in Travel

คินาบาลู ไปแบบครบสูตร พิชิตยอดโลวพีค ไต่หน้าผาเฟอราต้า

20160520_0728

หากให้แนะนำภูเขาสูงๆสักแห่ง สวยแปลกตา ไม่ไกลประเทศไทย ค่าใช้จ่ายไม่เยอะ วันลาไม่มาก ไว้ทดสอบแรงกายแรงใจ ทดสอบอาการแพ้ความสูง (Altitude Sickness หรือ Acute Mountain Sickness – AMS), คินาบาลู คงเป็นที่แรกๆ ที่นักเดินป่าปีนเขาจะแนะนำคุณ รวมถึงโพสนี้ของผมด้วย

ยอดเขาคินาบาลู อยู่ในอุทยานแห่งชาติคินาบาลู (Kinabalu National Park) รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย แต่ไม่ใช่มาเลฯใต้ประเทศไทยนะครับ ต้องบินข้ามไปโน่นเลย ที่เกาะบอร์เนียว ความสูงของมันคือ 4,095 เมตร สูงเป็นอันดับ 21 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผมมาปีนที่นี่ครั้งแรกเมื่อปี 2014 เป็นการปีนเขาครั้งแรกในต่างประเทศ แต่ครั้งนั้น ตามประสาเด็กน้อย ผมเลยไปถึงแค่ South Peak เท่านั้น (ยอดแหลมๆ สวยๆ ที่เป็นสัญลักษณ์บนแบงค์มาเลเซีย) และไกด์บอกไม่ให้ผมไปต่อ เพราะเดินช้า กลัวจะลงไปบ้านพักไม่ทัน 10:00น. (ทั้งที่ตอนนั้นแค่ 6 โมงเช้า และคนอื่นๆที่ตามหลงผมก็ยังเดินไปได้ตามปกติ) ครั้งนี้ผมเลยกลับไปแก้มือด้วยความค้างคาใจ ไปให้ครบสูตรเสียเลย ทั้งเดิน ทั้งปีนหน้าผา จัดซะให้ครบ! จะได้หายคาใจ แล้วไม่ต้องกลับไปอีก

20160520_0688

บทที่ 0. สรุปเนื้อๆ สำหรับคนอยากไป

การเดินทาง

ไปที่นี่ไม่ยากและไม่แพง เพราะมาเลเซียเป็นศูนย์กลางของ AirAsia นั่นเอง โดยเราจะต้องบินไปกลับ 4 เที่ยว ดังนี้

ดอนเมือง (DMK) -[1]- กัวลาลัมเปอร์ (KUL) -[2]- โกตาคินาบาลู (BKI) -[3]- โกตาคินาบาลู (BKI) -[4]- ดอนเมือง (DMK)

เครื่องบินที่มีไปถูกๆ ก็เช่น AirAsia, Lion Air, Milando, Malaysia Airline ซึ่งทั้ง 4 เที่ยว ถ้าหาดีๆ จะได้ราคาประมาณ 4-5000 บาท ในที่นี้ผมใช้ AirAsia ทั้ง 4 เที่ยว รวมทั้งหมดประมาณ 4,800 บาท

2016-05-25_211706

แผนการปีนเขา/ไต่หน้าผา

เราใช้บริการของบริษัท Amazing Borneo เหมือนว่าบริษัทนี้จะเป็นสัมปทานบริษัทเดียวที่สามารถจัดปีนหน้าผาได้ โดยสามารถจองผ่านเว็บไซต์ของเขา หรือเว็บอุทยานแห่งชาติคินาบาลู ก็ได้ มีให้เลือกทั้งปีนผาและเดินปกติ หรือถ้าง่ายๆ ก็ใช้บริการผู้จัดทริปคนไทยได้เลยครับ เขาจะจัดการให้หมด (หาที่ Tripder Fan Page)

สรุปสั้นๆ แผนการเดินขึ้นยอดเขาคินาบาลูแบบปกติ จะใช้เวลาทั้งหมด 2 วัน 1 คืน (ใครจะฟิตๆขึ้นลง 1 วัน ก็มีแพคเกตจัดให้นะ)

โดยวันแรกจะนั่งรถตอนหกโมงเช้าจากเมืองโกตาคินาบาลูเข้าไปที่อุทยาน และเดินจากอุทยาน (ความสูง 1,850เมตร) ด้วยเส้นทาง  Timpohon ตอน 9:ooน. ระยะทาง 5.5กม เพื่อขึ้นไปบ้านพัก หรือ Base Camp ที่ความสูง 3,300 เมตร (ครั้งแรกผมเดินขึ้นทาง  Mesilau ระยะทาง 8กม เส้นนี้สวยและธรรมชาติกว่า ปัจจุบันได้ประกาศปิดเส้นทางนี้ไปแล้ว หากใครขึ้นทางนี้ จะได้ประกาศณียบัตรอีกใบหนึ่ง นอกเหนือจากประกาศฯของเส้นทาง Timpohon)

วันที่สองจะเริ่มเดินจากบ้านพักตอน ตี2-3 เพื่อขึ้นยอดเขาคินาบาลู โดยจะมี 2 จุดหลักๆ คือ  South Peak เป็นยอดแหลมๆ สัญลักษณ์ของที่นี่ มีความสูง 3,922เมตร และเดินไปอีกหน่อย จะเป็น Low’s Peak Summit คือจุดสูงสุดของที่นี่ ความสูง 4,095 .2เมตร เมื่อพิชิตเสร็จ ก็เดินกลับลงไปทานข้าวเช้ามื้อสองที่บ้านพัก จากนั้นเดินลงไปที่อุทยานเพื่อขึ้นรถกลับเข้าเมือง

mount-kinabalu-trail

แต่ถ้าใครเลือกแพคเกตแบบมีการปีนหน้าผา Ferrata มันจะเป็นกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากขึ้นยอดคินาบาลูของคุณในวันที่สอง และคุณจะมีข้อจำกัดทางเวลาเพิ่มขึ้นและเหนื่อยกว่าเดิมพอสมควร ดังนี้

วันแรก คุณจะต้องไปถึงบ้านพัก Pendant Hut ก่อน 16:00น. เพื่อบรีฟเส้นทาง ฝึกการใช้อุปกรณ์ปีนหน้าผา และเซ็นสัญญาต่างๆ หากคุณไปไม่ทัน จะไม่สามารถเข้าร่วมการปีนผาได้

วันที่สอง คุณจะไปถึง Low’s Peak หรือไปแค่ South Peak ก็ตาม แต่คุณต้องกลับลงไปที่จุดเริ่มต้นการปีนผา (กม ที่ 7.5 แถวๆ South Peak) ก่อน 7:00น. หากคุณไปไม่ทัน จะไม่สามารถเข้าร่วมการปีนผาได้ (สำหรับเสนทาง The Low’s Peak Circuit)

และความเห็นส่วนตัว การปีนผาไม่ควรใช้เวลามากเกิน 6 ชั่วโมง เพราะจะหิวข้าวมากครับ และเพลียมาก และคุณยังจะต้องเดินลงไปที่อุทยานอีก 5.5กม ถ้าไม่อยากหิวโหยขณะปีนผา และไม่อยากเดินท่ามกลางความมืด ควรจบให้เร็ว เพราะการพกของกิน และพกน้ำไปมากๆมันก็ลำบากช่วงที่เราเดินขึ้นๆลงๆ

เอาหละ รู้เรื่องเส้นทางเดินทั้งแบบปกติและแบบปีนผากันไปแล้ว คราวนี้ลองมาทำความรู้จัก เส้นทาง Via Ferrata คืออะไรกันครับ

Mount Kinabalu Climb with Via Ferrata

IMG_4063

Via Ferrata หรือ Iron Road เป็นเส้นทางการปีนหน้าผาแบบปลอดภัย เป็นจุดๆเดียวกับที่ใช้ปีนหน้าผาปกติ แต่ลดระดับลงเพื่อไม่ให้อันตรายและโหดเท่า เพราะมีอุปกรณ์ เช่นสลิงให้เกาะเกี่ยวคอยป้องกันเราร่วง รวมถึงมีจุดพักเท้า บันได เพื่อให้ง่ายต่อการปีนขึ้นไต่ลง โดยเส้นทาง Via Ferrata มีหลายแห่งทั่วโลก แต่ที่คินาบาลู ได้สถิติ Guinness World Records ว่าเป็นเส้นทางไต่ผา Via Ferrata ที่สูงที่สุดในโลก (3,776 เมตร)

เส้นทาง Kinabalu Via Ferrata จะอนุญาตให้ทุกคนได้ปีน โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การปีนเขามาก่อน แต่ต้องมีอายุ 10-70 ปี และจะมีไกด์ไปกับเราด้วยตลอดทาง โดยมีสองเส้นทางให้เลือก คือ

  1. Walk the Torq – เป็นเส้นทางสั้น (สีเขียว) ไต่ขึ้น และไต่ลงเป็นวงกลม ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง บนหน้าผา
  2. The Low’s Peak Circuit – เป็นเส้นทางแบบเต็ม (สีส้ม) วิวสวยมากๆ และไต่ควบเส้น Walk the Torq (สีเขียว) อีกด้วย ใช้เวลา 4-6 ชั่วโมง บนหน้าผา
LPC_routes_2016_edit1

ระดับความยากของเส้นทาง The Low’s Peak Circuit วัดโดยมาตรฐาน IFAS (International French Adjectival System) จะอยู่ในระดับ AD หรือ Assez iDfficile (Fairly Difficult) ซึ่งค่อนข้างยาก มีความชันประมาณ 45-65 องศา

ส่วนเส้นทาง Walk the Torq อยู่ในระดับ PD หรือ Peu Difficile (Slightly Difficult) จะมีความยากเล็กน้อย ผามีความโค้งจนชันประมาณ 45 องศา

สำหรับค่าใช้จ่าย อ้างอิงจากเว็บอุทยานฯ และอ้างอิงจากปริมาณคนร่วมกลุ่ม 7-15 คน (ราคา ณ วันที่เขียน 25 พค 2559)

  • ขึ้นคินาบาลูปกติ 2วัน 1คืน – 1,550 ริงกิต หรือ ประมาณ 13,500 บาท*
  • ขึ้นคินาบาลูปกติ+ปีนผาระยะสั้น (Walk the Torq) 2วัน 1คืน – 1,730 ริงกิต หรือ ประมาณ 15,100 บาท*
  • ขึ้นคินาบาลูปกติ+ปีนผาระยะเต็ม (The Low’s Peak Circuit) 2วัน 1คืน – 1,900 ริงกิต หรือ ประมาณ 16,600 บาท*

* สำหรับราคา ให้เช็คอีกทีในหน้าเว็บอุทยานนะครับ เพราะจะแปรผันกับจำนวนคนและช่วงวันเดินทาง

2016-05-25_230119

** Update ราคา ณ วันที่ 23 Aug 2023 แพงขึ้นอย่างโหดครับ

การเตรียมอุปกรณ์และของใช้

  • ให้เตรียมเหมือนกับเดินป่าในไทยเลยครับ เช่น กางเกงขายาวและเสื้อที่ระบายความร้อนดีหน่อย หมวก ปลอกแขน ครีมกันแดด แว่นกันแดด และจะเน้นหน่อยคือชุดใส่นอนแบบกันหนาว เสื้อกันหนาว เสื้อกันลม เสื้อกันฝน เพราะที่นั่นฝนตกแทบทุกวัน มักตกช่วงบ่ายๆ พอขึ้นไปบนบ้านพัก อากาศจะเริ่มเย็นๆถึงหนาว ส่วนบนยอดจะหนาวพอสมควร (น่าจะ 0-5 องศา) ลมมาเป็นพักๆ
  • ใครจะใช้รองเท้าเดินป่าก็ได้ หรือรองเท้าผ้าใบเล่นกีฬาทั่วไปก็ได้ เนื่องจากเป็นภูเขาหินแกรนิต แทบไม่ลื่นเลย จะมีลื่นก็ตามรากไม้และเหล็กในเวลาฝนตก (ซึ่งแบบนี้รองเท้าอะไรก็เอาไม่อยู่ครับ)
  • ไม้เท้าเป็นสิ่งสำคัญ ควรพกไปด้วยสองด้ามเลย เพราะบันไดที่นี่สูงมาก (เกิน 1ฟุต) การมีไม้เท้าช่วยค้ำยันตอนขาลง จะลดการบาดเจ็บเข่าได้ดี ใครเข่าไม่ดี แนะนำใส่ที่รัดเข่าครับ
  • ถ้าไม่อยากแบกน้ำ ก็พกที่กรองน้ำไปแทน ที่นั่นมีจุดให้นั่งพักทุกๆ 6-700เมตร มีห้องน้ำ และก็อกน้ำ สามารถล้างหน้าและกรองน้ำมาดื่มได้
  • บนบ้านพัก Pendant Hut มีห้องน้ำ มีน้ำอุ่นใช้อาบน้ำได้สบายๆ มีถุงนอนให้ เวลาถึงมื้ออาหาร จะเดินไปกินที่บ้านพัก Laban Rata จะมีอาหารบุฟเฟ่ให้กินมื้อเช้าและเย็นครับ มีขนม โค๊ก เบียร์ ช็อกโกแลต ขายด้วยครับ แต่แพงหน่อย ราคาประมาณ 3 เท่าของราคาปกติเลย
  • เป้ใบเล็ก สำหรับใช้เดินทางช่วงขึ้นยอดเขา ใส่น้ำ ใส่ขนม ใส่ชุดกันฝน ฯลฯ เพราะต้องใช้เวลาเดินนาน
  • ไฟฉายคาดหัว เอาไปด้วยนะครับ เพราะต้องออกเดินขึ้นยอดตั้งแต่ตีสอง
  • อ้อ อย่าลืม ทุกอย่างที่แบกไป ควรใส่ถุงพลาสติกกันน้ำไว้ให้ดี เพราะมีโอกาสเจอฝนตกระหว่างเดิน ใครป่วยง่ายก็พกยาแก้ไข้ ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ความสูง(Diamox) ยาแก้ปวดเมื่อย ไปด้วยนะครับ

ที่นี่มีลูกหาบด้วยนะ

สำหรับใครไม่อยากแบกของขึ้นเอง สามารถจ้างลูกหาบแบกได้ สนนราคาที่ กิโลกรัมละ 13ริงกิต หรือ 115บาท ซึ่งเขาจะแบกให้ทั้งขาขึ้นและขาลง แต่ถ้าเราแบกขาขึ้นเองแต่จ้างเขาแบกขาลง เขาก็คิด 13ริงกิต เช่นกัน ดังนั้นจะจ้างก็จ้างตั้งแต่ขาขึ้นเลยดีกว่าครับ (เพื่อนผมเจ็บใจมาแล้ว ฮ่าๆ ไม่คุ้มเลย)

ค่าใช้จ่าย

budget-kinabalu

บทที่ 1. กลับมายืนที่เดิม..

เรานัดเจอกันเช้ามืดที่สนามบินดอนเมือง ผมพบว่าสนามบินแห่งนี้เหมือนเป็นสนามบินในประเทศจีนไปซะแล้ว ไปกี่ครั้งๆ ทัวร์จีนก็นั่งกันเต็มสนามบิน การต่อคิวเพื่อโหลดกระเป๋าหรือแม้แต่ขอพิมพ์ Boarding Pass จะเสียเวลามากๆ มากกว่า 30 นาที ต้องเผื่อเวลาเดินทางไปให้มากกว่าปกติ ซึ่งครั้งนี้ผมลืมพิมพ์ Boarding Pass ทุกเที่ยวเลย ดังนั้นต้องไปของพิมพ์ที่เค้าเตอร์ AirAsia แทน ซึ่งก็โชคดีที่บางจุดเขาเปิดให้ทำธุระอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การโหลดกระเป๋า ตอนนั้นผมเลยคิวเลยสั้นๆ 2-3 คิว เท่านั้น (จริงๆแล้วถ้ายังไม่ Check-In สามารถไปทำที่ตู้อัตโนมัติ แล้วมันจะพิมพ์ Boarding Pass มาให้ได้เลย แต่บังเอิญผม Check-In มาแล้ว มันจะไม่สามารถพิมพ์ได้ เพราะไป Check-In ซ้ำไม่ได้ อันนี้ถือว่าไม่ค่อยสะดวกอย่างหนึ่งเหมือนกันของตู้ AirAsia)

20160518_0862

ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงก็ถึงกัวลาลัมเปอร์ เรามีเวลาแค่ 1 ชั่วโมงเพื่อเตรียมบินต่อ ผมก็เพิ่งรู้นี่เองว่า ถ้ามีการบินต่อแม้จะซื้อตั๋วเครื่องบินแยกกันคนละเที่ยว สามารถใช้ประตู Transit ได้เลย ไม่ต้องออกไปผ่าน ตม แล้วเข้ามาใหม่ จะยุ่งยากและใช้เวลามาก

ในช่วงอีก 2 ชั่วโมงกว่า จากกัวลาลัมเปอร์มาโกตาคินาบาลู ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิด สองปีก่อนสนามบินยังเล็กๆ เหมือนกับสนามบินเชียงรายบ้านเรา แต่ครั้งนี้ สนามบินใหญ่โตมากครับ มีร้านค้า ห้องน้ำ ร้านอาหาร อำนวยความสะดวกเพรียบเลย

20160518_0867

หลังจากออกสนามบิน จะมีเค้าเตอร์ Airport Bus สามารถนั่งรถจากตรงนี้เข้าไปในเมืองได้ในราคา 5ริงกิต ก่อนไป เราบอกเขาว่าเราจะไปโรงแรม Hotel Five 2 ทางรถบัสเขาก็จะแนะนำว่าให้เราลงป้ายไหนใกล้สุด แล้วเดินต่อไปทางไหน

20160518_0868
หน้าตาบูธขายตั๋วรถบัสเข้าเมือง ประมาณนี้ อยู่ตรงประตูทางเข้าออก Terminal เลยครับ

20160518_0869
ค่ารถบัสเข้าเมือง ประมาณ 45-50 บาท

20160518_0878
รถบัสมาจอดส่งที่กลางเมือง เวลาจะขึ้นกลับก็ขึ้นที่นี่เช่นกัน

เมืองที่นี่ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง สะอาด เป็นระเบียบ และรถเยอะ เราเดินหาโรงแรมอยู่พักใหญ่ พบว่ามันอยู่ใกล้กับโรงแรมเก่าที่ผมเคยพักกับป๋าคมรัฐที่ชื่อ Hotel Traveller ซึ่งข้างๆกันจะมีร้านอาหารจีนชื่อ Wong Kok เปิดขาย 24ชั่วโมง ใครที่หาร้านกินไม่ได้ หรือต้องการกินอาหารเช้าก่อนเดินทางไปอุทยานแห่งชาติคินาบาลู ก็จะมาลงกินร้านนี้ ราคาไม่แพง อาหารเป็นข้าวแกงหลากหลาย รสชาติโอเคเลยทีเดียว

20160518_0883
บ้านเมืองที่นี่สะอาดเหมือนเดิม ดูเป็นระเบียบ
20160518_0892
ร้านอาหารจีน 24 ชั่วโมง ชื่อ Wong Kok, ส่วนโรงแรมข้างๆ ที่ประจำของป๋าคมรัฐเวลาเขานำลูกทัวร์มา ชื่อ Hotel Traveller

โรงแรมที่เราพักชื่อ Hotel Five 2 น่าจะเป็นโรงแรมเปิดใหม่ เพราะตัวตึกและห้องยังดูใหม่และสะอาดมาก เหมือนจะบริหารงานโดยพ่อแม่ลูก 3 คน ซึ่งคนเป็นพ่อสามารถพูดภาษาไทยได้พอสมควร ลูกชายก็พูดได้บ้าง และทุกคนสามารถพูดอังกฤษได้ แนะนำร้านอาหารได้ ห้องที่เราพักราคาประมาณ 700 บาท มี Wifi Internet น้ำอุ่น ห้องแอร์ จุได้สองเตียง (มีห้องแบบ 3,4 เตียงด้วย) แม้จะไม่ใหญ่มากแต่ก็ครบถ้วน นอนได้สบาย

20160518_0887

20160518_0889
ด้านหน้าของโรงแรม เราเดินหากันอยู่สักพัก ป้ายอ่านยากนิดนึง
20160518_0895
ห้องสะอาดดีครับ แต่ถ้าคนไม่ชอบที่แคบ อาจจะอึดอัดหน่อย

20160518_0896
โรงแรมนี้ปลั๊กเยอะ แต่ต้องหาตัวแปลงมาด้วยนะครับ

ย่านที่พักส่วนมากก็เป็นโรงแรมเล็กๆ ราคาไม่แพง ระแวกนั้นเลยเต็มไปด้วยร้านขายอาหาร มินิมาร์ท ตลาดนัด ถ้าเดินข้ามถนนใหญ่ไปอีกหน่อย จะเจอทะเล แต่ไม่ใช่ชายหาดเที่ยวได้นะ แต่เป็นท่าเรือ แถวนั้นจึงมีตลาดขายปลา ขายอาหารทะเล คึกคักมากครับ นักท่องเที่ยวมาเดินกันเยอะ อาหารทะเลก็ราคาใกล้เคียงกับบ้านเรา บ้างถูกกว่าบ้างแพงกว่า คงตามแต่จะหาได้ยากง่าย แนะนำให้มาลองครับ เสพบรรยากาศท้องถิ่น

20160518_0905 20160518_0907
ขนาดของกุ้งมังกร เมื่อเทียบกับฝ่ามือ ตัวนึงประมาณ 1800-2000บาท (ซึ่งผมเคยเห็นแบบนี้ที่หัวหิน ราคาที่หัวหินประมาณ 1400-1800 [าท)

20160518_0908
ขนาดของกุ้งลายเสือ เมื่อเทียบกับฝ่ามือ

20160518_0912
ละลานตาน่ากินมากครับ เห็นข้างถนนแบบนี้ ก็ไม่ได้ถูกนะ กุ้งลายเสือซ้ายสุด ถ้าจำไม่ผิด ตัวละ 300 บาท

20160518_0914
ริมทะเล จุดนี้ไม่มีชายหาด เพราะเป็นท่าเรือประมง
20160518_0921
ขนมกินเล่นทั่วไป ก็ดูโอเคอยู่นะ
20160518_0925
ปลาตัวใหญ่มากๆ ดูแค่หัวสิครับ

IMG_4064
สารพัดปลา

ตอนแรกเราคิดจะไปโดนอาหารทะเลกันซะหน่อย แต่กลัวท้องเสีย เลยเปลี่ยนไปกินร้านบักกุดเต๋แทน ลูกเจ้าของโรงแรมเลยแนะนำให้ไปร้านที่ชื่อว่า Syarikat Yu Kee ซึ่งห่างจากโรงแรมประมาณ 1กม เป็นร้านเด็ดและดังของที่นั่น แต่อาจต้องรอนิดหน่อย เพราะคนเยอะมาก พอได้นั่งโต๊ะ ก็ไม่ต้องตกใจ ถ้าเจ้าของร้านจะพูดจีนใส่ เพราะแกพูดได้แต่ภาษาจีน ดังนั้นวิธีสั่งอาหารคือ บอกตัวเลขบนรูปอาหารที่แปะบนกำแพงร้านครับ มีหลักๆอยู่ 8 อย่าง และทุกอย่างเรียกบักกุดเต๋หมด ต่างกันแค่เครื่องที่ใส่ (ไม่เหมือนที่ไทย ที่เราจะรวมทุกอย่างเหมือนสุกี้)

20160518_0948
คนเยอะมากๆ ส่วนใหญ่คนจีน และเจ้าของร้านก็พูดจีน

20160518_0950
ทุกชามเรียกบักกุดเต๋หมดนะครับ

20160518_0944
แผนที่จากโรงแรมไปร้าน Yu Kee (ลูกศร)

กินมื้อเย็นเสร็จ ขากลับก็ไปต่อกันเล็กน้อย ซึ่งจริงๆแล้วไม่ควร เพราะแอลกอฮอลมีฤทธิ์ทำให้เป็นตะคริวง่ายและแพ้ความสูงได้ง่ายขึ้น และอาจทำให้พักผ่อนน้อย นอนดึก ตื่นสาย ตกรถ ทริปล่ม บลาๆๆๆ.. แต่แคร์หรือ? ก็ไม่! กระดกต่อไป (จริงๆ ก็อย่าตามผมมากนะ แหะๆ)

13239061_10210017259853422_978385504049341641_n

ก่อนนอนก็จัดแจงเก็บกระเป๋าเสร็จสรรพ ซึ่งจะต้องแยกไว้ 3เซ็ตคือ

  1. เซ็ตใช้งานระหว่างทาง – เป้ใบเล็กเล็ก แว่นกันแดด หมวก ปลอกแขน เสื้อกันฝน น้ำ ขนม
  2. เซ็ตใช้ที่บ้านพัก – เป้ใบใหญ่(หรือถุงไว้ให้ลูกหาบหิ้ว) ถุงพลาสติก เสื้อกันหนาว ชุดนอน ชุดใช้เดินวันกลับ รองเท้าแตะ(Pendant Hut มีให้) ผ้าขนหนู สบู่ ยาสีฟัน แปรง (อุปกรณ์อาบน้ำ)
  3. เซ็ตที่ทิ้งไว้โรงแรม – เช่น เสื้อผ้าวันเดินทางมาและกลับ ตุ๊กตา หมอน มุ้ง หมอนข้าง ผ้าห่ม บลาๆ ของที่ไม่จำเป็นทั้งหลาย ไม่ต้องเอาไป

บทที่ 2. เป็นตามแผน

เช้าวันที่สองเราต้องตื่นกันตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปกินอาหารจีนที่ร้าน Wong Kok (เปิด 24 ชม) แล้วกลับมาอาบน้ำ ให้ทันรถบัสของบริษัทมารับตอน 6 โมงเช้า โดยจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงจากในเมืองเข้าสู่อุทยานแห่งชาติคินาบาลู ช่วงเวลานั้นก็หลับกันต่อได้

20160519_0804
ร้าน Wong Kok มีอาหารให้เลือกกินหลายอย่าง รสชาติโอเค ราคารับได้

20160519_0801
กินข้าวไก่น้ำแดงกับผัดเต้าหู้ไข่ทรงเครื่อง แล้วก็น้ำถั่วเขียว ต้องโด๊ปหน่อย

20160519_0807
รถบัสของ Amazing Borneo มารับเราไปอุทยานแห่งชาติคินาบาลู

20160519_0809

เช้ามืดวันนั้นฝนเพิ่งตกหมาดๆ หมอกจึงบังยอดเขา ไม่ได้ถ่ายรูปด้วยเลย

เจ้าหน้าที่มาบรีฟแผนการเดินทางให้เราฟังคร่าวๆ พร้อมแจกเอกสารลงทะเบียน เพื่อรับบัตรคล้องคอ (ต้องเก็บไว้ให้ดี เพราะใช้แสดงตอนขึ้นลงเขาและก่อนขึ้นยอด) แจกอาหารเที่ยง ที่เป็นแซนวิส แอปเปิ้ล ขนมปัง และน้ำเปล่า ส่วนใครจะเช่าไม้เท้าหรือจ้างลูกหาบสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ที่จุดนี้ครับ

หลังจากจัดแจงอะไรเสร็จเรียบร้อย นั่งรถต่อไปอีก 10 นาที จะถึงประตู Timpohon ซึ่งตรงนั้นจะมีแผนที่ ที่เจ้าหน้าที่จะอธิบายเส้นทางแบบละเอียดให้เราฟังอีกรอบ

20160519_0824
ก่อนเดินทาง ไกด์จะอธิบายจุดเดินต่างๆ กำหนดการ และจุดทานข้าวกลางวัน

20160519_0821
แผนที่ทั้งหมดของเส้นทางคินาบาลู

20160519_0825
เซ็นชื่อก่อนเดินทาง

โดยระยะทางจากประตู Timpohon ถึงบ้านพัก มีระยะ 5.5 กม ไต่ความสูงจาก 1,800-3,300 เมตร เส้นทางปลอดภัย เดินง่าย เพราะเป็นบันได และเป็นทางเรียบ แต่ไม่ใช่ทางราบ! เราจะต้องเดินขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นระยะไต่สะสม (Elevation Gain) 1,500 เมตร หมายความว่าจะต้องเดินขึ้นกิโลเมตรละ 272เมตร บวกกับเวลาที่จำกัดที่จะต้องขึ้นไปให้ถึงก่อนบ่ายสามโมง เพื่อหัดใช้อุปกรณ์ปีนหน้าผา จะทำให้เรามีเวลาประมาณ 5 ชม ถ้าเริ่มต้นเดิน 10.00น. รวมพัก ถ่ายรูป และกินข้าวเที่ยง

แผนที่ได้คือ ควรจะต้องมีความเร็วฝีก้าว (Pace) ประมาณ 1.5-2 กม ต่อชั่วโมง ถึงจะทันตามแผน

เราเริ่มออกเดินทางตอน 9.45น. อากาศเย็นสบายและชื้น ค่อนข้างไม่เหนื่อยมากนัก ในช่วงแรกๆ ทางเป็นบันไดไม้ ไม่สูงมาก แต่หลังจากนั้นจะเริ่มเป็นบันไดดินและหินตามธรรมชาติ ความสูงบางจุดมีถึง 1ฟุต ถ้าคนขาสั้นอาจจะต้องก้าวยาวหน่อย เพิ่มความล้าได้เป็นอย่างดี

เรานัดกินข้าวเที่ยงกันที่จุดพัก 4กม จุดนั้นเป็นสำนักงานของอุทยาน มีเจ้าหน้าที่ดูแล มีศาลาอยู่สองสามหลัง ห้องน้ำและน้ำก็อกให้กรอกน้ำ (ห้องน้ำและน้ำก็อกมีให้ทุกจุดพัก ทุกๆประมาณ 6-700เมตร)

20160519_0829
ทางขึ้นช่วง 1-4 กม เกือบทั้งหมดจะเป็นบันไดประมาณนี้ มีทั้งสูงต่ำ แต่ส่วนมากจะค่อนข้างสูง

20160519_0834
เส้นทางเมอสิเลา ถูกปักป้ายปิดทางไว้

20160519_0837
ตั้งแต่ระบะ 4-6 กม จะเป็นทางหินแบบนี้ บันไดไม่ค่อยเจอแล้วครับ

ช่วงบ่าย ฝนตกลงมาห่าใหญ่ ก็ไม่แปลกใจครับเพราะที่นี่ขึ้นชื่อว่าฝนตกทุกวันอยู่แล้ว ก็ยอมรับมันซะนะ ควักเสื้อกันฝน ร่ม สวมให้เรียบร้อย แล้วก็เดินลุยกันต่อไป แต่ช่วง กิโลเมตรหลังๆอาจต้องระวังเพิ่ม เพราะทางจะเป็นหิน พอเจอฝนตกปุ๊บ จะไหลเป็นน้ำตกเลยทีเดียว ลื่นนิดหน่อยตามรากไม้ แต่รองเท้าเปียกแน่ๆครับ ถ้าไม่กันน้ำและหุ้มข้อสูง อาจส่งผลกับการใช้งานในวันรุ่งขึ้นด้วย โชคดีที่ผมใส่รองเท้าวิ่งเทรลมา เป็นรูๆ ผมยอมให้เปียกไป เพราะมันไม่เก็บน้ำและไม่หนัก จะรำคาญก็ตรงถุงเท้าชื้นๆแล้วทำหนังที่เท้าผมลอกนี่แหละครับ กลัวจะถลอกแล้วเจ็บ T-T (แต่ก็ไม่ได้เป็นไร คงเพราะหนังหนา)

20160519_0841
บ้านพัก Laban Rata บ้านพักหลังใหญ่ที่สุด และห้องอาหารของทุกคนจะอยู่ที่นี่

20160519_0844
ถ้ามองจากบ้านพัก Pendant Hut จะเห็นวิวบ้านพัก Raban Rata แบบนี้

20160519_0845
เส้นทาง Via Ferrata อยู่ในหมอก มองไม่เห็นเลย

20160519_0847
สวยดี ต้นอะไรไม่รู้

ผมและคนในทีม เดินไปถึงบ้านพักประมาณบ่าย 2 รวมเวลา 5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตามแพลน มีเวลาเหลือให้จัดแจงข้าวของ และหลับได้อีกตื่น

เมื่อถึงเวลา 16.00น. เจ้าหน้าที่เรียกให้ทุกคนรวมตัวกันกลางบ้านพัก แนะนำตัวและแนะนำเส้นทาง ผมก็เพิ่งรู้ว่ามีเพียงกลุ่มคนไทยเราและคนจีนอีกสองคน ที่ไปปีนเส้นเต็ม The Low’s Peak Circuit นอกนั้นไปเส้นสั้น Walk the Torq กันหมด (เพื่อนมาเล่าให้ฟังตอนลงจากภูเขาว่า กรูรู้แล้วว่าทำไมฝรั่งส่วนใหญ่แสยะยิ้มตอนบอกว่าพวกเราไปเส้นเต็ม..)

เจ้าหน้าที่จะให้เราทุกคนออกไปหัดใช้อุปกรณ์ โดยอุปกรณ์หลักๆทีเราต้องใช้คือ

  • Climbing harness ซึ่งจะใส่ที่ขาและรัดเอว และมีเชือกที่ผูกเราโยงไปที่สลิง (Fixed Rope) โดยเราจะต้องคอยสาวมันให้ไปกับสลิงตลอดเส้นทาง เพื่อป้องกันเราร่วงในชั้นแรก
  • Belay Rope ซึ่งจะเป็นเชือกที่ผูกเราไว้กับทุกคนในทีม เพื่อช่วยรั้งกันเองเป็นชั้นที่สอง โดยปลายเชือกนี้จะเป็นผู้ฝึกรั้งไว้คนสุดท้าย และทุกคนมีหน้าที่ต้องเอาเชือกนี้คล้องหับขดเหล็กที่ติดกับหน้าผาด้วย
20160521_594

นอกจากหัดใช้อุปกรณ์แล้ว เราทุกคนต้องมาตกลงร่วมกันว่าจะมีแผนการเดินทางอย่างไร เนื่องจากเวลาเป็นตัวกำหนด เพราะถ้าจะปีนหน้าผา เราจะเริ่มต้นเดินจากบ้าน X โมง เพื่อขึ้นไปพิชิตยอด Low’s Peak ตอน Y โมง และลงมาพร้อมกันที่จุดเริ่มปีนหน้าผา 7.00น.

ดังนั้นแล้ว เฉลี่ยๆ พละกำลังของสายแข็งเป๊ก สายกลาง และสายอ่อน เราควรตื่นกันตอน ตี 1:30น.!!!! เพื่อกินอาหารเช้า แต่งตัว และออกเดินตอนตี 2!!! (ถ้าเดินเร็วหน่อย และไม่ปีนผา ออกสักตี 3 ก็ได้)

คืนนั้นเราเลย… นั่งเล่นไพ่ครับ.. สองทุ่มกว่าถึงเลิกลาแล้วไปนอนกัน ดีที่ไม่หนาวมากนัก เลยหลับได้สนิทหน่อย (ถุงนอนที่มีให้กลับร้อนไปเสียด้วยซ้ำ)

การแก้มือของเราจะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้นนี่เอง..

IMG_4061
กินอาหารบุฟเฟ่ที่บ้าน Raban Rata

20160519_0850

20160519_0849
ห้องน้ำ อาหารการ ที่นอนที่นี่ดีมากครับ ไม่ต้องเป็นห่วงเลย

บทที่ 3. สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น

กลุ่มเราเริ่มทะยอยตื่นกันประมาณตี 1 ผมงัวเงียๆ และง่วงมาก แม้จะนอนเต็มอิ่มก็ตาม เลยตื่นตี 1 กว่า รีบเปลี่ยนชุด ได้กินขนมปังทาแยมไปสามแผ่น แล้วรีบเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เลยทำทีมออกตัวช้ากว่าทีมอื่นไปหน่อย แหะๆ

20160520_0679
20160520_0680

จากจุดบ้านพัก 3,300เมตร ไปจนถึงจุด Check Point ประมาณ 3,668 เมตร เส้นทางช่วงนี้ผมพบว่าเปลี่ยนแปลงจากสองปีก่อนพอสมควร ถ้าเป็นเมื่อก่อน ครึ่งทางแรกเป็นบันได ครึ่งทางหลังต้องจับเชือกปีนหิน มีความทุลักทุเลสำหรับคนไม่เคยผจญภัยพอสมควร แต่ตอนนี้แปลงเป็นทางบันไดน่าจะ 70% เลยทีเดียว ทำให้เดินง่ายขึ้นมาก มีจุดชมวิวคล้ายๆ กิ่วแม่ปานด้วย แต่แวะไปก็เท่านั้น มืด มองไม่เห็นอะไรเลยครับ ฮ่าๆ

สำหรับจุด Check Point เราจะต้องยื่นบัตรประจำตัวให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลไว้ และเขาจะทำการแจ้งกลับไปที่อุทยานด้านล่าง เพื่อใช้จัดทำเกียรติบัตรครับ หากใครไปไม่ถึง Low’s Peak จะได้เกียรติบัตรขาวดำ และบอกว่าเป็นที่ระลึกในการมาอุทยาน (As a record and souvenir of an ascent of Mount Kinabalu 4095.2 M) แต่หากเราพิชิตยอดเขาได้ เราจะได้เกียรติบัตรเป็นสี และบอกว่า เราได้ปีนยอด Low’s Peak สำเร็จ (Has climbed Low’s Peak, The summit of Mount Kinabalu 4095.2 M)

ทีมเราเดินไปถึง South Peak ประมาณตี 4 กว่า ไกด์ให้พวกเรารอเวลาจนถึงตี 5 แล้วค่อยไปต่อ เพราะบนยอดลมอาจแรง รีบขึ้นไปก็ยืนหนาวเพื่อรอพระอาทิตย์ขึ้น ทรมานเปล่าๆ

จากจุด South Peak ความสูง 3,922เมตร เพื่อจะขึ้นยอด Low’s Peak ต้องเดินต่อไปอีกประมาณ 700 เมตร มีพื้นที่เป็นลานหินกว้างๆ ไม่ลื่น และไม่ชันมาก เดินสบายๆ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที จะเจอช่วงสุดท้ายมีให้ปีนขึ้นหนอกไปอีก 60เมตร สุดท้าย เพื่อพิชิต Low’s Peak ณ ความสูง 4095.2เมตร

บนยอด Low’s Peak จะแคบมาก ยืนได้ไม่กี่คน มีป้ายพิชิตใหญ่ๆ ปักไว้ ต้องระวังการถูกเบียดและร่วงหน่อยนะครับ

20160520_0681

บนป้ายเขียนไว้ว่า “You are standing at the highest peak of Mt.Kinabalu (Low’s Peak-4095.2M ) The Highest Mountain between the Himalaya and New Guinea. The mountain remain strong after rocked by 6.0 magnitude, Earthquake at 7.15am on June 5, 2015.”

ทุกคนในกลุ่มเรา ทะยอยขึ้นมาจนครบ พวกเรายืนถ่ายรูปแอ๊คท่ากันอยู่เกือบ 7 โมงเช้า ไกด์เลยเร่งให้รีบลง เพราะกลัวเลยกำหนดเวลาที่จะต้องไปไต่หน้าผาต่อ แอบเสียดายเล็กๆ เพราะช่วงนั้นสว่าง คนน้อย ถ้าถ่ายกับป้ายคงสวยน่าดู

20160520_0688
20160520_0689
20160520_0694
20160520_0709

จุดเริ่มต้นของ Via Ferrata – The Low Peak Circuit อยู่ประมาณ กิโลเมตรที่ 7.5 โดยทีมผมใหญ่มาก เลยต้องแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน ทุกกลุ่มจะมีเทรนเนอร์รั้งท้าย และแต่ละกลุ่มจะต้องตั้งใครสักคนเป็นกัปตัน เพื่อนำทาง ซึ่งผมได้เป็นกัปตันของกลุ่มสาม

ความมันส์ของกัปตันคือ ได้นำหน้าเพื่อนๆ ได้ลองไปที่เสียวๆก่อนใคร ได้คิดวิธีการถอดเข้าถอดออกของ carabiner ก่อนใคร แต่จะมีข้อเสียอย่างเดียวคือ เวลาเพื่อนๆถ่ายรูปกัน มันจะติดแต่หลังเรา ต้องคอยหันไปตามเสียงเรียกเมื่อเพื่อนจะมีน้ำใจถ่ายให้ และจ้องทำใจนิดหนึ่งว่ารูปที่เทรนเนอร์ถ่ายให้เรา เราจะเห็นหัวเท่าไม้ขีดเพราะอยู่ไกลมากๆ ฮือๆ (เทรนเนอร์ท้ายสุด เราหน้าสุด ห่างกันสัก 10-20เมตรได้)

20160520_0734
ดเริ่มต้นของ Via Ferrata – The Low Peak Circuit

20160520_0738
เทรนเนอร์ที่สอนเราวันแรก จะแบกของขึ้นมาให้เรา และตามเราไปด้วย

20160520_0742
สวัสดีครับ กลุ่มสามครับ กัปตันขอปิดหน้าปิดตา เพราะแดดแรงมาก

20160520_0743
กลุ่มหนึ่ง มีกัปตันชื่อหนึ่ง พอดีเลย กลุ่มนี้สายแรง นำหน้าลิ่วๆ เจอกันอีกทีบ้านพักเลย

20160520_0737
ทางลงของเรา เห็นตอนแรกนี่เสียวเลย ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ

20160520_0746
การเริ่มต้นน่ากลัวเสมอจริงๆ

20160520_0750
อยู่กลุ่มสุดท้าย แม้จะเป็นกัปตัน แต่ก็เสียวน้อยหน่อย เพราะมีคนเป็นตัวอย่างก่อนหน้าเยอะ

DCIM100GOPROGOPR0356.
20160521_0634

20160520_0754
ชันพอสมควร บางจุดก็พอจะยืนได้ บางจุดมีหมุดให้ยืน บางจุดต้องยันหน้าผา, คนท้ายสุดเป็นเทรนเนอร์จะคอยแนะนำและดูแลเราตลอดเวลา

20160520_0762
ไกลๆ หล่อๆ นั่นคือเทรนเนอร์กลุ่มผม ถ่ายรูปย้อนกลับมา ผมหัวเท่าไม้ขีด ไม่ค่อยมีรูปกับเขาเท่าไร ฮ่าๆ

ช่วงแรกๆ จะเสียวๆ เพราะยังไม่เคยชิน จะวางเท้า เกี่ยวเชือก กลัวทำผิดทำถูก แต่พอไปสักระยะ จะเริ่มสนุกไปเอง อาจจนถึงน่าเบื่อลเยทีเดียว ถ้าทีมข้างหน้าเราไปช้าๆ และเราต้องยืนรอ ยืนเท่านั้นครับ ตลอดเวลาที่ปีน เมื่อยๆหน่อย ก็พิงกับกำแพงไปเลย เพราะการอยู่บนนั้นทำได้อย่างเดียวคือ ยืนชมวิว และถ่ายรูป

ทางระยะแรกของ The Low Peak Circuit เป็นหน้าผาโค้งลงไป ตรงไหนชันมาก จะเป็นบันได ใช้ก้าวสั้นๆเดินพอได้ แต่พอช่วงกลางๆ จะมีบางช่วงเดินเลาะหน้าผา 90องศา บางจุดผมก็นึกวิธีวางเท้าบนแท่นวางไม่ออกเหมือนกัน ต้องใช้เท้ายันหน้าผาเกาะๆไปแทน เดินไปเรื่อยๆจะมีสะพานแขวนให้เดินข้ามไป มันจะส่ายไปส่ายมา แต่ที่น่าเร้าใจกว่าคือ มีสลิงหนึ่งเส้นพาดเป็นสะพานให้เดินข้ามด้วย แม้ว่าจะมีเชือกรั้งเราไว้ถึงสองเส้น แต่การร่วงลงไป ผมคิดว่าดึงตัวขึ้นมาได้ลำบากลำบนเลยทีเดียว ดังนั้น พยายามค่อยๆไปแบบมีสติและมั่นคงจะดีที่สุดครับ

20160520_0780
บางจุดชันหาที่วางเท้าไม่เจอ ต้องหาแง่งหินยืนดีๆ

20160520_0782
20160520_0787
DCIM100GOPROGOPR0401.
20160521_0614
20160521_0617
20160521_0612
20160520_0790

หลังจากจบเส้น The Low Peak Circuit ที่เป็นทางลงอย่างเดียว จะมีเดินเข้าไปในป่าประมาณ 30-45นาที เพื่อไปต่อเส้นทาง Walk the Torq ซึ่งเส้นทางนี้ไม่ไกลมากนัก แต่เป็นการเดินขึ้น! ความชันประมาณ 45-60องศา เทรนเนอร์บอกว่า ระยะความสูงประมาณ 200เมตร อันนี้ไม่ยาก แต่ด้วยความเพลีย ความล้า ความหิว มันก็เป็นอุปสรรคพอสมควร (ณ เวลานั้นคือเกือบเที่ยง พวกเรากินครั้งสุดท้ายขนมปังสามแผ่นตอนตีสอง และน้ำหมดตั้งแต่เช้า)

แนะนำว่าควรพกอาหารและน้ำไปเผื่อไว้สำหรับการอยู่ 5-6 ชั่วโมง ครับ

DCIM100GOPROGOPR0408.
20160520_0791
DCIM100GOPROGOPR0416.

พวกเราจบปีนเส้นทาง Via Ferrata ประมาณบ่ายโมง ใช้เวลา 6 ชม กับการยืนรอ เกาะผา จับเชือก เราเดินลงต่อไปที่บ้านพักอีก 45-60 นาที ทางเทรนเนอร์ได้ประสานให้เอาอาหารเที่ยงมาเสริฟรอที่บ้านพักเลยเพื่อความรวดเร็ว เนื่องจากถ้าเราอยู่บ้านพัก Pandent Hut เกิน 16:00น เราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก

ทีมผมทีมสุดท้ายมาถึงบ้านพัก ฝนห่าใหญ่ก็เทลงมาอย่าพอดิบพอดี อาหารเที่ยงของเราก็ง่ายๆ เท่าที่เหลือให้ มันฝรั่งต้ม ขนมปัง และไส้กรอก กินเสร็จรีบเก็บกระเป๋าเพื่อเดินลงทันที ตอนนั้นเป็นเวลาบ่าย 2 ครึ่ง เราคาดว่า ด้วยแรงและกำลังขาที่มีใช้เดินกลางฝน อาจจะถึงข้างล่าง 6โมงเย็น หรือ 1 ทุ่ม แต่ก็ต้องรวบรวมกำลังเฮือกสุดท้ายเพื่อลงไปให้เร็วที่สุด

เส้นทางเดินลงจะเป็นเส้นทางเดียวกับที่ขึ้นมา แต่จุดนี้แหละที่ผมว่ายากที่สุดของคินาบาลู เพราะหลายคนที่ไปมักบ่นปวดเข่า ขาอ่อน กันช่วงขาลง

จริงๆแล้วต้องบอกว่ากิจกรรมในวันที่สองนั้นค่อนข้างปราบเซียนและทดสอบความฟิต เนื่องจากเราตื่นกันแต่เช้า ขึ้นยอด ไต่ผา อดข้าว อดน้ำ ไม่ค่อยได้พัก แล้วยังจะต้องเดินลงต่อเนื่อง เพื่อแข่งกับเวลาและแสงที่เหลือ คงต้องเตรียมตัวกันดีๆ

20160521_0609
แก๊งที่เราไป ยืนยันได้ว่าทุกคนสามารถไปแบบเราได้ ไม่ว่าจะ สูง ต่ำ ดำ ขาว อ้วน ผอม คนสูงอายุ

ขาลงแทบจะต่างคนต่างเดิน เพราะตอนนั้นเป้าหมายคือถึงข้างล่างให้เร็วที่สุด ฝนยังคงตกหนักตลอดทาง ผมใช้เวลาประมาณ 3 ชม ถึงประตู Timphuhon ตอนนั้นคาดหวังว่าถึงแล้วจะซื้อน้ำอัดลมกินให้ชื่นใจสักหน่อย (ที่นั่นมีร้านค้าของอุทยาน) แต่ร้านดันปิดซะอีก แหะๆ อด!

เจ้าหน้าที่บริษัท Amazing Borneo เสนอให้เราไปอาบน้ำได้ที่โรงแรมภายในอุทยาน ผมก็เพิ่งทราบนี่เองว่าเขามีโรงแรมในนั้นด้วย ซึ่งถ้าใครสนใจ ลองหา Package แบบนั้นในอุทยานดูนะครับ น่าจะสะดวกในการเดินทาง เพราะผมเข้าใจว่าทางบริษัทเขาคงเอารถไปรับ-ส่ง ที่สนามบินได้ทันทีเลย

คืนนั้นเราถึงในตัวเมืองกันประมาณสามทุ่ม หมดแรงและเปียกปอน (ดีที่ไม่ป่วย) ไหนๆมาทั้งที ก็เลยขอฮึดเฮือกสุดท้าย ไปเดินหาซีฟู้ดในตลาดกินสักหน่อย เพราะผมคิดว่า ผมน่าจะจบกับที่คินาบาลูแบบไม่ติดค้างคาใจอะไรอีกต่อไปแล้ว คงไม่ได้กลับมาที่นี่อีก (ยกเว้นผมเริ่มหันเหไปดำน้ำ) ก็เหลือแค่ซีฟู้ดนี่เองที่ยังไม่เคยกิน

แน่นอนครับ ถามลูกเจ้าของโรงแรมเหมือนเดิม ซึ่งตอนแรกเราอยากไปเดินกินที่ตลาดนัดริมทะเล แต่เขาบอกว่ามีแต่บาบีคิว และอาจไม่อร่อย เขาจึงแนะนำให้ไปกินที่ร้าน Welcome Seafood เป็นร้านดัง คนจีนนิยม (อีกแล้ว) ก็เลยไปตามคำบอกเล่า แต่ขอโทษครับ ราคาไม่เป็นมิตรเท่าไร แพงกว่าบ้านเราพอสมควร หากใครสนใจกำเงินไปกินปลาตัวละ 3 พันบาทได้เลย ส่วนกุ้ง หอย ปู ก็คงเดาราคากันได้นะครับ

สุดท้ายพวกเราไปจบที่ย่านซีฟู้ดทางผ่านกลับโรงแรม (ผมมารู้ชื่อจาก Google map ตอนหลัง ชื่อว่า Sedco Square) เป็นเหมือน Food Court ขนาดใหญ่ มีร้านซีฟู้ดรอบๆด้าน ให้เลือกมากมาย ตรงกลางลานมีโต๊ะจีน น่าจะเป็นร้อยโต๊ะ และมีพัดลมเป่าให้พอคลายร้อนได้นิดหน่อย ถือว่านั่งกินดื่มได้โอเค ถ้าเลือกกินพวกสิ่งมีชีวิตที่ว่ายน้ำอยู่ในตู้จะแพงหน่อย แต่ถ้าเราอยากได้ถูกๆ เขาจะแนะนำแบบแช่แข็งให้เราแทน ซึ่งก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร

2016-06-23_224145_
แผนที่สรุป – โรงแรมอยู่ตรงดาวสีส้ม ร้านบักกุดเต๋ Yu Kee (วงกลมแดงด้านบน), ร้านอาหารจีน 24 ชม Wong Kok (วงกลมแดงกลาง), ร้านอาหารซีฟู้ด Welcome (วงกลมแดงล่าง), ย่าน Food Court ซีฟู้ด (วงกลมน้ำเงิน), ตลาดปลา อยู่ริมทะเลที่เขียนว่า Night Food Market

วันนั้นเรากินแบบแช่แข็ง เพราะถูกดี และไม่อยากฆ่าสัตว์เป็นๆต่อหน้าต่อตา เราเลือกกินเป็นปลา และปลากระเบน เอามาทำเป็นบาบีคิว รสชาติโอเคเลยครับ ใส่เครื่องเทศเหลืองๆแบบแขก แต่ไม่ได้มีกลิ่นแขกเท่าไร อร่อยดีครับ (ยังเข็ดกลิ่นอาหารแขกๆจากเนปาลอยู่)

ถือเป็นวันระห่ำและคืนสุดท้าย เป็นการปิดทริปคินาบาลูของผมอย่างสมบูรณ์

ทิ้งตัวลงเตียงก็เกือบตีหนึ่ง
คืนนั้นผมนอนคิดถึงเรื่องการมาที่นี่เมื่อสองปีก่อน
อะไรทำให้ผมกลับมาแก้มืออีกครั้ง
บางทีทำไมผมไม่พอแค่นั้น
หรือขยาดกับความไม่สำเร็จในครั้งอดีต

จะว่าไปผมก็เหมือนคนบ้า
ความบ้านี้มันถูกสะสมมาพร้อมๆ กับปริมาณความกล้าในการใช้ชีวิต
สองสิ่งนั้นไม่ได้สอนให้ผมมองว่ามันเป็นปัญหา
ไม่ได้เรียกมันว่า “เป็นอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน”
แต่มันสอนให้ผมมองมันด้วยความสนุก
และเรียกมันใหม่ว่า “ความท้าทายที่เราจะได้เจอ”

แด่ทุกความบ้าที่กล้าทำตามฝัน

สรุปการเดินทาง

อย่างที่ผมเกริ่นไปแต่ต้น ใกล้ ถูก วันลาน้อย และเหมาะกับการเริ่มต้นเที่ยวภูเขาต่างประเทศ และเพื่อมาทดสอบอาการแพ้ความสูง ก่อนจะไปที่อื่นๆ เช่น เนปาล
รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ก็ไม่ต้องหาซื้อเพิ่มเติม ใช้ของที่ใช้ในไทยได้ทุกอย่าง

ความสวย: 10/10
ความสนุก: 8/10
ความยาก: ปานกลาง
แหล่งเติมน้ำ: มี และดีมากๆ

ระยะทาง: 6 กิโลเมตร (ถึงบ้านพัก), 2-3 กิโลเมตร (จากบ้านพักสู่ยอด)

ความสูงยอดดอย: 4,095.2 เมตร

มาคุยกัน

Comment