Day 5 – Chomrong -> Sinuwa (2,360 m) -> Bamboo -> Hotel Himalaya -> Deureli (3,200 m)
วิวหน้าต่างวันนี้ สวยงามผิดหูผิดตา ใครจะคิดว่า พอตื่นมาจะเห็นยอดเขาหางปลาได้สวยจับจิตเช่นนี้ วันนี้ฟ้าใส แสงดี ลุกจากเตียงก็ไม่ได้เป็นอันทำอะไร คว้ากล้องไปถ่ายรูปทันที ผมพบว่าทุกคนก็คิดเช่นกัน ยืนถ่ายรูปก่อนผมจะตื่นเสียอีก
ผมเริ่มแน่ใจว่าที่เนปาลจะมีโอกาสถ่ายรูปสวยตอนเช้า พอตกบ่ายอากาศแปรปรวนมาก ฝนตก ลูกเห็บตก บางทีช่วงสายๆ เมฆก็เยอะบังยอดเขาไปตลอดเลย ดังนั้น อย่านอนตื่นสาย และควรรีบคว้ากล้องถ่ายเก็บไว้แต่เช้าเลยครับ
จากที่คุยกันในวงอาการเช้า (ข้าวไข่ดาวผัดผัก เช่นเดิม) หลายคนเริ่มปวดขา และวันนี้เดินหนักอีกเช่นกัน จาก Chomrong ไปถึง Deurali อาจใช้เวลาร่วม 8-10 ชั่วโมง พวกผมรู้ตัวว่าเดินถ่ายรูปด้วยและเดินช้า จึงต้องเตรียมไฟฉายคาดหัวไว้ในกระเป๋าติดตัว และต้องเตรียมอุปกรณ์กันหนาวเพิ่มเติมเผื่อไว้ เช่น หมวกไหมพรม เพราะเมือง Deurali เริ่มอยู่ชายขอบของภูเขาหิมะแล้ว
เส้นทางวันนี้เดินขึ้นๆ ลงๆ หนักหน่อยในช่วง Chomrong ถึง Bamboo หลังจากนั้นก็ชันไม่มากนัก เพียงแต่ระยะทางไกลหน่อย พวกเราเจอฝนตลอดทาง ตกๆ หยุดๆ ต้องคอยเปลี่ยนเป็นเสื้อกันฝนอยู่เรื่อยๆจนน่ารำคาญ
การเดินของเราเริ่มอยู่ตัวและรู้ความต้องการในแต่ละวัน วันนี้ผมตุน Snicker และน้ำดื่ม พร้อมอัดกระทิงแดงไปอีกกระป๋อง ส่วนเพื่อนผู้หญิงก็ตุนน้ำผลไม้ยี่ห้อชบา (Chaba) ซึ่งเป็นของไทยเรานี่แหละ แต่เราพบที่เนปาลได้ตลอดการเดินทาง แต่ไม่ค่อยเจอในประเทศไทย อร่อยดีครับ มีเนื้อผลไม้ผสมด้วย ส่วนผสมก็ค่อนข้างให้คาร์บและน้ำตาลได้พอสมควร สาวๆ พอโด๊ปกันเสร็จ เดินตัวปลิวคล่องกว่ากระทิงแดงผมอีกแน่ะ
วันนี้เราเจอกรุ๊ปทัวร์จีน มากันประมาณ 10 คน แต่ส่งเสียงอีโล้งโช้งเช้งกันตามประสาที่เราเคยเจอกันปกติ แต่ที่ไม่ค่อยเห็นด้วยคือ เจ๊ๆเฮียๆแกเด็ดกุหลาบพันปีติดมือมาด้วยคนละดอกสองดอก จริงๆพยายามคิดในแง่ดีว่าเก็บที่ตกๆมา แต่ดูแล้วเราก็ไม่เคยเห็นกุหลาบพันปีมันร่วงในขณะที่ยังบานสวยงามเลย แล้วก็มีกันทุกคนด้วย เลยได้แต่ใช้สายตามองๆแล้วนินทากับคนไทยด้วยกันนี่แหละ และผมเคยได้ยินว่าเขามีกฏอยู่ ห้ามเด็ด ถ้าลูกหาบหรือไกด์เจอ เขาสามารถปรับเงินได้ทันที ก็หวังว่าเจ๊ๆเฮียๆแกจะโดนกันนะ
ระหว่างทาง เพื่อนผู้หญิงในกลุ่มเราเจ็บหัวเข่า ต้องประคองและค่อยๆเดินกันไป บางช่วงต้องขี่คอไกด์และเพื่อนผู้ชายอีกคน ตอนนี้ทีมเราเริ่มมีอุปสรรคแล้ว..
เส้นที่กำลังเดินอยู่ เจอคนไทยเยอะมาก บางทีมองหน้ากันก็ไม่แน่ใจ จนเขาต้องทักสวัสดีมาก่อน เราถึงทักกลับ และก็เจออีกกลุ่มหนึ่ง มีผู้ชายสะดุดุรากไม้ล้มตรงหน้าทีมเรา โชคดีที่เรามีหมอมาด้วย เลยปฐมพยาบาลกันเบื้องต้น พวกเราเจอเขาเรื่อยๆ เขาเล่าว่าเกือบได้ใช้บริการเฮลิคอปเตอร์แล้ว แต่ก็อาการดีขึ้น อดทนเดินกระเผกๆ จนเราไปเจอเขาที่ ABC ได้ด้วย เก่งมากๆ
พวกเราเดินมาถึง Hotel Himalaya ก็เกือบหกโมงเย็นแล้ว และต้องเดินไปต่อที่ Deurali อีก 2 ชั่วโมง ทำใจต้องเจอกับอากาศหนาวและความมืด สิ่งที่ตื่นเต้นตอนนั้นคือ เริ่มเจอน้ำแข็งเกาะยอดหญ้าบ้างแล้ว และไฟฉายคาดหัวเราก็มีไม่ครบทุกคน ต้องคอยเดินแล้วหันหลังกลับมาส่องทางให้กันตลอดเวลา
ประมาณหนึ่งทุ่ม เราเดินจนไปเห็นไฟเกสเฮาส์ของ Deurali แอบดีใจ ดูไม่ไกลนัก แต่ที่ไหนได้ ต้องเดินอ้อมไปอีกหน่อย ทางค่อนข้างอันตรายเพราะเป็นถ้ำ และข้างๆเป็นทางเดินแคบๆประมาณไม่ถึงฟุต มืดสนิท เราคิดว่าต้องไปทางถ้ำมากกว่า แต่จริงๆแล้วต้องเดินเลาะเหว จากนั้นได้เจอกับ Glacier ครั้งแรก เป็นธารน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาและแข็งตัว ตื่นเต้นอีกแล้วครับ ได้เดินบนหิมะในยามวิกาล มองไม่เห็นอะไรเลย มีแค่ไฟส่องเล็กๆ ไม่ไกลนัก ลื่นด้วย เราพยายามเดินเลาะขึ้นไป แต่แล้วก็โชคดีที่มีลูกหาบส่งสัญญาณไฟกระพริบมาจากแถวเกสเฮ้าส์ ตะโกนบอกว่าเราไปผิดทาง ตอนนั้นทำได้แค่ยืนอยู่เฉยๆ แล้วรอให้ลูกหาบมารับ
ลูกหาบเก่งมากครับ ใส่รองเท้าแตะบนหิมะ เขาไม่กลัวลื่นเลย ไม่มีไฟด้วย เดินเห็นทางได้อย่างไรก็ไม่รู้ สกิลเหลือรับประทาน
คืนนั้นหนาวยะเยือกมาก เกสเฮาส์ที่ Deurali เต็มไปด้วยหิมะขาวโพลน มื้อนี้ค่อนข้างทุรักทุเร ไกด์เลยให้สั่งกินกันเองตามสะดวก พวกเราสั่งบะหมี่เกาหลีร้อนๆคนละชาม และพิซซ่าทูน่า (พวกเนื้อปลาทานได้ในเขตที่เขาเคารพครับ ยกเว้นพวก หมู ไก่ ควาย) ซึ่งไม่รู้เพราะหิวโซหรือเปล่า ทูน่าพิซซ่ารสชาติเหมือนราดหน้าเลย อร่อยมาก เพื่อนผมเลยสั่งอีกถาด แต่ก็กินกันไม่ไหว ต้องยกให้ลูกหาบหมดเลย
คืนนี้ในกลุ่มผมเริ่มวางแผนขากลับจาก ABC เพราะเส้นทางจะเดินยาวไกล หนักมาก รวดเดียวจาก ABC ถึง Sinuwa เลย (เหมือนย่อทริปที่เราเดินกันมา 2 วัน เหลือแค่ 1 วัน) ซึ่งในตอนนี้มีเพื่อนเราที่บาดเจ็บ อยากไปให้ถึง ABC แล้วเดินกลับมานอนที่ Deurali แทน เพราะกลัวจะเดินกลับรวดเดียวไม่ไหว จะได้ช่วยเฉลี่ยระยะทางในวันแรกหน่อย แต่หลายคนก็ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าไม่น่าจะเดินไปกลับได้ทัน และลำบากในส่วนที่ต้องแยกกันอยู่ คืนนั้นเลยตัดสินใจไม่ได้และต้องรอดูอาการบาดเจ็บในเช้าวันรุ่งขึ้นแทน
เพิ่มเติม
– ลองแปะแผ่นความร้อนยี่ห้ออะไรสักอย่างของญี่ปุ่น ไม่รู้สึกอะไรเลย สงสัยผมจะใช้ไม่เป็น
– คืนแรกที่ไม่ได้อาบน้ำ หนาวจัด ต้องเช็ดตัวด้วยทิชชู่เปียกแทน แนะนำให้พกไปเยอะๆเผื่อขี้เกียจอาบด้วย
– ถุงนอน -0c ของเก๊ เริ่มเอาไม่อยู่ เย็นช่วงเท้าถึงส่วนขานิดๆ
Day 6 – Deureli -> MBC (3,700 m) -> ABC (4,130 m)
วันนี้เป็นวันแรกที่วิวไม่สวยเท่าไรนัก ไม่เห็นแสงตอนเช้า แต่ก็แปลกตากว่าปกติ เพราะ Deurali อยู่ในซอกเขาที่ยอดปกคลุมด้วยหิมะ อากาศหนาวมาก พวกเราใส่ชุดแบบจัดเต็ม มีเท่าไรยัดให้หมด เพราะจะต้องไปเผชิญหิมะกันตลอดทั้งวัน
มื้อเช้านี้ เรารอดจากข้าวผัดผักไข่ดาวไปอีกมื้อ อาหารเช้าเป็นแซนวิชทูน่าเบาๆ ระหว่างนั้นเจอกลุ่มคนไทยอีกกลุ่มที่พักบ้านเดียวกับเรา ฟิตมาก เขาล้อมวงวอร์มอัพกันแต่เช้า คือรู้สึกต่างจากกลุ่มเรา ตื่นนอน ถ่ายรูป กิน แล้วออกเดินทางเลย ฮ่าๆ (จริงๆ ควรวอร์มอัพก่อนออกเดินทาง เพื่อลดการบาดเจ็บและเตรียมความพร้อม)
เราเดินออกจาก Deurali ไปประมาณ 45 นาที เราจะเจอ Glacier แห่งที่สอง จุดนี้สวยมากครับ พื้นหลังเป็นภูเขาสูงตระหง่าน ทำให้พวกเรายืนถ่ายรูป และกระโดดโลดเต้นกันกันอยู่พักใหญ่
หลังจากผ่าน Glacier มาสักระยะ จะเจอทุ่งหญ้าโล่งๆ ที่เราต้องเดินข้ามแม่น้ำไป จุดนี้เป็นจุดที่เราจะได้เห็นรูปถ่ายกันมากตามเว็บไซต์ต่างๆ เพราะมีภูมิประเทศที่สวยและหลากหลายในจุดเดียวกัน มีแม่น้ำผ่ากลางทุ่ง มีภูเขาหิมะขนาบข้าง ฉากหลังเป็นภูเขาหิมะอีกลูกที่ใหญ่อลังการ เดินไปถ่ายไป หมดเมมโมรี่ไปกับแวนี้หลายร้อยเม็กฯเหมือนกันครับ สวยตราตรึงใจจริงๆ
ระหว่างที่เราเดิน พวกเราได้ยินเสียงหิมะถล่มตามหลัง ตอนแรกคิดว่าฟ้าร้อง เพราะด้านหลังเราไกลออกไปตรง Deurali มันดูครึ้มๆ แต่เสียงมันดังครืนๆนานกว่าฟ้าร้องพอสมควร จนเรามารู้จากไกด์ที่หลังว่ามันเป็นเสียงหิมะถล่ม เป็นประสบการณ์ครั้งแรกเลยครับ ที่รู้ว่าสัญญาณเตือนหิมะถล่มจะมีเสียงประมาณนี้
พ้นจากทุ่งหญ้า เราไต่ขึ้นไปอีกหน่อยก็จะเป็นทางเดินหิมะไปตลอดเส้นทางแล้ว ใช้เวลาต่ออีกไม่ถึง 1 ชั่วโมง ก็ถึง MBC หรือ Machapuchare Base Camp
ซึ่งผมก็ยังไม่แน่ใจว่า Machapuchare สามารถปีนขึ้นหรือเที่ยวไปได้ถึงไหน ถึงต้องมี Base Camp ไว้พักอาศัย เพราะชาวเนปาลเชื่อว่าเป็นที่สถิตของพระศิวะ ในประวัติศาสตร์เคยมีชาวอังกฤษชื่อ Jimmy Roberts ปีนขึ้นไปแต่ไม่สำเร็จ (เหลืออีกเพียง 150เมตร เท่านั้น) และหลังจากนั้นทางรัฐบาลจึงประกาศห้ามใครปีนขึ้นไป จึงทำให้ภูเขานี้ไม่เคยมีใครพิชิตได้เลย
เราเดินถัดจาก MBC ไปพักทานข้าวเที่ยงกันที่เกสเฮาส์แห่งหนึ่ง ใหญ่มาก และเราก็พบคนไทยที่นั่นอีกกลุ่ม เลยทำให้รู้ว่าบางทริปจะจัดให้นอนที่นี่ แล้วเช้ามืดวันรุ่งขึ้นค่อยเดินไป ABC เพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งจะย่อระยะทางขากลับ ไม่เหนื่อยเกินไป และไม่ต้องไปแย่งกันกินแย่งกันอยู่ข้างบนเกสเฮ้าส์ของ ABC
ทางไกด์ได้เตรียม Mini Crompon หรือรองเท้าตะปูให้พวกเราไว้ใช้ด้วย เกาะพื้นหิมะดีพอสมควรครับ และเป็นครั้งแรกที่เคยลองใส่ ตัวรัดมันเป็นยางค่อนข้างเหนียวและแข็ง แต่ก็ไม่ได้เหลือไซต์ใหญ่ให้เลือก เลยแอบรัดเท้าผมนิดหน่อย ทำให้รองเท้าผมรัดขึ้นและเจ็บเท้า จริงๆผมเห็นคนจากทริปอื่นส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่กันก็พอจะเดินได้บ้าง ไม่ลื่นมาก
เส้นทางบนหิมะที่เดินกันเป็นปกติ หิมะจะอัดตัวแน่นและทำให้เราลื่น ก็สามารถเปิดทางใหม่เลาะข้างไปกันได้ แต่ก็ต้องเดินดีๆ ถ้านอกเส้นทางมาก หรือซวย อาจจะเจอหลุม หิมะจะยุบไปถึงน่องหรือเอวเลยทีเดียว ไม่เจ็บครับ แต่ตกใจ และหิมะอาจเข้ารองเท้าได้ ซึ่งจะทำให้เท้าชื้น บวม และเราจะหนาวด้วย
ช่วงบ่ายก็ตามเคยครับ อากาศแปรปรวน ครั้งนี้เราเจอหิมะตกจากช่วง MBC ถึง ABC ค่อยข้างหนักนิดนึง เกาะเต็มตัว และเข้าแว่นผมตลอดทาง (รู้เหตุผลลยว่าทำไมเขาถึงใส่แว่นแบบครอบกัน) บางช่วงมองไม่เห็นวิวเลย และได้ยินเสียงหิมะถล่มตลอดเวลา แต่ดูจากสภาพภูมิประเทศแล้ว น่าจะไว้ใจได้ไม่น่าจะโดนเรา เพราะจุดที่เดินไม่ใกล้ผาหิมะ ไม่ชันมาก และเป็นเนิน
ระยะทางจาก MBC ถึง ABC ประมาณ 3-4 กิโลเมตร ใช้เวลาค่อยๆเดินไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก็เจอป้าย ABC คือจุดหมายปลายทางของเรา ซึ่งทุกคนดีใจมากครับ ถ่ายรูปกันใหญ่ท่ามกลางหิมะ ยอมถอดถุงมือกดถ่ายรุปเลย ขนาดผมเองยังมือแข็งและซีดๆ แต่ก็ทน ฮ่าๆๆ
เพื่อนผมคนหนึ่งที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยบอกว่า “ถ้าฉันมาได้ คนอื่นก็มาได้” ซึ่งผมก็เชื่อแบบนั้นนะ ทุกคนมาได้ เพราะใช้ใจล้วนๆ (มีพี่คนหนึ่ง ผมมารู้ตอนหลังว่า พอเดินไปถึงบ้านพักที่ ABC พี่เขาถึงกับร้องไห้ ว่าฉันมาถึงแล้ว ฉันทำได้ ซึ่งก่อนหน้านี้พี่แกก็ไม่ได้ออกกำลังกายเลย เที่ยวสบายตลอด และไม่เคยเดินป่า แถมแกได้ถูกสบประมาทก่อนมาด้วยว่า “มาไม่ได้หรอก อ่อนแกเกินไป..” เราฟังแบบนั้น เราก็แอบภูมิใจแทนแกนะ ที่แกทำได้)
ช่วงถึงป้ายนั้นเอง เรามีอาการ AMS เล็กๆ คือ ปวดเบ้าตา ซึ่งหมอที่ไปด้วยกันบอกว่าความดันตาขึ้น เลยให้ไดอะม็อกแล้วพาราฯตามมาอย่างละเม็ด ก็พอบรรเทาได้บ้าง แต่ยังกินอาหารไม่ลง ทั้งๆที่อยากกินมากครับ เพราะมื้อนั้นเขาจัดเต็ม ทั้ง มาม่า พิซซ่า มักกะโรนี โมโม่ เฮ่ออ อดเลยฉัน.. กินไม่ไหวๆ
เราคุยกันถึงแผนการเดินกลับ เพราะจะเป็นวันที่ 3 ที่เดินโดนอีกแล้ว คือจาก ABC ยาวไปถึง Sinuwa (และมีเพื่อนผมบางคน ขอยาวไปถึง Chomrong เลย!) ซึ่งเท่าที่ผมหาข้อมูลและถามคนไทยกลุ่มอื่นที่นั่น ไม่มีใครทำแบบนั้น เพราะไกลเกินไป ส่วนมากจะหยุดนอนกันที่ Bamboo เท่านั้น
ตอนประมาณ 3 ทุ่ม ฟ้าสวยมากครับ มืดสนิท และดาวเยอะ ไม่มีอะไรบัง แต่พวกเรานัดกันไว้ว่าจะตื่นตี 4 เลยรีบไปนอนพักก่อน
คืนนั้นคิดว่าอุณหภมูิติดลบมากพอสมควร ถุงนอน -10c เก๊ + ใส่เสื้อจัดเต็ม มันเอาไม่อยู่แล้ว หนาวทะลุถึงผ้าด้านใน จับแล้วเย็น โดยเฉพาะช่วงขาถึงเท้า ผมใช้แผ่นความร้อนแปะไปสองแผ่น แล้วนอนเอามืออังก็พอช่วยได้นิดนึง แต่จุดที่ไม่ได้แปะก็หนาวครับ นอนกระสับกระส่ายพลิกไปมาตลอด รู้สึกว่าตัวเองเตรียมตัวน้อยไปๆ
เพิ่มเติม
– ตี 3 ตื่นมาเข้าห้องน้ำ พบว่าพระจันทร์สว่างจ้าเลยครับ สรุปนอนยาว ไม่ถ่งไม่ถ่ายมันละ แอบเสียดายด้วย
– ข่าวดีของวันนี้คือ เพื่อนเราอาการบาดเจ็บทุเลาลง เลยทำให้ได้ขึ้นไปนอนข้างบน ABC กันครบทุกคน
– ไม้เท้าเดินป่า สามารถแก้เซ็งได้ตอนเดินบนหิมะนะครับ ลองจิ้มไปแรงแน่นๆ ดึงออกมา แล้วเคาะเบาๆ มันจะได้โดนัท ฮ่าๆๆ สงสัยตอนนั้นจะหิว เลยเพ้อครับ
ซีรี่ – 8 วันเดินเท้า ไปเข้าตู้เย็น ในนาม ABC
ตอนที่ 1-2 เริ่มต้นและเตรียมตัว
ตอนที่ 3 มุ่งสู่เนปาล และอันนาปุรณะ
ตอนที่ 4 พบรักที่ Poon Hill
ตอนที่ 5 รสชาติชีวิต
ตอนที่ 6 ในวงล้อมแห่งหิมะ
ตอนที่ 7 จากลาพร้อมบทสรุป
Webmentions
[…] ที่มา – MyIfew : ตอนที่ 6 ในวงล้อมแห่งหิมะ […]
[…] 4 พบรักที่ Poon Hill ตอนที่ 5 รสชาติชีวิต ตอนที่ 6 ในวงล้อมแห่งหิมะ ตอนที่ 7 […]
[…] 4 พบรักที่ Poon Hill ตอนที่ 5 รสชาติชีวิต ตอนที่ 6 ในวงล้อมแห่งหิมะ ตอนที่ 7 […]
[…] 4 พบรักที่ Poon Hill ตอนที่ 5 รสชาติชีวิต ตอนที่ 6 ในวงล้อมแห่งหิมะ ตอนที่ 7 […]
[…] 4 พบรักที่ Poon Hill ตอนที่ 5 รสชาติชีวิต ตอนที่ 6 ในวงล้อมแห่งหิมะ ตอนที่ 7 […]