กิตติศัพท์ของป่าใต้ ได้ยินเสียงลือเสียงเล่ามานาน จนวันหนึ่งที่เพื่อนเอ่ยปากชวนไปเขาหลวงนครศรีธรรมราช ก็ขอลองดูสักครั้ง ว่าจะสวยโหด จัดจ้าน ขนาดไหน
เขาหลวงนครศรีฯ มันมีหลายที่นะ
(วิวเขาหลวง เมื่อมองจาก ผาเหยียบเมฆ – ภาพโดย ยุ้ย)
ก่อนจะไป เพิ่งได้ศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง พบว่าเวลานักเดินป่าพูดถึงเขาหลวง มักหมายถึง เขาหลวงนครศรีธรรมราช และเขาหลวงนี้เอง มันเป็นเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ที่ครอบคลุมพื้นที่ของหลายอำเภอในนครศรีธรรมราช มันจึงหลายยอดเขาให้เลือกเดิน เช่น
- ยอดคีรีวง หรือยอดพันแปด – สูงประมาณ 1,835 เมตร เป็นยอดที่สุงที่สุดในภาคใต้ของไทย ขึ้นทางหมู่บ้านคีรีวง
- ยอดฝามี หรือยอดพันหก – สูงประมาณ 1,654 เมตร (วัดจากนาฬิกาผมเอง) เป็นยอดที่จะเขียนถึงในบล็อกนี้ครับ
- ยอดพรหมโลก – สูงประมาณ 1,631 เมตร
- ยอดตาฝัน – สูงประมาณ 1,550 เมตร
- ยอดสันเย็น – สูงประมาณ 1,366 เมตร
- และยอดอื่นๆ …
ดังนั้น หากเพื่อนหรือใครชวนไปเขาหลวง หรือเขาหลวงนครศรีฯ ถามให้ดีว่าที่ไหน เพราะมันมีทั้งที่ยากและย๊ากยาก จะได้หารีวิวอ่าน และประเมินตัวเองถูก
ป่าดิบชื้น อุดมสมบูรณ์ ก็มาพร้อมกับความยาก
(ทางเดินหาก็ยาก ที่โล่งๆ ก็ไม่ค่อยมี เปลเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใช้นอน)
ได้ลองไปวิ่งเทรลที่หมู่บ้านคีรีวงมา เป็นครั้งแรกที่สัมผัสป่าใต้ (จริงๆ เรียกว่า สวนผลไม้ชาวบ้านดีกว่า) ก็โอเค ชันจริง ลื่นจริง แต่ไม่ได้ชื้นแฉะเละเทะทากชุมอะไรตามที่เคยได้ยิน เลยตัดสินใจกับเพื่อนได้ง่ายๆ ว่าจะไปเขาหลวงนครศรีฯ.. แต่พอไปจริงๆแล้ว แม่งอีกเรื่องว่ะ ฮ่าๆ!..
มันเป็นกิตติศัพท์ของเขาหลวงนครศรีฯ เลยนะครับ (และน่าจะที่อื่นๆ ในภาคใต้) ที่นักเดินป่าทั้งหลายจะร้องโอ้โฮและตักเตือนกันว่า จะไปจริงหรือ.. ยากนะ.. ด้วยเหตุผลที่ว่า
- ฝนตกชุก! – ตกเกือบตลอดทั้งปี
- อุดมสมบูรณ์มาก! – เป็นป่าแท้ๆ ป่าดิบชื้น สวยงาม แตก็รกมากเช่นกัน กิ้งไม้ ตอไม้ เถาวัล ทางไม่ชัดเจน โอ้ย สารพัดสิ่ง
- ชันมาก! – ด้วยภูมิประเทศที่พุ่งแทงขึ้นฟ้า ไม่ใช่ทอดตัวมายาวๆ จากเทือกเขาหิมาลัย แบบป่าภาคเหนือ
- ลื่นง่าย! – เพราะความชื้นที่เกาะบนดิน ต้นไม้ใบหญ้า
- ทากเยอะ! – ด้วยปัจจัยที่บอกมา เป็นแหล่งหากินชั้นดีของน้องทากุจังเลยครับ มีเยอะ และมีตลอดทาง
- น้ำตก ลำธารเยอะ! – ข้อดีคือได้อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน แต่ข้อเสียคือ รองเท้าเปียกจ้ะ เหม็นมากจ้ะ
มันช่างดูท้าทาย และแตกต่างจากป่าที่ผมเคยเดินมาจริงๆ หลังจากกลับมาแล้วก็ยืนยันตามคำบอกเล่าได้เลยว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง..
รู้สภาพป่าคร่าวๆ แล้วจะเตรียมตัวอย่างไรดี
(ไล่จากซ้าย ทีมไกด์นครศรีฯ พี่บ่าว พี่เทียน พี่?? น้องปั้ม ยุ้ย นัท กู้ พี่หนึ่ง โจ้ ฟิวส์ – ภาพโดย นัท)
อุปกรณ์ไม่ต่างจากป่าอื่นเท่าใดนัก มีเพียงบางอย่างที่เพิ่มมา และบางอย่างที่อาจจะต้องเน้นมากขึ้น (เพื่อไปให้ได้จนแล้วจนรอด) เช่น
- เป้ – จะขนาดไหนก็ได้ มีซับหลังอย่างไรก็ได้ ตามความเหมาะสมกับของที่แบกและตัวคนแบก แต่แนะนำว่าควรทนๆหน่อย เพราะเราแบกหลายวัน และมีโอกาสเกี่ยว ขูด ขีด ลาก ถู ไถ ได้ตลอดทาง, ไม่ต้องแบกเยอะ เอาของไปให้น้อยสุดเท่าที่จำเป็น, ถ้าเป้กันน้ำได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้ากันไม่ได้ก็ยัดถุงดำซ้อนข้างในแทน ส่วนถุงเป้กันฝน (Rain Cover หรือ All Weather) ผมว่ามันกันไม่ได้มากนะ ถ้าเจอฝนนานๆ หรือหนักๆ จะมีดีแค่กันไม่ให้เป้สกปรกได้
- รองเท้า – แนะนำเป็นรองเท้าแบบเต็มเท้า ดอกลึก และระบายน้ำได้ จะสตั๊ดดอย รองเท้าวิ่งเทรล รองเท้าเทรกกิ้ง เหตุผลเพราะ ยอดฝามี มีเดินลุยน้ำ ทางชัน และทางรก
- เปล – ข้อนี้ทางไกด์แนะนำให้พวกผมเตรียมไป เนื่องจากป้องกันทาก มีน้ำหนักเบาแล้ว พื้นที่พักแรมบางจุดแคบ การจะไปกางเต็นท์นอนอาจไม่พอสำหรับกลุ่มใหญ่ (แต่จะใช้เต็นท์ก็ได้นะ ถ้าไกด์เห็นว่าสมควร)
- เสื้อกันฝน – อยากแนะนำแบบ Poncho คือเสื้อแบบคลุมทั้งตัว เพราะสามารถคลุมเป้ และยาวมาคลุมถึงกางเกงได้ด้วย ของผมใช้ยี่ห้อ Karana มันสามารถคลี่ออกมาเป็นฟลายชีทผืนใหญ่ ไว้ตั้งแคมป์เล็กๆ ได้ด้วย
- ถุงนอน – ใช้แบบกันความเย็นได้สักหน่อยก็ดีครับ เพราะกลางคืนหนาวไม่ต่างจากป่าภาคเหนือเลย ช่วงผมไปเดือนตุลาคม อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศา และมีลมแรง จึงยิ่งทำให้หนาวมาก
- แผ่นรองนอน – แม้จะนอนเปล แต่ใต้เปลมีลมเย็นวาบผ่านทั้งคืน ผมพกแผ่นโฟมไปรองนอน ช่วยได้มาก หรือจะหาแผ่นรองนอนดีๆ ไปซ้อนนอนในเปลก็จะช่วยให้อุ่นได้ครับ
- ถุงกันทาก – มีไว้ให้ทากไม่เข้าเท้าเข้าขาเรา แต่ต้องคอยดูและเอาออกเรื่อยๆนะครับ ไม่เช่นนั้นมันจะไต่ขึ้นมาถึงเอว ถึงท่อนบน ของเราแทน, ทีมผมไม่มีใครใส่เลย บางคนโดนมาก บางคนโดนน้อย ก็คอยสังเกตและเอาออกตลอด และทุกคนจะโดนทากดูดที่เท้ากันหมด ไม่เจอกรณีขึ้นถึงตัว
- สเปย์กันยุง – แนะนำยี่ห้อ Off ครับ (ขสดสีส้มๆ) มี Deet 12% นอกจากกันยุงแล้ว ยังแรงพอที่จะฉีดใส่ทากให้หลุดได้เช่นกัน ราคาร้อยกว่าบาท ผมใช้พอจนจบทริปได้
- ไฟฉาย – แนะนำแบบคาดหัว เพื่อความสะดวกเวลาเดินไปไหนมาไหนกลางคืน จะได้มีสองมือ คอยจับ คอปัดสิ่งต่างๆ
- ที่กรองน้ำ – เนื่องจากต้องกินน้ำจากธรรมชาติ บางทีอาจมีสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดท้องเสียได้ ดังนั้น ถ้ามี ก็แนะนำให้พกไปด้วยดีกว่าครับ
- ทิชชู่เปียกและแห้ง – ทิชชู่แห้งไว้เช็ดเวลาเปื้อนๆชื้นๆ ส่วนทิชชู่เปียกไว้เช็ดตัวได้ แต่ไม่ต้องพกไปเยอะ เพราะหนัก และเส้นทางยอดฝามี มีตั้งแคมป์ติดแม่น้ำ 2 จุด ทำให้ได้อาบน้ำ ล้างตัว
- ยารักษาโรค – หลักๆ ยาทากันแมลงกัดต่อย, แก้ไข้, แก้หวัด, แก้ท้องเสีย, พลาสเตอร์แปะแผล, ยาเหลืองรักษาแผล และยารักษาโรคส่วนตัว
มุ่งหน้าเดินทางไป “นครศรีธรรมราช”
(โจ้ แม่งหลับยาวๆ หลับจนคนอื่นอิจฉา หลับแบบไม่สนใจใคร หลับได้หลับดีสลึด)
ขาไป กลุ่มเราเลือกที่จะนั่งรถทัวร์ เพราะมันมีรอบสองทุ่ม สามารถนอนพักผ่อนบนรถได้ทั้งคืน และราคาไม่แพง ส่วนขากลับเราใช้บริการเครื่องบิน เพราะคิดว่าตอนนั้นคงสะบักสะบอมอยากรีบกลับบ้านจนเต็มแก่ บวกกับค่าตั๋วบิน นครศรีฯ-กทม เที่ยวเดียว วันอังคาร ราคามันถูกด้วยครับ แหะๆ (เราเดินทางไป คืนวันศุกร์ที่ 21 ตค 2559, กลับคืนอังคารที่ 25 ตค 2559 ได้ชดเชยวันปิยะฯ พอดี)
การไปนครศรีธรรมราช ไปไม่ยากครับ ถ้าไม่นับการขับรถยนต์ไป มีหลายวิธี
- เครื่องบิน – มี การบินไทย, AirAsia, Lion Air, Nok Air
- รถไฟ – จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีขบวนรถเร็ว และรถด่วน สอบถามได้ที่ โทร. 1690, 0-2223-7010, 0-2223-7020 หรือจองบัตรโดยสารรถไฟได้ที่ โทร. 0-2220-4444, หรือผ่านเว็บไซต์ www.railway.co.thส่วนสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช โทร. 0-7535-6364, 0-7534-6129
- รถโดยสารประจำทาง (รถทัวร์) – มีบริการทั้งแบบธรรมดา และปรับอากาศ สอบถามสถานีขนส่งสายใต้ โทร. 02-894-6122 จองตั๋ว บขส. โทร. 02-422-4444 หรือเว็บไซต์ www.transport.co.th, สถานีขนส่งนครศรีธรรมราช โทร. 0-7534-1125นอกจากนี้ ยังมีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัทเอกชน ได้แก่
นครศรีทัวร์ โทร. 02-485-5033, 02-4355-025
นครศรีร่มเย็นทัวร์ โทร. 02-433-0722
หรือเว็บไซต์ www.thaiticketmajor.com , www.thairoute.com
วันแรก ก็โดนซะแล้วว…
(ก่อนหน้าที่เรามา นครศรีธรรมราชฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จึงทำให้หมอกเยอะ อากาศเย็น)
พวกเราถึงนครศรีฯ ประมาณ 9 โมงเช้า มีทีมงานของไกด์มารอรับเรา แกบอกให้เร่งกินข้าวและรีบเดินทางไปอุทยานเลย เนื่องจากมาเลทมากแล้ว
ระหว่างทาง วิวเขาหลวงตั้งตระหง่าน ดูน่าเกรงขาม หมอกเยอะจนบางทีก็ซ่อนยอดเขาหลวงไม่ให้เห็น ฝนเพิ่งตกหนักติดกันหลายวัน ผมคิดในใจ “ship หายแล้วกรู… เละแน่นวล..”, และเหมือนว่า พี่คนขับจะเดาใจผมออก แกบอกว่า “ที่นี่ฝนตกตลอดทั้งปี ยิ่งเขาหลวงด้วยนะ น้องไม่เคยเจอแบบนี้ที่ไหนแน่ๆ..”
เราใช้เวลา 1 ชั่วโมง เดินทางจากตัวเมืองไปน้ำตกวังลุง (จุดเริ่มต้นเดิน) ซึ่งมีไกด์นั่งรอเราอยู่ 3 คน คือ พี่บ่าว เป็นหัวหน้าทีม, พี่เทียน และน้องปั้ม เป็นผู้ช่วย และช่วยแบกของกลาง
(อะไรไม่ใช้ ไม่ต้องเอาไป, อะไรเอาไป ต้องห่อถุง – ภาพโดย นัท)
จัดแจงแยกสิ่งของ และเปลี่ยนเสื้อผ้า กว่าจะได้เดิน ก็ปาไป 11 โมง เส้นทางในช่วงแรกเป็นสวนผลไม้ของชาวบ้าน พี่เทียนกับปั้ม ปีนเก็บลองกองมาให้เรากิน หวานดีครับ และระหว่างทางก็มีชาวบ้านที่ทำสวนในนั้นหยิบมังคุดให้ เช่นกัน น่ารักมากฮะ มังคุดก็อร่อยมาก อยากแบกไปเยอะๆ แต่คงไม่ไหวนะ ฮ่าๆ
(วันแรก ในช่วงแรกๆ เดินไปเรื่อยๆ ผ่านสวนผลไม้ชาวบ้าน – ภาพโดย นัท)
(เจอชาวสวนกำลังเก็บผลไม้)
(พี่เขายื่นมังคุดให้กิน อร่อยอ่ะ)
(พี่เทียนกับน้องปั้มปีนเก็บลองกองมาให้กิน)
(ไม่ได้เก็บกันนิดๆนะ แต่เก็บไปกินเป็นกิโล ฮ่าๆ)
พอพ้นสวนชาวบ้านไปไม่ไกล ความมันส์ก็มาเลยครับ เพราะเบื้องหน้าเราเป็นแม่น้ำที่เชี่ยวกราด ต้องกระโดดข้ามโขดหินและเดินลุยน้ำ คือ ใจคอจะให้เท้าเปียกแต่แรกเลยใช่ไหมนี่.. ระหว่างข้ามหิน ก็มีเรื่องให้น่าตื่นเต้น เพราะรองเท้าของยุ้ยลื่นมาก เธอไหลตกไปในน้ำครึ่งตัว เกือบข้ามไม่พ้น ดีที่ไกด์แรงเยอะช่วยรั้งไว้ได้ ไม่เช่นนั้นคงไหลไปไกล และเป้กับของข้างในคงเปียก
(หินลื่น ต้องค่อยๆดูแลกัน เกาะกันไป – ภาพโดย นัท)
(ไม่รอด จุ่มเท้าแต่แรกๆ เลย – ภาพโดย ยุ้ย)
(แวะทานข้าวเที่ยง – ภาพโดย นัท)
(เจอกันแล้วนะ น้องทากแห่งเขาหลวง – ภาพโดย นัท)
(วันแรกเดินเลาะลำธารตลอดทาง เจอน้ำตกตลอดทางเช่นกัน – ภาพโดย นัท)
(ป่าสมบูรณ์มาก ทางรกมาก และเส้นทางเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามที่จะสะดวกเดินไป – ภาพโดย นัท)
หลังจากที่เริ่มเจอแม่น้ำ เราก็เริ่มเจอทากกันทันที.. ได้เสียกันตั้งแต่วันแรกเลยครับ สาวๆ ในทีมกรีดร้องตลอดทาง
วันแรก ระยะทาง 6.30 กม กับเวลา 4.18ชม ไต่ความสูงจาก 141m ไป 695m เส้นทางไม่ชันมากนัก พ้นจากสวนชาวบ้านก็เดินเลาะลำธารไปเรื่อยๆ ข้ามไปฝั่งซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ได้เปียกกันตลอดเวลา ด้วยความที่เราเริ่มเดินทางช้า วันนี้พี่บ่าวเลยพาเดินแค่ 6กม และตั้งแคมป์กันที่บริเวณน้ำจกแห่งหนึ่ง เป็นจุดที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน (ขออภัยจำชื่อไม่ได้)
(แคมป์คืนแรกกางริมน้ำตกแห่งนี้ สวย และอาบน้ำสะใจเลย)
(กางเปลนอน พื้นที่มีน้อย ใช้สอยอย่างประหยัด)
(ไกด์ของเรา พี่บ่าว พี่เทียน น้องปั้ม ทำอาหารอร่อยมากครับ)
เสริมนิดหนึ่งเรื่องพืชมีพิษ, ตอนเดินใกล้ถึงแคมป์ ผมไม่รู้โดนอะไร แสบแผ่นหลังมาก เหมือนมีเข็มมาทิ่มเป็นร้อยๆ เวลาเป้โดนหลัง นอนเปล เสื้อไปโดน หรือแม้แต่ลมพัด ก็จะมีอาการแสบวูบขึ้นมา (แสบไป 5-6 วัน และมันลามด้วย อาบน้ำก็ไม่หาย) ให้เพื่อนช่วยดู พบเป็นตุ่มเม็ดแดงๆ เล็กๆ ทั่วหลังท่อนบนด้านซ้าย อาการเหมือนกับโดนช้างร้อง แต่คิดว่าไม่ใช่ เพราะสะพานเป้อยู่ มันไม่น่าสอดมาโดนได้, ส่วนน้องกู้ เจอช้างร้องเต็มๆ ที่ขา ปวดแสบปวดร้อนไปหลายชั่วโมง ซึ่งพืชเหล่านี้ ไม่ค่อยมีคนเตือนสักเท่าไร หากใครจะไปป่าที่ไหน มีสภาพรกและต้องแหวกเดิน แนะนำถามไกด์ไว้ด้วยครับ ว่ามีต้นช้างร้องไหม ให้เขาระวังให้ด้วย
(หน้าตาของต้นช้างร้อง อย่าได้เฉียดมันเลย ขนเล็กๆของมันแทงทะลุเสื้อผ้าได้ เจ็บๆ ขนาดไหน ก็ตามชื่อเลย ช่างยังร้อง – ภาพโดย weekendhobby)
แคมป์คืนแรก อากาศหนาวระดับหนึ่ง ได้อาบน้ำที่น้ำตก สะใจมากครับ ถ้าหามุมดีๆ จะมีร่องให้นั่งแบบจากุซซี่ได้ด้วยนะเออ ฮ่าๆ
วันที่สอง เดินแทบตาย ได้แค่สามโล!!
(ทางไม่เป็นทาง และ ทั้งฝน ทั้งลื่น – ภาพโดย นัท)
คืนแรกกับการนอนเปลครั้งแรก แถมเป็นเปลผูกซ้อนสองชั้นด้วย มีเพื่อนห้อยอยู่ข้างบน แอบอึดอัดและขยับตัวยากนิดนึง ขยับตัวที ต้นไม้โยกไปมา จนกลัวตกเปล เป็นประสบการณ์ใหม่ดีๆ ที่น่าลอง
หลังจากทานข้าวเช้าเสร็จ เก็บของข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งหนึ่งของแคมป์ แค่เริ่มต้นเดินก็รู้สึกว่าชันแล้ว ยังดีที่ทางเป็นป่าโปร่ง พอเดินได้ ไต่ไปเรื่อยๆจนถึงเนินแรก พี่บ่าวชี้ให้ดูรอดช่องต้นไม้ว่า ยอดนั้นคือยอดฝามี ยอดที่เราจะไปพิชิตกัน แต่ยังไม่ทันได้ถ่าย เมฆก็ลอยมาบังจนมิด จึงเดินหน้าไปกันต่อ
(ให้มาเองก็หลงหละครับ)
(กู้สะดุดเท้าเถาวัลย์พลิก ดีที่พกสเปร์เย็นมาด้วย – ภาพโดย ยุ้ย)
เส้นทางเริ่มชันและรกขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมองไม่เป็นทาง บางช่วงเป็นไม้โค่น บางช่วงเป็นเถาวัลย์ ผมคิดในใจ เส้นทางเหมือนไม่ใช่ทางเดิน ดูรกมาก และเหมือนพี่บ่าวคอยมองฟันทางเปิดทางใหม่อยู่ตลอดเวลา
(รักน้ำ รักปลา มาป่าใต้สิครับ – ภาพโดน นัท)
(ฝนตกหนัก แต่ต้องแวะทานข้าวเที่ยงเอาแรงก่อน โดยใช้ Poncho ผมมากางเป็นฟลายชีทชั่วคราว – ภาพโดน นัท)
ดีที่กลุ่มเราเดินความเร็วพอๆกัน เคลื่อนไปพร้อมกันเป็นกลุ่ม ไปไม่ไว แต่ไปเรื่อยๆ จะมีช่วงท่อนนี้ที่หยุดบ่อยกว่าปกติเพราะรู้สึกชัน วางเท้ายาก และเหนื่อยพอสมควร
(เดินต่อไป แบบไม่รู้จุดหมาย – ภาพโดยนัท)
ช่วงกลางทาง กลัวไม่ยากพอ ฝนกระหน่ำตกหนักตลอดทางอีกต่างหาก กว่าจะถึงแคมป์ โทรมกันเป็นแถว ผมเช็คนาฬิกา เราเดินขึ้นจาก 706m ไป 1,312m ใช้เวลาไป 4ชั่วโมงครึ่ง (รวมกินข้าวเที่ยง) แต่ระยะทางได้แค่ 2.91km!! เหยย บ้าไปแล้ว..
ขอย้อนไปพูดถึงพื้นเพของกลุ่มนิดหนึ่ง คือ กลุ่มผมผ่านการเดินป่ากันมาหลายแห่ง และทุกคนผ่านการวิ่งเทรลระยะ 40-50กม มาแล้ว ขนาดน้องปั้มและพี่เทียนยังชมว่าเดินได้เก่ง เดินเรื่อยๆ ดูไม่เหนื่อย… แต่ถึงตอนนี้ แค่วันที่สอง ผมกับเพื่อนทุกคนยอมรับและพูดตรงกันว่า เขาหลวงนครศรีธรรมราช แม่งที่สุดจริงๆ ไม่เคยเจอป่าไหนเดินยาก เดินลำบากขนาดนี้มาก่อนเลย
แคมป์คืนที่สองของเราตั้งริมแม่น้ำ เป็นที่โล่งและกว้างพอที่จะผูกเปลชั้นเดียวกันได้ เป็นอีกวันที่ได้อาบน้ำ แต่วันนี้หนาวมากกว่าเดิม เริ่มมีความทรมานในการโดนน้ำ ฮ่าๆ
(แคมป์สองของเรา)
(ริมน้ำข้างแคมป์ จุดทำอาหาร ล้างหน้า อาบน้ำ วิวตรงนี้สวยดีครับ)
(อุ๊ย โป๊)
(ตั้งวงทานมื้อค่ำกัน)
(พี่เทียนกำลังร้องเพลง เสียงดีมากๆ จังหวะนี้ เหมือนสปอร์ตไลท์ส่องกลางเวลที – ภาพโดย นัท)
คืนนั้นหนาวมาก เพราะฝนตกโปรยปรายกับลมพัดแรงตลอดเวลา แต่ก็มีความสุข เพราะอาหารจัดเต็ม กินเสร็จมีของหวานอย่างลูกเดือยน้ำกะทิต่อ ถูกใจผมเลย อร่อยมาก จากนั้นน้องปั้มชวนแนะนำตัว กับชวนให้ผลัดกันร้องเพลง โครตฮา ปั้มและพี่เทียนรู้จักเพลงเยอะมาก และร้องเพราะด้วย อันนี้ซูฮกเลยครับ
วันที่สาม ก้มๆ เงยๆ จนพิชิตยอดฝามี ต่อด้วยผาเหยียบเมฆ
(เส้นทางวันนี้ ยังคงไม่ชัดเช่นเดิม ต้องเกาะกลุ่มกันไป)
วันนี้ตื่นแต่เช้า นอนทรมานสมควร เพราะหนาว ลมพัดแรง น้ำไหลจากต้นไม้ลงสายผูกเปล ย้อยลงมาที่ตัวเปล ดีหน่อยที่ผมเอาแผ่นโฟมรองหลังได้ ตอนนอนถ้าพลิกตัวหลุดแผ่นโฟม ก็เปียก ต้องนอนแบบมีสติมาก ฮาๆ (นี่คือเหตุผลว่าทำไม ต้องพกแผ่นโฟม หรือที่รองนอนนะฮะ)
(บุญรักษา ตอนกลางเปลไม่รู้ พอตื่นเช้ามาเห็น สี่เปลได้ฝากชีวิตไว้กับเชือกฟางเพียงเส้นเดียว)
เช้านี้ยังคงหนาวเช่นเดิม พร้อมฝนตกเบาๆ ตามเอกลักษณ์ของป่าใต้ วันนี้เราจะเดินขึ้นยอดฝามี และเลยไปนอนที่ผาเหยียบเมฆกัน
(วิวริมน้ำอีกที ก่อนจะเริ่มต้นเดิน)
(วิวริมน้ำอีกที ก่อนจะเริ่มต้นเดิน – ภาพโดย ยุ้ย)
(ย่ำน้ำกันจนชิน ไม่กลัวเปียกละ ช่างมัน – ภาพโดย ยุ้ย)
เส้นทางเดิน ร่มรื่นมาก และพวกเราเริ่มจะชินกับความรก ฝนยังคงตกอยู่ มีลื่นบ้างเป็นบางครั้ง ทางไม่ได้ชันแบบวันที่สอง แต่ก็เป็นทางขึ้นไปเรื่อยๆ ทากไม่เยอะนัก โดยจุดไฮไลท์ของวันนี้ คือป่าโบราณ ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ๆ มอส เฟิร์น ดอกไม้ และกล้วยไม้ ขึ้นเต็มไปหมด ชุ่มชื่น สวยมาก
(ร่มรื่นฮ่ะ แต่ทางอยู่ไหน บอกด้วย – ภาพโดย นัท)
(เขตป่าดึกดำบรรพ์ ดอกไม้เยอะมาก – ภาพโดยนัท)
ตลอดทางวันนี้ ฝนตกหนักมากๆ พร้อมกับมีลมแรง จะมีจุดหนึ่งแถวป่าโบราณ จะมีขึ้นหินชมวิว เราได้แต่ขึ้นไปนั่งถ่ายรูปกันเอง แต่ไม่เห็นวิวด้านล่างเลย แอบเสียดายเล็กๆ และที่ตลกคือ พวกผมคิดว่านั่นคือยอดฝามี ฮ่าๆ
(เขตป่าดึกดำบรรพ์ ดอกไม้เยอะมาก – ภาพโดยนัท)
(เขตป่าดึกดำบรรพ์ ดอกไม้เยอะมาก)
(เขตป่าดึกดำบรรพ์ ดอกไม้เยอะมาก)
(ขึ้นหิน เป็นจุดชมวิวแห่งหนึ่งก่อนถึงยอดฝามี แต่เจอฝน มองไม่เห็นอะไรเลย)
(ถ่ายวิวไม่ได้ ก็ถ่ายกันเองเป็นที่ระลึกหน่อย)
ยังคงเดินต่อขึ้นไปเรื่อยๆ ต้นไม้รกมากขึ้น ต้องมุด ก้มๆ งมๆ บางท่อนผมต้องนั่งยองๆ จนเกือบนอนราบเพื่อให้พ้นต้นไม้ และบางท่อน แม้จะเดินได้ แต่ทางก็แคบ มีต้นไม้มีหินให้หลบ ให้ปีนป่ายตลอดเวลา ผมนี่นึกว่ามาเจอด่านเข้าค่ายลูกเสือเลยนะครับ
(จากวิวจุดชมวิว เดินเลาะสันเขาเพื่อไปยอดฝามี เส้นทางไม่ชัด ต้องเกาะกลุ่มกันไป)
และแล้วก็ถึงยอดฝามี เป็นยอดที่มีพื้นที่เล็กๆ ต้นไม้ล้อม ถ้าไกด์ไม่บอกก็ไม่รู้ว่านี่เป็นจุดสูงที่สุดแล้วที่เรามาพิชิตกัน ความสูงที่วัดได้คือ 1,654m
(ทางขึ้นมาก่อนจะถึงยอด ดูเหมือนโพรง)
(ถึงยอดฝามี 1,654m แล้วครับ มองไม่เห็นวิวอะไรเลย ฝนตก หมอกหนามาก)
(ถ่ายคู่กับยอดฝามีหน่อย)
(อ่ะ เนี่ย ยอดฝามี ดินๆโล่งๆ พื้นที่ประมาณนี้ ไม่มีป้าย ไม่มีจุดเด่นอะไรบอก)
(หลบลมมาทานข้าวเที่ยงข้างๆยอดฝามี – ภาพโดย นัท)
พอหลุดจากป่า เดินเลาะสันเขาแอบมีเสียวเล็กๆ เพราะหมอกลงและทางลื่น แต่ยังดีที่ไปไม่ไกลมากนัก ก็ถึงจุดตั้งแคมป์
แคมป์วันนี้ต้องลงไปข้างๆสันเขาเพื่อหลบหลมแรง เราแยกนอนเปลไปบางส่วน อีกบางส่วนและผมนอนกับพื้นที่แคมป์ เพราะพื้นที่นอนไม่เพียงพอ
(แคมป์คืนที่สาม แบ่งกันนอนพื้นและนอนเปลเพราะที่ไม่พอ – ภาพโดย ยุ้ย)
ช่วงที่เราตั้งแคมป์ ฝนยังคงตกอยู่ ฟลายชีทก็เก็บน้ำ เพราะไม่สามารถขึงตึงได้ กอปรกับพื้นเทลง ทำให้น้ำบางส่วนลงจากฟลายชีทไหลเข้ากราวชีท ตอนแรกๆก็ห่อกราวชีทขึ้นมาเป็นกำแพง แต่ก็เอาไม่อยู่ เพราะซึมทะลุมาได้ ผมเลยใช้วิธีขุดดินเป็นร่องน้ำ เพื่อให้ฝนไหลลงจากฟลายชีท ไหลไปลงหน้าผา แต่พอทำเสร็จ ฝนก็หยุดพอดี ไม่ได้ใช้บริการรางน้ำนายฟิวส์เลย ฮ่าๆ
แอบคิดในใจ ถ้าตอนนอนตกแบบนี้อีก คงไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันอีกคืน
จุดที่ตั้ง แม้ลมไม่พัด แต่ก็ยังหนาวอยู่ แหล่งน้ำไม่มี เลยไม่มีน้ำให้อาบ เรารองน้ำฝนและน้ำค้างมาล้างจาน ทำอาหารกัน
หลังจากทานข้าวเสร็จ พี่ๆไกด์ถามว่าคืนวันที่สองมีใครเจออะไรไหม เพราะตรงใกล้ๆนั้นมีเครื่องบินตก แต่ไม่ได้พาไปดูและยังไม่อยากเล่าให้ฟัง น้องปั้มบอกว่าที่ชวนร้องเพลงเพราะบรรยากาศมันดูมืดๆวังเวง และหลายคนก็เคยเจอ.. พวกเราหลอนเลย แต่ก็ดีที่ไม่มีใครเจออะไร คงเป็นคืนนั้นร้องเพลงสนุกมากกับดื่มแอลกฮอลจนหมดทุกขวดที่เตรียมมา เลยหลับสบาย ไม่รู้เรื่องรู้ราว ฮาๆ
วันนี้ค่อนข้างได้นอนหลับสบายหน่อย ไม่หนาว และค่อนข้างร้อนด้วยซ้ำ เพราะผมอยู่กลุ่มที่นอนเบียดเป็นปลาทูในกองกลาง และที่รู้สึกดีคือได้นอนกับพื้น พลิกตัวได้ ไม่แกว่งไปมา รู้สึกว่าตนเองอาจไม่เหมาะกับการนอนเปลเท่าไรนัก
(คืนนี้นอนปลาทู สบายๆ – ภาพโดย นัท)
สรุปวันนี้ ระยะทาง 4.31 กม ใช้เวลา 4 ชม ครึ่ง ความสูงไต่มาจาก 1,312m ขึ้นยอดฝามี 1,654m และลงมานอนที่ 1,403m
วันที่สี่ ส่องผาเหยียบเมฆ ลาแล้วฝามี
(ผาเหยียบเมฆ)
ตื่นแต่เช้าอย่างสดชื่น ไร้ฝน ไร้หมอก อากาศหนาวกำลังดี เลยเดินขึ้นไปผาเหยียบเมฆเพื่อดูวิว เขาหลวงนครศรีธรรมราช เป็นป่าเขียวๆแบบสุดลูกหูลูกตา สดชื่นมาก มีหมอกไหลเหมือนคลื่นทะเลซัดกระทบฝั่ง แม้จะไม่ได้มีกิมมิกอะไรแบบป่าอื่นๆ แต่ด้วยความดิบชื้น ที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอแบบป่าเหนือ ก็ได้บรรยากาศสุดบรรยายไปอีกแบบหนึ่งครับ
(ชาวแก๊ง บนผาเหยียบเมฆ – ภาพโดย นัท)
(หมอกไหลเป็นคลื่นเลย)
(ป่าเขียวๆสุดลูกหูลูกตา)
(พาโนราม่า ผาเหยียบเมฆ)
(ทางที่เดินมาวันที่สาม เลาะหน้าผานี้มาแหละครับ)
(ดูดี แต่ท่อนล่างต้องปรับปรุง ฮ่าๆ)
(เฮ้ยย ต้องกลับบ้านแล้วเว้ยยยย ชีวิตความเป็นจริงกำลังจะกลับมาเว้ยยย)
(ภาพหมู่วิวมุมแรก)
(ภาพหมู่วิวมุมสอง)
(ภาพหมู่ในแคมป์วันที่สาม)
เริ่มต้นเดินลงในช่วงแรกๆ สภาพทางไม่ต่างจากวันที่สองเลย มีความลื่นชัน ก้มๆ เงยๆ ย่อคลานบ้าง โหนเกาะต้นไม้บ้าง และที่สำคัญ ทาก มหาศาล เยอะกว่าวันแรกๆที่เจอมาก
(ทุกวันที่เดินมา มีแต่ชัน และรก – ภาพโดย ยุ้ย)
(มุดจนปวดหลัง – ภาพโดย นัท)
เส้นทางช่วงที่สอง เป็นที่โล่ง ป่าโปร่ง เดินง่าย แต่หลงง่ายเช่นกัน เพราะไม่มีเส้นทางชัดเจน ทากก็ยังเยอะเช่นเดิม พวกเราเดินไปพักที่ริมน้ำ พอแกะถุงเท้าออกมาเท่านั้นแหละ เละเทะมาก ทากยั๊วเยี๊ยะ จากที่สังเกตดู ถ้ามันเล่นงานใคร คนนั้นก็โดนอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะนัท มันทะลุเข้าไปในรองเท้าถุงเท้า เจาะเลือดอาบ สยองเลยทีเดียว
(สภาพเท้าของนัท โดนหนักสุดในทีม – ภาพโดย นัท)
(สภาพเท้าของนัท โดนหนักสุดในทีม – ภาพโดย นัท)
(ทั้งโดนดูด ทั้งบี้ เลือดสาดกันเลยทีเดียว – ภาพโดย นัท)
เส้นทางช่วยที่สาม เดินเลาะหินตามน้ำตก ถ้าตรงไหนแห้งก็ไม่ลื่น แต่ถ้าเปียกเมื่อไร ก็ยืนยากเหมือนกัน จริงๆ จุดนี้เป็นจุดนอนพักวันสุดท้าย แต่ด้วยเวลาจำกัดและแพลนเสียตั้งแต่วันแรก ทำให้เราต้องเดินอัดยาวลงไปจนจบ
(เลาะน้ำตกไปเรื่อยๆ – ภาพโดย นัท)
(เลาะน้ำตกไปเรื่อยๆ – ภาพโดย นัท)
ทางเดินช่วงสุดท้ายหลังจากหลุดหินน้ำตก จะเจอป่าดิบ ทางเดินหาไม่เจอและเดินยากอีกเช่นเดิมได้สะบักสะบอม รองเท้าพังก็อีท่อนนี้แหละครับ ก่อนจะหลุดไปเจอสวนของชาวบ้าน แล้วก็ถึงศาลาจุดที่เราเริ่มต้นเดินในวันแรก ประมาณตอน 18.00
(เห็นแบบนี้ ลื่นนะครับ – ภาพโดยนัท)
(เห็ดยักษ์ ทั้งใหญ่และแข็ง ไม่รู้อายุกี่สิบปี คนยืนได้เลย – ภาพโดย นัท)
(อีกนิดเดียวใกล้จะถึงแล้ว รองเท้านัทดันมาพังซะก่อน)
พวกเราเห็นศาลาเท่านั้นแหละ โครตดีใจ ที่เอาตัวออกมาได้ เหมือนหมดทุกข์ หมดโศก กระดกน้ำอัดลม ขนม ลองกอง กันอย่างสะใจ แล้วต้องรีบไปอาบน้ำเพื่อบินกลับ
(ถึงศาลาปลายทาง รอดตายแล้วววว เริงร่าสิครับ – ภาพโดย นัท)
วันนี้เป็นทางลงอย่างเดียว ดูเหมือนจะเดินไม่ยาก ระยะทาง 8 กม ใช้เวลาทั้งหมด 7ชม กว่า (รวมทานข้าว และประเมินเวลาที่นาฬิกาแบตหมดเพิ่มไปอีกหน่อย) ความสูงเริ่มที่ 1,406m และลงมาถึง 192m
ปล. ความสูงคลาดเคลื่อนเล็กน้อย แต่ประมาณนี้แหละครับ
ปล2. วันสุดท้ายนาฬิกาดับกลางทางพอดี กว่าจะรู้ตัวเพื่อชาร์ตและเริ่มจับต่อได้ ระยะเลยหายไปประมาณ 1-2 กม
บทสรุป
เห็นด้วยกับเสียงลือเสียงเล่าว่าป่าใต้มีความอุดมสมบูรณ์สูง และมีความยากกว่าป่าเหนือสมสมควร โดยเฉพาะยอดฝามีที่ผมไปมานี้ เรียกว่าค่อนข้างยากมาก รก ชัน ลื่น ทาก วางเท้าลำบาก ต้องใช้ใช้เทคนิคอลและความอึดพอสมควร บางทีก็รกรุงรัง ไหนจะทากเยอะ จนไม่ค่อยสนุกเท่าไร ไม่เหมาะกับคนที่เพิ่งเดินป่าหน้าใหม่เท่าไรนัก ทีมเราเห็นพ้องต้องกันว่า ดิบ และการันตีความโหดเลยทีเดียว
ความสวย: 8/10 (มันคงสวยกว่านี้ถ้าฟ้าเปิด)
ความสนุก: 8/10
ความยาก: มาก
แหล่งเติมน้ำ: มี 3 วันแรก วันสุดท้ายไม่มี
ระยะทาง: 21.52 กม
ความสูงยอดดอย: 1,654 เมตร
น่าสนุกนะครับ 😉
สนุกดีครับๆ
สุดยอดครับ ทริปนี้ ผมชอบผจญภัยเหมือนกัน
สุดยอดมากครับ ถ้ามีโอกาส คงได้เจอกันตามป่าเขาบ้างครับ