โอกาสเหมาะๆที่จะโดนต่อย

ช่วงแว่บหนึ่งของชีวิตบนรถเมล์สาย 12 จินตนาการเลยเถิดไปว่า ถ้ารถคว่ำจนผมต้องมีอันเป็นไป จะเดาสาเหตุกันอย่างไรนะ?

คำว่า “กรรม” หรือที่บางคนเรียกว่า “เจ้ากรรมนายเวร” คงถูกยกมาอ้างถึงเป็นแน่ ถ้าเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่มีเหตุผลเพียงพอ

บางทีผมก็แอบสงสัยว่า “กรรม”, “เจ้ากรรมนายเวร” หรืออื่นๆ มันจะมีระยะเวลาเล่นงานเราไปได้นานเพียงใด ในหนึ่งชีวิตนี้ ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด

แล้วเจ้ากรรมที่ว่า เลือกช่วงเวลาเล่นงานเราอย่างไรกัน ไหนๆก็เกิดมาพร้อมกรรมแล้ว ก็เล่นให้ครบเครื่องไปเลย เหมือนกับผ่อนบ้าน มีเท่าไรถาโถมโปะให้หมด โดนมันทุกวัน ทุกเวลา สมมุติว่าพออายุสัก 50 ปี ก็จะได้หมดกรรมกันไป  หรือกรรมหนักไปเล่นจนตาย ก็เกิดปุ๊บ ตายปั๊บ ชดใช้กันไปก่อนเลย ชาติหน้าค่อยว่ากันใหม่ วนไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดชดใช้การตาย แล้วค่อยเหลือชาติที่มีชีวิตมาผ่อนกรรมกันอื่นๆกันต่อ

จริงๆ พอมาถึงตรงนี้ก็แอบได้สติเหมือนกันว่าระหว่างชดใช้กรรม เอ็งก็ต้องทำกรรมอื่นมาทับถมต่อไปอีก ใช้อย่างไรก็คงไม่หมด, ไอ้ฟิวส์เอ้ย ชีวิตมันไม่ใช่การผ่อนบ้าน และไม่ใช่เกมส์นี่นา

และการจะเกิดเหตุการใดๆขึ้นกับเรา (แม้แต่การเกิดปุ๊บตายปั๊บแบบใช้กรรม) แปลว่ามันต้องมีสาเหตุ ไม่ว่าจะสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย สิ่งมีชีวิตเอื้ออำนวย สิ่งไม่มีชีวิตเอื้ออำนวย พอคิดมาถึงนี่ แล้วอย่างนี้มันจะไปเกิดได้อย่างไรกัน

ตัดฉากกลับมาสภาวะปัจจุบันที่ธรรมชาติเป็น แปลว่า กรรมที่เราเผชิญ มันอาจจะมีหรือไม่มีเราไม่รู้ รู้แต่มันอยู่ในสภาวะ “กรรมรอส่งผล”

มันรอโอกาส รอจังหวะเหมาะๆ แล้วเหวี่ยงหมัดซัดเราทีเดียวให้น่วมเลย อาจจะเจ็บตัวเท่าตอนที่เคยทำ หรือเจ็บกว่าเพราะมีดอกเบี้ยตามทวงข้ามภพชาติ อันนี้ก็ไม่มีใครรู้

คำว่าโอกาสและจังหวะเหมาะๆ ที่มันรอส่งผลดีหรือไม่ดีกับเรา คงเป็นเพราะตัวเรานั่นเองที่สร้างจังหวะเหล่านั้นให้กับมัน เช่น กำลังทำชั่ว กำลังประมาท ขาดสติ ยุ่งกับเรื่องไม่ดี คนไม่ดี ก็เป็นจังหวะเหมาะที่เจ้ากรรมมันอาจขุดคุ้ยข้อมูลที่ใกล้เคียงมาจากฐานข้อมูล ว่ามีอะไรที่ฉันมีโอกาสจะเล่นงานแกได้บ้าง จากเหตุการณ์ที่แกกำลังทำอยู่

หรือแม้แต่กรรมดีๆ เช่น ทำดี บริจาคทาน เข้าวัด ช่วยคนพิการ ไอ้เจ้ากรรมก็คงไปค้นจากฐานข้อมูล แล้วเทียบเคียงเหตุการณ์ เพื่อส่งเสริมความดีหรือชดใช้คนที่เคยทำดีกับแก ในเหตุการณ์ที่แกกำลังทำอยู่ก็เป็นได้

คงอาจเป็นด้วยเหตุผลดังนี้หรือเปล่านะ ครูบาอาจารย์จึงบอกไว้ให้ทำดีเสมอ อยู่ในที่ดีเสมอ เจอแต่คนดีเสมอ ทำใจดีๆไว้ และอย่าไปทำความชั่ว เพื่อลดโอกาสที่กรรมชั่วมันจะเล่นงานเรานั่นเอง (แม้จะห้ามไม่ได้) หรือเรียกว่ายืดเวลาไปเรื่อยๆ ไม่ต้องพบกับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสที่เจ้ากรรมต่อยเรา จนกว่าชาติใดชาติหนึ่ง เราจะหลุดพ้นมัน อย่างที่ศาสนาพุทธเรียกว่า บรรลุนิพพาน

ว่าแล้ว รถเมล์ถึงบ้านเสียก่อน และผมก็ไม่ได้มีอันเป็นไปตามที่มโนไปเอง เรื่องนี้มันเป็นความคิดยามว่างของคนโง่เขลาอย่างผม ใครมีความคิดอย่างไร แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ

เรือใบ

เมื่อวาน (28 มี.ค. 2557) อาแปะชวนไปเล่นเรือใบ บอกหน่วยก้านเราดี ฝึกได้ เขาเลยเปิดโลกทัศน์ เล่าถึงกีฬานี้ให้ฟัง

อย่างแมชท์ที่เขาแข่งขันผ่านๆมา ก็จะมีคนสองกลุ่ม คือกลุ่มต้องชนะให้ได้กับกลุ่มเอามันส์

พวกกลุ่มต้องเอาชนะให้ได้ จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เปรียบในด้านอุปกรณ์และทีมงาน ตั้งแต่ลงทุนซื้อเรือดีๆ ผ้าใบดีๆ หาคนเก่งๆมาร่วมทีม

คือต้องบอกว่าเรือใบเป็นกีฬาที่ทุกคนบนเรือต้องประสานงานกันให้ดี และต้องเป๊ะมาก ดังนั้นทุกคนบนเรือต้องเก่งทุกคน หรือไม่ด้อยไปกว่ากันมาก ใครคนใดคนหนึ่งไม่เก่งไม่ได้ อาจพาคนทั้งรำเรือแพ้หมด

 

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมทีมที่ต้องการชนะ ถึงต้องเก่งทุกคน เพราะไม่มีโอกาสสอนกันบนเรือ ไม่มีโอกาสผิดพลาด และทุกคนต้องรู้จักหน้าที่ตัวเองและทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด เพื่อพานาวาตัวเองชนะคู่แข่ง

ส่วนทีมที่เอามันส์ พวกเขาอาจตั้งใจไว้ก่อนแล้วว่าไปเพื่อไม่ใช่เอาชนะ หรือเอาที่หนึ่ง แต่อาจมีคุณค่าใดๆบางอย่าง (อาจเช่น ไวน์ดีๆสักขวด) ที่ต้องทำทุกอย่างเต็มที่สุดๆเหมือนกัน

คิดไปคิดมาก็เหมือนการทำงาน ว่าคุณจะเอามันส์ หรือเอาชนะ?

คิดถึงวิทยา และจดหมายวัยประถม

“เป็นไปได้ไหมที่คนเราจะรักใครสักคนโดยที่ไม่ได้เจอกัน การที่เราจะคิดถึงใครสักคนที่แม้แต่เราเองก็ยังไม่เคยได้พบมาก่อน”..  ประโยคคำถามของนิธิวัฒน์ ธราธร ที่ทำให้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเรื่อง “คิดถึงวิทยา”

ผมถูกชวนให้ดูเรื่องนี้โดยที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ (ยกเว้น บี้ กับ พลอย การศึกษาและเรือนแพ) ต้องบอกตรงๆ เป็นเรื่องที่สองของปี(อาจจะในชีวิต แต่จำไม่ได้)  ที่ถูกชวนดูหนังโดยที่ไม่รู้จักหนัง แต่ก็ทำให้รักเข้าเต็มเปา (ซึ่งเรื่องแรกคือ The Secret Life of Walter Mitty)

คงเพราะผมเองชอบแสดงความรู้สึกผ่านงานเขียนและภาพถ่ายก็ได้มั้ง หนังเรื่องนี้ถึงได้ตรงจริต และในมุมกลับกัน ผมก็ชอบที่อ่านความรู้สึกคนอื่นๆ ผ่านงานเขียน และภาพถ่ายเช่นกัน จึงรู้สึกเข้าถึงหนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ว่าการรู้สึกดีกับใครบางคน โดยที่ไม่เคยพบกันและไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน เป็นเช่นไร

ผมเชื่อว่าทุกคนในสมัยประถม (อย่างน้อยก็ยุคผม) คงได้สัมผัสความรู้สึกแนวนี้กันมาบ้างในวิชาภาษาไทย เพราะคุณครูจะสั่งให้เราเขียนจดหมายไปหาเพื่อนต่างโรงเรียน โดยมีเลขห้องและเลขลำดับเดียวกันกับเรา เล่าเรื่องราวต่างๆ นานา เกี่ยวกับเรา และก็คาดหวังว่าเขาจะตอบกลับมา, นั่นหละ! ความรู้สึกเดียวกันเลย (เพียงแต่ตอนนั้นเราไม่อิน เพราะเรารู้สึกว่า ฉันเบื่อวิชานี้ ฉันเบื่อครู และครูให้ฉันทำอะไรลมๆแล้งๆ น่าเบื่อๆ นี้ทำไมวะ)

แต่นั่นคือเมื่อก่อน, สมัยนี้คงเป็นการอธิบายได้ยากว่าความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเช่นไร ในยุคสมัยที่ค้นชื่อก็เห็นหน้า ตามโซเชี่ยลก็เห็นความรู้สึก(จริงหรือหลอกลวงก็ตอบยาก) และคุยสามวันก็นัดเจอกันง่ายๆ, ซึ่งในหนังเองต้องจำลองสภาพแวดล้อมดังกล่าว ให้ใครบางคนได้ดำเนินชิวิตเพียงลำพัง ไม่สามารถติดต่อใครได้ และไม่รู้ข้อมูลใดๆเลยของกันและกัน นอกจากหนังสือบันทึกเพียงเล่มเดียว

“คิดถึงวิทยา” หากหนังเรื่องนี้ไม่โดนใจ อย่างน้อยมันก็ทำให้คิดถึงความรู้สึกตอนส่งจดหมายหาเพื่อนต่างโรงเรียน และคิดถึงครูสอนภาษาไทยสมัยประถมได้

และไม่ว่าการได้เจอใครสักคน ผ่านถ้อยคำในงานเขียน ผ่านภาพถ่ายของความรู้สึก คงไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่รู้จักอ่านความหมายของการพบกัน

ปล. พลอยในเรื่องนี้ น่ารักกว่าพลอยในสามีตีตราเยอะ ฮ่าๆๆ

ว่าด้วยการเป็นโค้ชและการชมเชย โดย คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

พอดีได้รับอีเมล์ส่งต่อกันมา ของคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ที่พูดถึงการฝึกคน ค่อนข้างมีประโยชน์มากครับ ใช้เริ่มต้นในการปรับแนวคิดได้ดี และไม่เฉพาะเอาไปใช้ในมุมทำงานเท่านั้น แต่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนได้ด้วย ในการสอนลูก สอนหลาน สอนเพื่อน

ว่าด้วยการเป็นโค้ชและการชมเชย

การเป็นโค้ชในการทำงานที่เรียกกันว่า “Business Coaching” นั้น จะต่างจากการเป็นโค้ชในวงการ
กีฬาอย่างมาก เพราะไม่ใช่การสอนเทคนิคและควบคุมการฝึกฝน แต่เป็นการรับฟังปัญหาหรือประเด็นต่างๆ
ของลูกทีม แล้วกระตุ้นให้เขาคิดวิเคราะห์หลากหลายแง่มุม จนค้นพบคำตอบได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่
ผู้บังคับบัญชาโดยทั่วไป ไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะรับฟังเรื่องราวให้ครบถ้วน และเข้าใจในสถานการณ์
อย่างกระจ่างแจ้งเท่ากับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ชอบที่จะตัดบทแล้วก็ออกคำสั่งตามใจนาย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหา
ที่ไม่รอบคอบและขาดประสิทธิภาพ

ผมนึกถึงเรื่องเมื่อสมัยนานมาแล้ว ที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีลูกน้องคนหนึ่ง
เพิ่งอกหักมาอย่างสาหัส เจ็บปวดปานจะขาดใจตายอยู่นานเป็นสัปดาห์ ผมจึงกระตุ้นให้เขาคุยให้ฟังว่า
ผู้หญิงคนนั้นเป็นใคร เรียนที่ไหน รู้จักกันได้อย่างไร ทำให้ผมทราบว่าทั้งคู่เป็นเพื่อนบ้านกัน

ผมซักถามต่อว่า รักผู้หญิงคนนี้มากแค่ไหน หรือสวยแค่ไหนเมื่อเทียบกับคนนั้นคนนี้ คำตอบที่ได้ คือ
ก็ไม่เท่าไหร่ เมื่อถามว่าเธอมีจุดเด่นอะไรถึงทำให้หลงใหลได้ขนาดนี้ รักเธอที่ตรงไหนกันแน่ ก็ตอบไม่ได้สาระ
เป็นชิ้นเป็นอัน

ในที่สุด เขาก็ ตอบตัวเองได้ว่า ที่จริงแล้วเขาไม่ได้รักเธอมากมายเหมือนที่พร่ำพรรณนา แต่ประเด็นสำคัญ
คือไม่อยากรับความพ่ายแพ้ ไม่อยากเสียเชิงชายขายหน้าคนอื่น เมื่อได้คำตอบที่แท้จริงแล้ว เขาก็โล่งอก
ไม่ต้องจมปลักอยู่กับความรู้สึกที่ทึกทักเอาเองว่า “อกหัก” อีกต่อไป

นี่แหละคือ “Business Coaching” ! ซึ่งจะเป็นคนละเรื่องกับการให้คำปรึกษาทั่วไป
การโค้ชชิ่ง (Coaching) จะไม่ให้คำแนะนำอะไรเลย

ผมซึ่งเป็นหัวหน้า ถ้าใช้วิธีการแบบเก่า ๆ ก็คือต้องรีบแสดงภูมิรู้ ให้คำสั่งสอนจิปาถะ ต้องจีบอย่างนั้น
อย่างนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร นี่เป็นตัวอย่างคลาสสิคของจริงที่จะ
เปรียบเทียบให้เห็นว่าการ Coaching นั้นถูกต้อง และได้ผลดีกว่าการตะบี้ตะบันออกคำสั่งอยู่ฝ่ายเดียว

ในการโค้ชชิ่งโดยการรับฟังปัญหา จะให้ได้ผลดีก็ควรต้องรู้จักให้กำลังใจทีมงานด้วย ถ้าเขามีเรื่องดีๆ
ที่น่าชมเชย เราก็อย่าขี้เหนียวน้ำลายที่จะกล่าวคำชมเชยจากใจจริง

ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราทักใครว่าวันนี้แต่งตัวดีนะ หน้าตาสดชื่นจังนะ ถูกรางวัลที่หนึ่งมาเหรอ ผู้ฟัง
ก็มักจะหน้าบาน อย่าไปบอกว่าหน้าตาซึมเซา คิดมากนอนไม่หลับเพราะถูกแฟนทิ้งมาเหรอ คนฟังก็คงจะหน้างอ
เป็นม้าหมากรุก

การชมเชยในสิ่งที่เป็นจริง เรียกว่า “Recognition” แต่การชมเชยที่ไม่เป็นความจริง ชมเชยส่งเดช
เรียกว่า “ประจบ” แถมถ้าไปพูดกับผู้บังคับบัญชา ยกยอในเรื่องไม่จริงก็ต้องเรียกว่า “สอพลอ”!

ทั้ง Business Coaching และ Recognition เป็นสองปัจจัยสำคัญในหลายๆปัจจัยที่จะก่อให้เกิด
Harmony อันเป็นเป้าหมายที่จะช่วยสร้างให้ที่ทำงานเป็นสถานที่แห่งความสุข ที่พนักงานอยากจะมาพบกัน
เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ดีให้เกิดขึ้นทุกๆวัน
บทความโดย คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

อดีตกาลอันไกลโพ้น

654242main_p1220b3k

“มีอยู่สองสิ่งที่ไม่สิ้นสุด นั่นคือจักรวาลและความโง่เขลาของมนุษย์ แต่ผมไม่แน่ใจเท่าใดนักว่าจักรวาลเป็นเช่นนั้น” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้เช่นนั้น

ภาพจากกล้อง Hubble ของ NASA ที่ทำให้เราได้เห็นบางส่วนของ Milky way galaxy หรือภาษาไทยเรียกว่าทางช้างเผือกอยู่ทางด้านขวามือ ส่วนกาแล็กซี้ด้านซ้ายชื่อว่าแอนโดรเมด้า (Andromeda galaxy) เป็นกาแล็กซี่ที่ใกล้เรามากที่สุด ใช้เวลาเดินทางเพียงแค่  “3 ล้านปีแสง” เท่านั้นเอง..

ภาพที่เราเห็น ถ้าถูกถ่ายขึ้นเมื่อวานนี้ ก็กลายเป็นอดีตแอนโดรเมด้า เมื่อ 3 ล้านปีที่แล้ว เราสมมุติว่ามนุษย์ต่างดาวเฝ้ามองโลกอยู่ พวกเขาคงกำลังเพลิดเพลินดูไดโนเสาร์วิ่งไล่กันกระหนุงกระหนิงบนทุ่งหญ้าริมทะเลสาปท่ามกลางแสงแดดรำไร  เป็นไปได้ว่า แม้มนุษย์ต่างดาวจะเดินทางมาได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากมาเจอมนุษย์ขี้เหม็นในปัจจุบัน

ในการ์ตูนหลายๆเรื่องอย่างโดเรม่อน (บางตอน) หรือเออิชิ นักประดิษฐ์รุ่นจิ๋ว ยังสร้างจินตนาการที่ค่อนข้างสนุกและน่าคิดว่า เมื่อย้อนกลับไปอดีตได้แล้ว ห้ามไปแตะต้อง สื่อสาร หรือทำการใดๆ กับทุกสิ่งในอดีต เพราะบางทีสิ่งเหล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับทุกชีวิตหรือแม้แต่ชีวิตเราในอนาคต จนอาจทำให้ไม่มีเราอย่างปัจจุบัน เหมือนการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ที่เราคาดไม่ถึง

บางทีธรรมชาติก็บอกเราว่าอดีตแม้จะมองเห็นหรือนึกได้ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ ต่อให้ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใดๆ ทำให้เดินทางย้อนอดีตกลับไปได้ แต่มั่นใจหรือว่าเราเองจะกล้าเปลี่ยนแปลงอดีตเหล่านั้น โดยไม่คิดถึงสิ่งที่จะกระทบกับปัจจุบัน

เสน่ห์ของอดีตมีไว้ให้คิดถึง.. คงเหมือนเสน่ห์ของการส่งจดหมาย ที่มีคุณค่าต่อคนรับเสมอ แม้มีช่องทางอื่นที่ดีกว่า