะนั้น..
มีความสุขจัง..
สรุปการเดินทาง
เป็นอีกยอดที่วิวเปิดโล่งให้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้อย่างสวยงาม
ใครชอบทิวเขาสลับซับซ้อนและดูพระอาทิตย์ ดูทางช้างเผือก ที่นี่เหมาะมาก
เดินค่อนข้างชันและไกล ทุลักทุเลสมชื่อ ด้านบนมีแอ่งน้ำสวยๆให้ใช้ให้ดื่ม
เจ๋งมากเลยหละครับ
ความสวย: 10/10
ความสนุก: 8/10
ความยาก: ปานกลาง
แหล่งเติมน้ำ: มีเต็มที่
ระยะทาง: 7-8กิโลเมตร
ระยะเวลาขาขึ้น: ประมาณ 6 ชั่วโมง
ระยะเวลาขาลง: ประมาณ 3 ชั่วโมง
ความสูงจุดกางเต็นท์: 1,154 เมตร
ความสูงยอดดอย: 1,350 เมตร
ความสูงจุดเริ่ม: 158 เมตร
Webmentions
[…] […]