คำถาม: ถ้าเราเผชิญการเหนื่อยล้า หรือความรู้สึกอะไรก็ตาม ระหว่างเดินทาง เราจะใช้เครื่องมือใดตรวจสอบได้บ้างว่าการเดินทางครั้งนี้ของเรา มีการเรียนรู้ภายในอะไรบ้างไหม
คำตอบ: ดัชนีชี้วัดคือ คำถามข้อสงสัยเราจะต้องลดลง จนสุดท้ายไม่มีคำถามเลย เหลือแต่ความรู้สึกดีเหลือเกินที่ฉันได้มาทำสิ่งนี้, เราเดินเพื่อสลายคำถาม เพราะทุกครั้งที่เราไปในที่ลำบาก เราจะถามว่า ไปทำไม ทำไมต้องไป นั่นหละคือคำถามที่เราจะต้องสลายให้ได้, เพราะนั่นคือชีวิตของเรา เรามีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีคำถามว่าทำไม เราต้องย้อนกลับสู่อดีต เพราะในอดีตเราทนสิ่งนี้ไม่ได้ เช่น การทานอาหารเช้าช้าไปหนึ่งถึงสองชั่วโมงเราจะหงุดหงิด แต่วันนี้อดอาหารมาสามชั่งโมงแล้ว เรายังรู้สึกดีอยู่เลย นั่นคือความหมายของคำว่า อดทนอดกลั้น
เมื่อเรา เดินทางไปๆ สิ่งที่มันเป็นความเบิกบานบนความเหนื่อยยากมันจะต้องเพิ่มขึ้น เพราะปกติคนเราจะกลัวความยากลำบาก การที่เรากลัวความยากลำบากเพราะเราคิดว่าเราไม่ควรจะยากลำบาก และเรารู้สึกว่าความยากลำบากเมื่อไรมันจะจบ แต่ถ้าเรา เดินทางไปๆ เราเริ่มมีความสุขกับความยากลำบาก เราเริ่มมีความสนุกกับการผจญภัย นั่นหละครับ คือ เราเริ่มมีวิริยะ
วิริยะ คือการกระทำสิ่งนั้นไปแล้วมีความเบิกบาน ไม่ปล่อยให้สิ่งที่เป็นคำถามเข้ามารลดทอนเรา
พอเดินทางไปถึงจุดๆหนึ่ง จะพบว่าสามส่วนมีความสัมพันธ์กัน ทั้งศรัทธา ขันติ วิริยะ จะกลายเป็นเนื้อเป็นตัวเรา จะกลายเป็นพื้นที่ในใจเรา และถ้าเราทำได้ ไม่เกี่ยวกับเราจะต้องเดินทางไปจาริกยอดภูเขาสูง ชีวิตทุกๆวัน กิจกรรมทุกๆกิจกรรม เป็นสิ่งที่ยืนยันความสามารถเราในการเดินทางภายใน
—
สรุปจาก: อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ตอบในรายการ จาริกหิมาลัย ตอนที่ 1 (https://www.youtube.com/watch?v=zvAWDXi_DzY)
รูปภาพ: โดย Chitpong Few Wuttanan