in Knowledge, Philosophy

เทคนิคจัดการเวลาขั้นเทพ กับ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เคยฟังท่าน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลายครั้ง เป็นการพูดถึงเรื่องของเวลาเพื่อโยงกับนโยบายคมนาคม อย่างรถไฟความเร็วสูง แต่ครั้งนี้เพิ่งมีโอกาสได้ฟังแนวคิดเรื่องการจัดการเวลาและนิสัย ซึ่งท่านพูดได้สนุกและเข้าใจง่ายดี โดยเฉพาะเรื่องของการเปลี่ยนแปลง “นิสัย” (Habit) และการสร้าง Willpower, น่าสนใจมากครับ

ท่านชัชชาติเริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบว่า เราทุกคนเหมือนท่อนไม้ที่ขรุขระ ต้องเกลาจนสามารถเอาไปใช้ได้ การที่ท่านเรียนจบปริญญาเอกได้ไม่ใช่เพราะฉลาด แต่เป็นเพราะขยัน ซึ่งสมองอาจเป็นส่วนนึง แต่ความมุ่งมั่นและตั้งใจ ความขยัน การจัดตารางชีวิต เป็นปัจจัยของความสำเร็จ

ชีวิตของท่าน ขึ้นลงไปมา ไม่ได้เป็นขั้นบันได เหมือนคนอื่น จากนักเรียนมาเป็นอาจารย์ ไปเป็นรัฐมนตรี พอโดนรัฐประหารก็ตกงาน แล้วก็ได้มาเป็น CEO ซึ่งมันดูไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ท่านทำได้ ล้วนมาจากนิสัยเป็นหลัก

ท่านแนะนำให้ลองดูหนังเรื่อง Interview with the Vampire (1994) เป็นเรื่องของผีแวมไพน์สองตัว ที่มีตัวหนึ่งเป็นฝ่ายดี ไม่กินเลือดมนุษย์ กินแต่เลือดสัตว์ เลยทำให้ไม่มีแรงใช้ชีวิต ตรงกันข้ามกับตัวร้ายที่ฆ่าและกินแต่เลือดมนุษย์ ทำให้แข็งแรง และทั้งสองมาเจอกันโดยมีประโยคที่น่าสนใจคือ

  • “Evil is a point of view” (ความชั่วร้ายเป็นเรื่องของมุมมอง) หมายถึง ทั้งสองเป็นแวมไพน์เหมือนกัน ดังนั้นการฆ่าคนจึงไม่ได้คิดว่าชั่วร้ายอะไร
  • “God kills indiscriminately, and so shall we” (พระเจ้าเองก็ฆ่าไม่เลือกหน้าเช่นกัน) ดังนั้นมันไม่ผิดอะไรเลยที่แวมไพน์ก็จะไปฆ่าคน

ท่านชัชชาติเปรียบว่า พระเจ้า (God) ในประโยคข้างต้น หมายถึง เวลา (Time),

“เวลาก็ฆ่าเราทุกคนไม่เลือกหน้าเช่นกัน” เพราะ ทุกวินาทีที่ผ่านไป เราได้ใกล้ความตายโดยเราไม่รู้สึกตัว

เรามักไม่เห็นความสำคัญของ “เวลา”

และที่น่าเสียใจคือ “คนไทย” ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของเวลา เราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ อาจเพราะเรามีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทำอย่างไรก็รอดตาย ไม่เหมือนกับสิงคโปร์ที่ต้องดิ้นรนหลังจากแยกตัวออกมาจากประเทศมาเลเซีย ดังนั้น เวลา ของเขาจึงสำคัญ

ท่านชัชชาติ ยกตัวอย่าง ประเทศไทยกับสิงคโปร์ ในช่วงปี 2547-2556 หรือ 10 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็น “ทศวรรษที่สูญหาย” เพราะเรามีรัฐประหาร น้ำท่วม ยุบพรรค คนเจ็บ คนตาย ซึ่งตีเป็นมูลเสียหาย 1.7ล้านล้านบาท โดยที่เราแทบไม่มีการลงทุนทำอะไรเลย ในขณะที่ช่วงเวลา 10 ปีเดียวกัน สิงคโปร์สร้างโครงการ Marina Bay เริ่มตั้งแต่วางแผน และก่อสร้าง ลงทุนมากกว่า 32.5พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และก็กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ไป

ถ้ายกตัวอย่างโครงการในอดีตของประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มคิดจนสร้างเสร็จ, ท่าเรือแหลมฉบังไทย เราใช้เวลา 30 ปี, สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลา 45 ปี หรือ รถไฟความเร็วสูงเราเริ่มศึกษาในปี 2537 แต่จนทุกวันนี้ เราก็ยังศึกษามันอยู่.. จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเวลาเท่าไรนัก หรือในกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วง เราสร้างเสร็จแต่ไม่มีคนใช้งาน เราก็ได้แต่บอกว่ารอไปก่อน เดี๋ยวก็มีคนใช้ ซึ่งในขณะที่รอ มันมีมูลค่าเสื่อมวันละ 5ล้านบาท

ย้อนกลับมาดูตนเอง “เราตีมูลค่าชีวิตของเราไว้เท่าไร”

ถ้าชีวิตเรามีมูลค่ามหาศาล แปลว่าในแต่ละวินาทีของเราก็มีมูลค่ามหาศาล

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เคยตรัสไว้ว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นทางแยก จะไปสูง ไปต่ำ จะไปดี ไปร้าย เลือกได้ในชีวิตนี้เท่านั้น พึงสำนึกข้อนี้ให้จงดี แล้วจงเลือกเถิด เลือกให้ดีเถิด” ซึ่งสรุปสั้นได้ว่า ทุกนาทีมีความหมาย และสามารถเปลี่ยนชีวิตเราได้

ดังนั้นแล้ว เวลาจึงมีความสำคัญ มีค่ามหาศาล มันไม่ใช่ของฟรี และต้องพัฒนา ปรับใช้ให้มันดีขึ้น

โถแก้วของชีวิต

โดยเปรียบโถแก้วเหมือนชีวิตของเรา มีหิน คือ สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต, มีกรวด คือ สิ่งสำคัญรองลงมา และ มีทราย คือ สิ่งไม่สำคัญ หรือเรื่องไร้สาระ

โดยหน้าที่เรา คือเอาสิ่งสามสิ่งใส่ในโถแก้วชีวิต ซึ่งถ้าเราเอาทรายเข้าไปก่อน กรวดกับหินก็ไม่มีที่ใส่ แต่ถ้าเราเอาหินใส่ไปก่อนแล้วใส่กรวดตามเข้าไป เดี๋ยวทรายมันมีช่องว่างแทรกเข้าไปได้เอง นี่คือการจัดลำดับความสำคัญในการใช้เวลา เพื่อที่จะไม่ต้องบ่นว่า ทำไมเราไม่มีเวลาทำสิ่งใดเลย

ดังนั้น เราต้องกำหนดให้ได้ก่อนว่า หินของเราคืออะไร อะไรสำคัญในชีวิต (ซึ่งอาจมีไม่เยอะนัก) และ กรวดคืออะไร ถ้าเราแยกสองเรื่องออก ก็จะเริ่มแบ่งเวลาได้

ยกตัวอย่าง หินก้อนใหญ่ในชีวิตของท่านชัชชาติ คือเรื่อง สุขภาพ เพราะท่านต้องดูแลครอบครัว คนที่ท่านรัก ลูกน้อง ซึ่งแม้แต่เรื่องงานท่านยังมองเป็นเรื่องรอง เพราะท่านเชื่อว่า ถ้าสุขภาพดี ครอบครัวดี การงานมันก็จะดีตามมาเอง

นอกจากรู้เรื่องจัดเวลา เราต้องมีความฉลาดในการใช้เวลาด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนตัดไม้ ตัดเท่าไรก็ไม่ล้ม พอมีคนบอกให้ไปลับขวานให้คมก่อน เขาจะตอบว่าไม่มีเวลาทำ และเขาก็ก้มหน้าตัดต้นไม้ด้วยขวานทื่อๆต่อไป เหมือนที่ลินคอร์นเคยพูดไว้ว่า “ถ้าเขามีเวลา 6ชั่วโมงในการตัดไม้ เขาจะใช้เวลา 4ชมแรกในการลับขวานก่อน” ซึ่งในปัจจุบันเราอาจไม่ได้มีเวลาลับขวานรอได้ขนาดนั้น ดังนั้น เราต้องลับขวานให้คมอยู่เสมอๆ เมื่อมีโอเาส เช่น วันหยุด เวลาว่าง เพราะงานหรือเหตุการณ์ต่างๆ อาจเข้ามาได้โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว ก็จะสามารถนำขวานไปใช้ได้ทันที

แบ่งเวลาให้ดีได้ ต้องเริ่มจากนิสัยที่ดีก่อน

ท่านชัชชาตินำตารางเวลาในแต่ละวันของตนเองมากางให้ดู ท่านตื่นแต่เช้า(03:50) อ่านอีเมล หนังสือพิมพ์ ไปออกกำลังกาย ส่งลูกเรียน ทานข้าว ทำงาน รับลูก แล้วก็กลับบ้านนอน(22:00) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นถ้าใครจัดสรรเวลาอย่างไร ก็สามารถบ่งบอกนิสัยของคนๆนั้นได้

ถ้าคุณมีนิสัยที่ดี เดี๋ยวเวลาที่ดีมันจะตามมา เพราะเราจะนำเวลาไปใช้ในสิ่งที่เป็นโยชน์ในความคิดของเรา เราไม่ต้องไปฝืนอะไรมัน

เพราะ “เวลาส่วนใหญ่ ถูกใช้ไปโดย ‘นิสัย’ ของเรา จะจัดแบ่งเวลาให้ดีได้ ต้องเริ่มจากนิสัยที่ดีก่อน”

คำว่า Motivation มันคือ สิ่งที่เราเริ่มทำ เช่น จะลดนำหนัก จะขยัน

แต่พอเริ่มได้แล้ว สิ่งที่จะทำให้ได้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ นั่นคือ “นิสัย” (Habit)

ดังนั้น นิสัย จะเป็นสิ่งที่เราทำได้เป็นกิจวัตรโดยไม่ต้องคิด

Willpower พลังในการเปลี่ยนนิสัย

ท่านชัชชาตแนะนำให้อ่านหนังสือ 2 เล่ม คือ The Power of Habit และ Willpower

ท่านเริ่มต้นอธิบายถึงคำว่า Willpower เป็น พลังในการเปลี่ยนนิสัย มีพลังใจ มีความมุ่งมั่น ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในภาษาไทยยังไม่มีคำแปลจำกัดความที่เหมาะสมเท่าไรนัก

แต่ก่อนจะไปถึงการเปลี่ยนนิสัย ต้องรู้ต้นเหตุของการเกิด “นิสัย” ก่อน โดยมี 3 กิจกรรม คือ

  1. Cue (สัญญาณ) เช่น ตื่นตี 3
  2. Routine (กิจวัตร) คือ การทำ เช่น ลุกไปวิ่ง
  3. Reward (รางวัล) คือ ทำแล้วได้อะไร เพื่อให้อยากทำอีก เช่น แข็งแรงขึ้น

ท่านได้ยกตัวอย่าง ลูกของท่าน เวลาขึ้นรถจะคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอจนติดเป็นนิสัย ซึ่งการขึ้นรถคือ Cue, การคาดเข็มขัดคือ Rutine, และ แม่ไม่ดุ คือ Reward

หรือตัวอย่าง ศาลพระภูมิที่ถูกย้ายออกไปเหลือแต่ฐาน แต่คนไทยก็ยังไหว้อยู่ เพราะมันถูกกระทำเป็นนิสัย เป็นกิจวัตรไปแล้ว

เราต้องคิดให้ละเอียดว่า นิสัยของเราเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรคือรางวัลที่ทำให้เราเป็นแบบนั้น

จะสังเกตว่า รางวัล มีทั้งดีและไม่ดี  ถ้าลองแยกให้ละเอียดลงไปอีก รางวัลแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. รางวัลระยะสั้น (Short-Term) เช่น อร่อย สนุก สบาย ไพเราะ อิ่ม
  2. รางวัลระยะยาว (Long-Term) เช่น ศรัทธา ความเชื่อมั่น สุขภาพดี การลงทุนระยะยาว

ความนิสัยไม่ดีส่วนใหญ่ เกิดจากเราไปยึดติดกับรางวัลระยะสั้น เพราะเราไม่มีความยับยั้งชั่งใจพอที่จะรอไปเอารางวัลระยะยาว เช่น เรารู้ว่าอ่านหนังสือเราจะสอบได้ แต่เราเลือกที่จะไปนอนก่อน ไปเล่น ไปสนุกก่อน นี่คือเราไปยึดผลตอบแทนระยะสั้น

ซึ่งนิสัยเรานี่เอง เป็นตัวเลือกเอารางวัลแบบไหน ดังนั้น หน้าที่เราคือ ต้องปรับการยึดติดรางวัลระยะสั้น ให้เป็นรางวัลระยะยาวให้ได้

และการจะเปลี่ยนนิสัยให้ได้นั้น ต้องใช้ Willpower ต้องใช้พลังใจ ใช้แรงใจในการเปลี่ยนแปลง

มีนักวิจัยคนหนึ่งได้ทำวิจัยเรื่อง Willpower ส่งผลอย่างไรกับนิสัยและชีวิต

เขาให้เด็กเข้าไปในห้องที่มีขนมมาร์ชเมลโล่วางไว้ 1 ชิ้น โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าภายใน 15 นาทีเด็กไม่กินขนมที่วางไว้ เด็กจะได้ขนมมาร์ชเมลโล่เพิ่มเป็น 2 ชิ้น ซึ่งในตอนนั้น ก็มีเด็กที่อดทนได้และไม่ได้ คละกัน

ต่อมา 40 ปีให้หลัง เขากลับไปสำรวจเด็กกลุ่มนั้นที่ได้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ผลออกมาคือ เด็กที่อดใจไม่กินมาร์ชเมลโล่ จะประสบผลสำเร็จมากกว่าเด็กที่อดใจไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การลดน้ำหนัก หน้าที่การงาน ความมั่นใจ

ดังนั้น เด็กที่มี Willpower มากๆ จะสามารถประสบผลสำเร็จมากกว่าเด็กที่มีน้อย เพราะเขาสามารถควบคุมนิสัยเขาเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ

นิสัยที่เปลี่ยนชิวิต (Keystone Habits)

การเปลี่ยนนิสัยอาจไม่ต้องเปลี่ยนทั้งหมด แต่เปลี่ยนเฉพาะนิสัยที่สำคัญ ซึ่งเรียกว่า “นิสัยที่เปลี่ยนชิวิต” (Keystone Habits) คือ เปลี่ยนนิสัยหลักไม่กี่อย่าง ก็จะมีผลกระทบกับเรื่องอื่นในชีวิตอีกหลายอย่าง (Spill over) โดยท่านชัชชาติ ได้ยกตัวอย่างไว้ 6 ข้อ เช่น

  1. ตรงเวลา (Be on time) – จะทำให้เราวางแผน อยู่ในโลกของความเป็นจริง บริการจัดการ แก้ปัญหาได้ดี ให้เกียรติคนอื่น และ ยอมรับความไม่แน่นอนได้ดี แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวมี Spill over หลายเรื่องมาก
  2. ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย (Exercise) – เทรนด์รุ่นใหม่เป็นเทรนด์ใช้พลัง ผู้นำประเทศหลายคนก็ทำ และมี Spill over หลายเรื่อง เช่น ตื่นเช้า งดปาร์ตี้ คุมอาหาร ดูแลตัวเอง
  3. นำโดยทำเป็นตัวอย่าง (Leading by example) – เราจะพูดอย่างไรให้ลูกน้องทำ เราก็ต้องทำด้วยตัวเองก่อน เช่น ใกล้ชิดลูกค้า ใกล้ชิดประชาชน เราพูดอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น ซึ่งถ้าเรามี Passion อย่างไร เราทำอย่างนั้น ก็เป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้เห็นเช่นนั้น สิ่งที่ตามมาคือ รักษาคำพูด เข้าใจปัญหา มีมนุษย์สัมพันธ์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา
  4. อารมณ์ขัน (Sense of humor) – เป็นเรื่องที่ผู้นำควรมี มองโลกในแง่ดี เป็นมิตร ลดความเครียด ประทับใจแก่คนอื่นได้
  5. ไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดคิด (Willing to learn) – เป็นการลับขวานของเราไว้เสมอ เหมือนที่ สตีฟ จ็อบส์ พูดไว้ คือ Stay Hungry,  Stay Foolish คือหิวกระหายความรู้ใหม่ๆ และเราต้องโง่เพื่อขยันรับสิ่งใหม่ๆ จะส่งผลให้เรา ลดการใช้อารมณ์ ใช้เหตุผลมากขึ้น ใช้เวลาอย่างมีประโยชน์ เพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาได้
  6. มีวินัย (Discipline) – ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดมาทั้งหมด เช่น สร้าง Willpower ได้ มีความอดทน อดกลั้น วางแผนได้ดี ดำเนินชีวิตได้ง่ายขึ้น

วิธีการฝึก Willpower

เราสามารถฝึก Willpower ได้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เปลี่ยนนิสัยไปในทางที่ดี มี 6 ขั้นตอน คือ

  1. การฝึกสมาธิ – ซึ่งเราทำได้ตลอดเวลา แม้การทำงาน หรือการวิ่ง
  2. ตั้งเป้าหมาย – ก่อนทำอะไรต้องตั้งเป้าหมายให้ได้ก่อน โดยไม่ยาก ไม่ง่าย ไม่ไกล จนเกินไป, ต้องวัดไว้ และเป้าหมายต้องมาจากตัวเราเอง ไม่ใช่จากที่คนอื่นกำหนด หรือไปเลียนแบบคนอื่น และการตั้งเป้าหมายใหญ่ เราจะต้องมีเป้าหมายย่อย ให้ทำเสร็จทีละขั้นๆ
  3. จดบันทึก – เพราะนิสัยเป็นความเคยชิน เราทำโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นต้องจดบันทึก เช่น น้ำหนักตัวเอง การใช้เงิน พอเราได้เห็นข้อมูลตลอด เราจะมี Guideline ว่ามาถูกทางไหม เช่นการวิ่ง ก็มีนาฬิกาวัดอัตราต่างๆ ถือเป็นอุปกรณ์ดัดนิสัยชนิดหนึ่ง
  4. หาข้อมูล เข้าใจในรายละเอียด – ถ้าจะทำอะไรต้องเข้าใจวิธีทำ เช่น วิธีการเก็บเงิน ตอนนี้มีมากกว่าการฝากเงิน ซึ่งถ้าเราเข้าใจมัน เราจะสำเร็จได้ง่ายขึ้น มีกำลังใจมากขึ้นในการทำต่อและทำเรื่องอื่นๆ
  5. ศึกษา Cue, Routine, Rewards ให้เข้าใจ – ซึ่งถ้าเราอยากเปลี่ยนนิสัยต้องเข้าใจเรื่องนี้ และจะค่อยๆปรับได้ เช่น Rewards ของเด็กติดเกมส์คือความสนุก ก็ค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นหนังสือการตูน ที่ยังคงความสนุกไว้เช่นเดิม แล้วค่อยเปลี่ยนไปเป็นหนังสืออื่นๆ ที่มีสาระได้
  6. Willpower มีจำกัด ใช้อย่างระวัง – พลังหักห้ามใจในตัวเรามีอย่างจำกัด มีโอกาสตบะแตกได้มาก แต่ก็มีเทคนิค คือ
    1. ควรตั้งเป้าหมายใช้พลังทีละเรื่อง
    2. เรียงตามความสำคัญ
    3. หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า เพื่อประหยัดการใช้พลัง Willpower
    4. เตรียมการสำหรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นบ่อยๆ ที่จะมีเรื่องไม่เป็นประโยชน์มาใช้ Willpower เราแบบไม่จำเป็น
    5. คุมอาหาร เพราะพลังกาย สมอง มาจากการกินอาหาร

สรุป

  • ชีวิตนี้สำคัญนัก: ทุกนาทีสำคัญนัก
  • จัดลำดับเรื่องสำคัญสำหรับชีวิต: หินก้อนใหญ่
  • ฉลาดในการใช้เวลา: ขวานของคุณคมหรือยัง?
  • เข้าใจ “วงจรนิสัย” (Habit Loop): รางวัลในระยะยาว
  • Willpower เป็นพลังในการเปลี่ยนนิสัย: ฝึกได้
  • นิสัยสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น: Butterfly Effect
  • การฝึก Willpower และ การสร้างนิสัยที่ดี: เราทำได้

ความคิดเห็นของผม

ในเรื่องของ Willpower สำหรับผม รู้สึกเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ในชีวิตผมมีเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อยๆ และหาคำจำกัดความไม่ได้ จะเรียกมันว่า Motivation ก็ดูไม่ใช่ซะทีเดียว พอได้ทบทวนกระบวนการเกิดนิสัย (Habit Loop) ก็ทำให้พอได้คำตอบของตนเอง ว่าทำไมตนเองจึงทำ Willpower ได้ เช่น การเปลี่ยนวิธีเที่ยวมาเดินป่า รางวัลคือ ได้วิวสวยงาม และร่างกายแข็งแรง,  เปลี่ยนจากคนไม่ออกกำลังกายมาวิ่งระยะไกล รางวัลคือ ทำให้แข็งแรง เที่ยวป่าได้สนุกขึ้น และภูมิใจในตนเอง, หรือแม้แต่เปลี่ยนการทำงานจากแบบหนึ่งไปสู่แบบหนึ่ง ที่มีรางวัลคือ ได้ความรู้ ได้ฝึกกระบวนการคิด

หลังจากผมฟังจบ ผมตัดสินใจเขียนบันทึกทันที เพื่อให้ตัวเองได้ทบทวน และจำวิธีไว้ ผมหวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกคนนะครับ คาดว่าจะมีเรื่องพวกนี้ให้ผมได้อ่านและเขียนถึงบ่อยๆ

หากใครมีเวลามาก และไม่ชอบอ่าน แต่ชอบดูชอบฟัง ก็สามารถดูคลิปได้จากด้านล่างนี้

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 1

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 1

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 1ถ้าคุณยังจัดการเวลาในชีวิตไม่เป็น แนะนำให้ดู!!ประเทศไทยตอนนี้ยากจะหาใครเทียบกับบุคคลท่านนี้จริงๆPart 1 https://goo.gl/UyS7aGPart 2 https://goo.gl/IJJj6MPart 3 https://goo.gl/qt0bJTPart 4 https://goo.gl/BLFTkc

تم نشره بواسطة ‏‎เกลา นิสัยอันตราย‎‏ في 7 فبراير، 2017

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 2

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 2

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 2"อะไรเป็นหินก้อนใหญ่ในชีวิต.. คุณ"

تم نشره بواسطة ‏‎เกลา นิสัยอันตราย‎‏ في 10 فبراير، 2017

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 3

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 3

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 3

تم نشره بواسطة ‏‎เกลา นิสัยอันตราย‎‏ في 10 فبراير، 2017

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 4 end

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 4 end

ดร.ชัชชาติ l จัดการเวลาขั้นเทพ Part 4 ตอนจบ

تم نشره بواسطة ‏‎เกลา นิสัยอันตราย‎‏ في 15 فبراير، 2017

 

ที่มา: คลิปและรูปภาพจาก Facebook Page “เกลา นิสัยอันตราย” และขอบคุณความรู้จาก ท่าน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ด้วยนะครับ

มาคุยกัน

Comment