in Lifestyle, Philosophy

การทำงานแบบฮาโมนี และ ปรากฏการณ์สร้างมูลค่าแบบอิเกีย

 จากที่เคยอ่านนังสือการสร้างคนให้ยิ่งใหญ่สไตล์ธนินท์ ที่มีท่อนหนึ่งคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ CEO CPALL ท่านเคยให้สัมภาษณ์ถึงวิธีการทำงานเป็นทีมแบบ ผสมส่วนเหมือน ผสานส่วนต่าง ที่เรียกว่า ฮาโมนี (Harmony)

คือท่านเปรียบกลุ่มคนทำงานเหมือนกลุ่มนักดนตรี ที่ต่างคนต่างถนัดเล่นชิ้นดนตรีของตัวเอง โดยถ้านักดนตรีทุกคนเล่นเครื่องดนตรีชนิดเดียวกันทั้งวง ก็เหมือนกับการไปบังคับให้ทุกคนคิดแบบเดียวกัน เชื่อแบบเดียวกัน ซึ่งก็อาจเล่นเพลงออกมาได้ แต่มันไม่เพราะ

ต่างจากการนำนักดนตรีที่ถนัดหลายๆชิ้น ขึ้นเวทีพร้อมกับวาทยกร (คอนดักเตอร์) ฝีมือยอดเยี่ยมแล้ว กลุ่มนักดนตรีเหล่านั้นจะกลายเป็นวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า ที่บรรเลงเพลงได้ไพเราะลึกซึ้งจับใจ

ซึ่งการทำงานแบบฮาโมนี ผมก็เพิ่งได้สัมผัสกลิ่นอายมาสามมสี่วัน ต้องขอเล่าเรื่องงานส่วนตัวเล็กน้อย คือ ผมเพิ่งมีโอกาสเข้าไปอยู่ในกลุ่ม CPALL และได้สัมผัสกับวิธีการสร้างวงซิมโฟนีออร์เคสตร้าของที่นี่ ตอนแรกผมยังจับต้นชนปลายไม่ถูก รู้แค่ว่า นอกจากการปฐมนิเทศน์พนักงานใหม่แล้ว ผมยังต้องเรียน เรียน เรียน แล้วก็เรียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การเล่นโกะ การแยกประเภทซาลาเปา หน้าที่ของพนักงานในร้าน 7-11 (ซึ่งจะมีช่วงหนึ่งที่ผมจะต้องไปเป็นพนักงาน 7-11 จริงๆด้วย!) ยาวไปจนถึง หน้าที่ของฝ่ายบัญชี การทำ ISO 27001 การทำ TQA บลาๆๆๆ

“แล้วผมจะเรียนไปทำไม..” และนั่นเอง หลังจบคำอุทานนั้น ก็ทำให้ผมถึงบางอ้อว่า ที่ต้องรู้ เพื่อให้เข้าใจความคิด ความรู้สึก เข้าใจหัวอกคนทุกแผนก ว่างานเริ่มจุดไหนและไปจบอย่างไร แต่ละส่วนงานต้องทำอะไร เพื่อจะได้ประสานวิธีการเขาและเราเข้าด้วยกัน ไม่ต้องมาบ่นภายหลังว่า ทำไมเงื่อนไขเยอะ งานส่งต่อช้า ไอ้นั่นทำไม่ได้ ไอ้นี่ทำไม่ถูก บลาๆๆๆ (จากคำบอกเล่าของผู้บริหารทุกคนที่เคยไปเป็นพนักงาน 7-11 ท่านจะบอกเหมือนกันหมดว่า พนักงานหน้าร้าน 7-11 ทำงานหนัก และน่าเห็นใจมากจริงๆ)

ซึ่งก็เป็นเหตุบังเอิญมากๆ ที่ผมกำลังอ่านหนังสือ “เหตุผลที่ไม่ควรมีเหตุผล (The Upside of Irrationality)” ของ Dan Ariely พอดี ในบทที่พูดถึง “ปรากฏการณ์สร้างมูลค่าแบบอิเกีย (The IKEA Effect)”

โดยคอนเซ็ปของ IKEA คือ ใครก็ตามที่ไปซื้อเฟอนิเจอร์ของ IKEA จะต้องขนกลับมาประกอบเองครับ (จริงๆก็มีจ้างขน จ้างประกอบนะ) และเมื่อประกอบเสร็จ เราจะรู้สึกรักมัน เป็นเจ้าข้าวเจ้าของมัน และเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นสำหรับเราทันที (ผมเพิ่งได้ลึกซึ้งกับ “ปรากฏการณ์อิเกีย” เมื่อไม่นานมานี้ ทุกวันนี้ก็นั่งลูบไล้เฟอฯ ฝีมือตัวเองทุกวันทุกคืน ใช้อย่างทะนุถนอมเลยทีเดียว)

ด้วยแนวคิดการทำงานแบบฮาโมนี (Harmony) ก็ดี หรือ ปรากฏการณ์สร้างมูลค่าแบบอิเกีย ก็ดี มันสร้างให้เรามีความรู้สึกผูกพันธ์กับงาน คน สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ หรือแนวทางนั้นๆ เพื่อให้เกิดคุณค่าในสิ่งที่ทำ และคุณค่าในตัวเอง ความภาคภูมิใจในตัวเองที่จะเริ่มทำ กำลังทำ และทำเสร็จแล้ว ยั่งยืนไปจนกว่าความรู้สึกเหล่านั้นจะจางหายไป และมีความรู้สึกใหม่ๆเข้ามาแทนที่ในอนาคตข้างหน้า..

หมายเหตุ ผมเขียนจากหนังสือที่ได้อ่าน ซึ่งประจวบกับเหตุการณ์เปลี่ยนงาน ย้ายบ้าน ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ไม่ได้จะอวยบริษัท CPALL แต่อย่างใด คิดอย่างไร เขียนไปแบบน้านน ไม่ดราม่านะ..

 รูปจาก: blair.vanderbilt.edu, wikimedia.org

มาคุยกัน

Comment