รัชกาลที่ 7

10670196_10154787688475644_8333029678685829_n

เมื่อเช้าได้ดูรายการสารคดีไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ พระราชประวัติของ ในหลวง รัชกาลที่ 7

ผมมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ช่วงนี้น้อยมาก แต่ที่น่าสนใจคือ เรื่องราวของ รัชกาลที่ 7

ถ้าคุยกันในแบบภาษาชาวบ้าน ก็เรียกได้ว่า รัชกาลที่ 7 ท่านทรงขึ้นครองราชในช่วงวิกฤติพอดี ไม่ว่าจะเป็นเงินในท้องพระคลังเหลือน้อย จนประเทศเกือบล้มละลาย, เศรษฐกิจโลกย่ำแย่, สงครามโลก, กบฏล้มล้างราชบัลลังก์

จนสุดท้าย ท่านสละราชสมบัติคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ถูกยึดทรัพย์ ถวายกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเสด็จไปประภาสที่ประเทศอังกฤษเป็นการถาวร ทรงประทับอยู่ในบ้านชานเมืองของกรุงลอนดอน และไม่ได้กลับแผ่นดินเกิดตนเองอีกเลย

ในวันที่ท่านทรงสวรรคต ท่านทรงสวรรคตเพียงพระองค์เดียวภายในบ้านพัก ไม่มีผู้ใดใด้อยู่ดูใจพระองค์ท่าน เนื่องจากท่านรับสั่งให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพฯ ไปดูบ้านที่เคยประทับว่ายังอยู่ดีหรือไม่ (บ้านหลังเก่าที่ถูกทางการอังกฤษยึดไป ท่านย้ายที่ประทับมาสองสามแห่งเพราะภัยสงคราม)

หลังการเสด็จสวรรคต 3 วัน มีการถวายพระเพลิงที่สุสานเล็กๆ
ไม่มีพระมาสวดแม้แต่รูปเดียว ท่านเคยรับสั่งไว้ก่อนเสด็จสวรรคตว่า
ไม่ต้องมีพระบรมโกศ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเป่าปี่ ไม่ต้องประโคม ให้ใส่หีบแล้วก็เผา…

และท่านได้สั่งไว้ด้วยว่าไม่ให้นำกระดูกกลับประเทศไทย
ท่านขอเพียงอย่างเดียว ขอเพลงบรรเลงไวโอลินเพราะๆ หวานๆ สักเพลง ในงานพระศพท่านก็เพียงพอ

นี่แหละครับ ผมคิดว่าคนไทยหลายคนก็คงไม่รู้เหมือนผมมาก่อน หากใครลองค้นหาข้อมูลดู จะพบว่าท่านเป็นกษัตริย์ที่น่าสงสารมากๆ

ก้มหน้าเดินไปเรื่อยๆ

การเข้าป่าสอนอะไรเราบางอย่าง
เรารับรู้จากบางคนว่าจุดหมายเราเป็นอย่างไร
แต่เราไม่อาจรู้ได้ว่า เราอยู่ที่จุดไหน
เราทำได้เพียง เก็บจุดหมายนั้นไว้ในใจ
ก้มหน้าเดินไปเรื่อยๆ ให้ดีที่สุด 
ต่อเมื่อเราเงยหน้าขึ้นมา 
เราอาจพบว่ามันไปได้ไกลกว่าที่เราคิด..

แรงงานต่างชาติ

1535388_10154202514035644_6323895478240818462_n

ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้งานแรงงานต่างชาติเท่าไร โดยเฉพาะชาวพม่า จนเมื่อเร็วๆนี้ ได้เจอและได้คุยกันบ่อย ตอนที่เขาต้องมาทำห้องที่คอนโด

สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชื่นชมเขาคือ ถ้าหัวหน้าสั่งอะไรไปแล้วเขาทำไม่ได้ เขาก็จะบอกหัวหน้าตรงๆ ต่อหน้าผมเลยว่าทำไม่ได้ เพราะอะไร ติดปัญหาอะไร ไม่มียึกยัก หมกเม็ด หรือโยนงานให้เพื่อนคนอื่นต้องทำ. แล้วเป็นกับทุกคนด้วยนะครับ (หรือเป็นเฉพาะทีมในคอนโดนี้ก็ไม่ทราบ)

แต่ถ้าอะไรเขาทำได้ เขาก็จะก้มหน้าก้มตาขยันทำงานจนเสร็จ

ผมซ่อมพื้นห้องอยู่สามสี่ครั้ง สังเกตเห็นว่าแรงงานเหล่านี้มีพัฒนาการจากครั้งแรกพอตัวเลย ถ้าเทียบจากปัญหาเดียวกัน ความแรงเท่ากัน ทุกหัวข้อดีขึ้นหมด ทั้งเวลาในการซ่อม ความประณีต และวิธีการแก้ไข

ตัวอย่างเช่น ปัญหาพื้นลามิเนตเคลื่อนตัวห่างกัน ปัญหานี้ซ่อมไปครั้งหนึ่งซึ่งครั้งนั้นเขาก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่นอกจากการตอกกลับให้แน่นเข้าที่ แต่แล้วเวลาผ่านไป มันก็เคลื่อนตัวอีก ผมเลยคิดว่าควรอุดซีลีโคนระหว่างช่องว่างของบัวและพื้น, ปรากฏว่า ผมยังไม่ทันบอกความต้องการ เขาก็เสนอขึ้นมาเองตามวิธีที่ผมจะให้เขาทำ พร้อมบอกเหตุผลเลยว่า ยืดหยุ่นได้ ถ้าพื้นหดในหน้าหนาวหรือบวมออกในหน้าฝน, ตั้งแต่นั้นมา พื้นผมก็ไม่มีปัญหาการเคลื่อนตัวอีกเลย

มันชวนให้ผมคิดถึงร้านลือชาฟู้ดคอร์ท ในซอยลือชา (ซ.พหลฯ 1) หรือแม้แต่ร้านเสต็ก Eat Am Are Steak at Fashion Mall ที่มีแรงงานชาวต่างชาติ ถ้าไปก็ลองสังเกตดีๆ ครับ ว่าพนักงานที่นั่นขยันมาก เรื่องแย่งกันรับลูกค้า อาจพอเข้าใจได้ว่าเขาคงได้คอมมิชชั่น แต่การแย่งเทคแคร์ลูกค้า อันนี้ผมก็ไม่ทราบแรงจูงใจ หรือแรงบรรดาลใจอะไร ทำให้เขาเป็นแบบนั้น

ชื่นชมครับๆ แต่ก็แอบน่ากลัวครับ เพราะแรงงานต่างชาติวันนี้โดยเฉพาะพม่า เขาเหมือนคนจีนยุคก่อนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบ แล้วทำงานทุกอย่างที่คนไทยไม่ทำ

เขาได้เงินรายวันรายเดือนกันเท่าไรผมก็ไม่ทราบ รู้แค่คนในรูปส่งเงินกลับบ้านจนสร้างบ้านให้ครอบครัวอยู่ได้หละครับ

ปล1. เสริมย่อหน้าสุดท้าย พม่านิยมจ่ายอะไรด้วยเงินสดนะครับ ระบบบัตรเครดิตหรือกู้หนี้ยืมสินผา่นธุรกรรมทางธนาคารไม่ได้เจริญและแพร่หลายแบบเรา

 


บ้านดินแดง – 25 May 2014 23:51

อย่าเกลียดในสิ่งที่ตัวเองยังไม่เข้าใจ

ในความเป็นไปของโลกใบนี้มันช่างวกวน
ผมนั่งฟังใครๆหลายคนพูดเรื่องต่างๆนานา
หลายคนพูดถึงตัวเอง และหลายคนก็พูดถึงคนอื่น
ถ้อยคำที่ถูกเปร่งออกมาท่ามกลางเสียงสาดของสายฝน
ผมแทบฟังไม่ได้ยิน ว่าสิ่งที่ผ่านอากาศมานั้นเขาจะสื่ออะไร
แต่การที่ฟังไม่ได้ยิน ยังไม่น่าอารมณ์เสียเท่าคำที่ถูกแต่งเติมโดยผู้พูด
บ่อยครั้ง ผมจะทำตัวนิ่งๆ เหมือนไม่สนใจและพยายามฟังให้แน่ใจว่าได้ยินเช่นนั้นจริงๆ
แต่ทำไมบุคคลที่ฟังพร้อมกันกับผม ถึงเล่าให้คนอื่นฟังไม่เหมือนที่ผมเข้าใจ
ผมอาจจะผิด ถ้าผมเข้าใจผิดไปเอง
แต่ผมไม่รู้ว่าอีกคนหนึ่งจะผิดไหม
ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจและสื่อสารต่อ จะทำให้คนอื่นลำบากและเกิดความแตกแยก
ผมสังเกตุว่าคนหนึ่งรู้สึกดีกับคนหนึ่ง
จะตีความคำพูดนั้นเป็นสิ่งที่ดีและเป็นเรื่องปกติที่คุยกันได้
แต่ถ้าคนหนึ่งอคติกับใครคนหนึ่ง
ผมพบว่าเขาจะตีความคำพูดคนนั้นผิดเสมอ และคิดแง่ร้ายกับตัวเขาเสมอ
ที่สุดแล้วไม่ว่า คนพูดจะพูดเรื่องดีหรือเลวแค่ไหน
มันขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคนฟังแค่นั้นเองหรือ?
มันเป็นความน่าเวทนาของคนฟังที่เขามองโลกในแง่ร้ายแบบนั้น
(ทุกคนอาจจะรู้ว่าคนมองโลกในแง่ร้าย เขามีความน่าสงสารขนาดไหน และน่ารำคาญขนาดไหน ใช่ไหมครับ?)
สิ่งที่เขาฟังจากคนที่เขาอคติ มีแต่ถ้อยคำที่รู้สึกว่าเป็นเขา และมีเขาอยู่ในนั้นเสมอ
นัยหนึ่งผมชื่นชมที่เขาเป็นคนคิดเยอะ คิดหลากหลาย
แต่นัยหนึ่งผมก็สงสารคนที่เป็นเช่นนั้น
พวกเขาเหล่านั้น เมื่อฟังคำพูดจากคนที่เขาอคติ
เขาคงต้องคิดๆๆๆ คิดเยอะๆ และแปลความให้เข้ากับตัวเขาในแง่ร้ายให้ได้
และการตอบกลับ พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องคิดๆๆๆๆ คิดเยอะๆ
เพื่อรจนาคำพูดจากปกติให้เป็นคำเสียดสีทิ่มแทงฝ่ายตรงข้ามให้สาสม
หากเปรียบเปรยพวกเขาเป็นหนุ่มสาวยามมีความรัก
ต่างฝ่ายต่างพยายามโกหกตัวเองและฝ่ายตรงข้าม
เพื่อให้รู้สึกว่ามีความคิดและคำพูดเข้ากับอีกคนหนึ่งให้ได้
ทั้งๆที่ตัวตนเขาอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย…
แต่วังวนของเรื่องอคตินี้ ต่างกับความรักตรงที่ ต่างคนต่างพากันลงเหว
คิดอคติไปต่างๆนานา ยิ่งนานวันก็ยิ่งมากขึ้น
แต่ความรัก คือที่ต่างฝ่ายต่างคิดดีต่อกัน เกื้อกูนกัน ยิ่งนานวันยิ่งผูกพัน สามามัคคีกันมากขึ้น
ผมอยากบอกเขาเหล่านั้นว่าการพูดและการฟัง
โดยไม่ต้องเอาความอคติกับบุคคลอีกฝ่ายมาเติมสีสัน
ดูมันจะเป็นความสบายใจและง่ายกว่ากันเยอะ
การรับฟังและไม่เข้าใจก็ว่าแย่ แต่ก็เป็นเรื่องธรรมชาติของการรับรู้ที่ยากง่ายของคน
ส่วนการฟังแล้วไม่เข้าใจ แล้วเอาไปตีความต่อแบบผิดๆ คิดไปเอง
และเป็นความมั่นอกมั่นใจในตัวเองแบบผิดๆ เพราะมีอคติ อันนี้ยิ่งแย่กว่า
แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ จะคิดไปเองหรือไม่ได้คิดไปเอง
แต่ถ้าไปสื่อสารต่อให้คนอื่นเข้าใจผิดอีก หรือตั้งใจเล่าให้คนอื่นเข้าใจตามที่ตนเองอยากให้เข้าใจ
อันนี้ “เลว”
สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
การฟังโดยยังไม่ทันจะเข้าใจ แต่มีความอคติต่อผู้พูด แล้วตีความอคติไปเองเสียหมด
“เหมือนการเกลียดในสิ่งที่ตัวเองยังไม่เข้าใจ”
จึงอยากให้ลองถามตัวเองต่อว่า “แล้วเราเกลียดอะไร? ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจมันเลย”
———
เพิ่มเติม
1. การชักจูงให้คนอื่นเชื่อตามเรา เอาไปใช้ประโยชน์ทางอื่นเถิด อย่าเอามาทำเพื่อสร้างความแตกแยกเเป็นการส่วนตัวเลย
2. การรู้และการนำกิเลสของคนอื่นไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความแตกแยก อย่าไปทำเลย มันบาป และจากประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าคุณไม่แข็งจริง คุณเองก็จะตกไปในวังวนกิเลสเดียวกันพร้อมกับเขา
3. เสียอะไรเสียไป รักษาใจตนเองให้ดี
4. อย่าเกลียดในสิ่งที่ตัวเองยังไม่เข้าใจ – don’t hate what you don’t understand เป็นประโยคที่ John Lennon ได้กล่าวไว้

 

Don't hate what you don't understand

วันที่ผมคิดจะเข้าป่า

ในชีวิตคนๆหนึ่ง หนีไม่พ้นการแสวงหาความสุข สบาย และสงบ ต่างคนต่างมีวิธีเป็นของตนเอง บ้างเลือกที่จะเดินช้อปปิ้ง ไปต่างประเทศ หาของกิน เที่ยวทะเล เข้าป่า หรือแม้แต่กระทั่งนอนอยู่ห้องเงียบๆคนเดียว

ชวาหระลาล เนห์รู นายกคนแรกของอินเดียเคยกล่าวไว้ว่า “เราอยู่ในโลกอันน่าประหลาดใจที่เต็มไปด้วยความงดงาม เสน่ห์ และการผจญภัยมากมาย, ไม่มีคำว่าสิ้นสุดสำหรับการผจญภัยที่เราสัมผัสมันได้  ถ้าเพียงเราเปิดดวงตาค้นหาความงดงามเหล่านั้น”

 

ใกล้หนึ่งปีพอดี (25 พค) ที่ผมได้ค้นพบอะไรบางอย่างในชีวิต ที่ไม่มีใครคาดเดาว่าผมจะทำ แม้แต่ตัวผมเอง นั่นคือการ เข้าป่า และไต่เขา หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Hiking

สองสิ่งที่ผมเล่าให้คนรอบข้างฟังแล้วฉงน คือ เปลี่ยนจากเที่ยวปกติไปเข้าป่า และผมไปกับคนไม่รู้จัก ไว้ผมเขียนถึงสาเหตุในเรื่องหน้าก็แล้วกัน

มนุษย์เมืองแบบเรา ต่างถูกสวมหมวกให้เป็นไปตามหน้าที่ในครอบครัว หน้าที่การงาน สายตาของคนรอบข้าง เราถูกตัดสินจากความรู้และไม่รู้ของคนเหล่านั้นว่าเราเป็นเช่นไร บ้างก็เปลี่ยนตนเองไปตามหมวกที่คนอื่นหยิบยื่นใส่ บ้างก็ทนรับความผิดๆถูกๆเก็บไว้กับตนเอง  แต่ไม่ว่าจากเหตุใด ผลที่กระทบจิตใจเรายิ่งกว่า เพราะเราเองนอกจากไม่ละเลยสิ่งเหล่านั้น แต่จะแต่งเติมให้มันมากขึ้น จนปลีกความคิดตัวเองจากสังคมโดยไม่รู้ตัว

อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย แต่อ้างว้างเหมือนอยู่ตัวคนเดียว ความรู้สึกแบบนี้้ถ้าได้เกิดกับใคร มันสุดแสนจะเหงาเลยครับ ยากที่จะหาคนมาเข้าใจ เพราะมันเกิดขึ้นจากตนเอง และเป็นเองตามความรู้สึกที่ไร้เหตุผล

 

การเลือกเส้นทางที่ปราศจากผู้คนมากมาย คงมีสองทาง ถ้าไม่ไปยาก ก็ต้องไปในที่ที่ไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าเลือกไปอย่างหลัง คงเป็นที่สำหรับคนอาการหนัก ปลีกวิเวก และไม่ต้องการความสนุกหรรษาแต่อย่างใด เพื่อรอวาระสุดท้ายในชีวิต

การเข้าป่าไต่เขา ดูเป็นทางเลือกที่ดีในความคิดผม ภาพถ่ายจากผู้ชำนาญล้วนเผยให้เห็นสวรรค์บนดิน แสงอาทิตย์กับน้ำค้างบนยอดหญ้า ทะเลหมอกราวขนมปุยฝ้าย และอากาศที่ไม่ว่าฤดูกาลใด ก็ต้องห่มผ้านอน

สถานที่เหล่านี้ไม่ต้องเดินทางไกล ใครก็อยากชื่นชม จะมีเพียงแต่การเผชิญความยากลำบากต่างๆนานา ที่บั่นทอนกำลังใจของใครเหล่านั้น รวมถึงผมในการตัดสินใจเดินทางครั้งแรกด้วย

มาถึงวันนี้ ผมยังเป็นเพียงน้องใหม่ในการเข้าป่า 1 ปี 8 แห่งที่ผมไป ประสบการณ์ล้วนต่างกัน วันแรกที่คิดว่าความยากลำบากคือความลำบาก มันหายไป แต่ความลำบากวันนี้ กลายเป็นความท้าทาย และความมันส์ เป็นบททดสอบหนึ่งของสังขารที่กำลังเริ่มมากขึ้นในทุกๆวัน สัญญาณความคิดที่บอกกับตัวเองในทุกย่างก้าวว่าเรายังไหว เราไปต่อได้ ก้มหน้าเดินต่อไป เดี๋ยวก็ถึงปลายทาง มันคงดังก้องในความคิดทุกครั้งที่เดินทาง

สมาธิที่ได้อยู่กับร่างกายของตนเอง จิตใจของตนเอง สนใจกับเพื่อนร่วมทางเพียงไม่กี่คน ช่วยเหลือ และรับน้ำใจจากคนที่ไม่เคยรู้จักกัน

ณ ที่แห่งนั้น ช่างตรงข้ามกับความอ้างว้างที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ท่ามกลางคนเป็นล้าน เสียอีก

นี่อาจเป็นบทสรุปของการแสวงหาความสุข สบาย และสงบ ในนิยามของผมก็เป็นได้

 

 

ปล1. หากคุณอ่านถึงตอนนี้ และคุณเคยพบกับคนที่ชอบเที่ยวในถิ่นทุรกันดาร คุณจะพบว่าทุกคนมีความรู้สึกคล้ายคลึงกันนี้

ปล2. หากคุณกำลังติดสินใจที่จะเดินทาง ไม่ว่าจะไปที่แห่งใด แต่ยังกล้าๆกลัวๆ ผมอยากให้คุณไป ถ้ามีครั้งแรก ครั้งต่อๆไปก็จะง่าย และคุณจะกลับมาพร้อมกับเรื่องเล่าให้คนรอบข้างฟัง

ปล3. หากอ่านมาแล้วยังไม่มีแรงบันดาลใจ ลองดูเรื่อง The Secret Life of Walter Mitty มาดู

ปล4. ภาพประกอบเป็นภาพเท้าผมในสถานที่ต่างๆ เล็กๆอย่างตั้งแต่ร้านส้มตำไปถึงจนนครวัด ถ้าสนใจลองดู Stand on Earth

บ้านกรุงเทพ – 20 May 2014 01:23