คิดถึงวิทยา และจดหมายวัยประถม

“เป็นไปได้ไหมที่คนเราจะรักใครสักคนโดยที่ไม่ได้เจอกัน การที่เราจะคิดถึงใครสักคนที่แม้แต่เราเองก็ยังไม่เคยได้พบมาก่อน”..  ประโยคคำถามของนิธิวัฒน์ ธราธร ที่ทำให้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเรื่อง “คิดถึงวิทยา”

ผมถูกชวนให้ดูเรื่องนี้โดยที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ (ยกเว้น บี้ กับ พลอย การศึกษาและเรือนแพ) ต้องบอกตรงๆ เป็นเรื่องที่สองของปี(อาจจะในชีวิต แต่จำไม่ได้)  ที่ถูกชวนดูหนังโดยที่ไม่รู้จักหนัง แต่ก็ทำให้รักเข้าเต็มเปา (ซึ่งเรื่องแรกคือ The Secret Life of Walter Mitty)

คงเพราะผมเองชอบแสดงความรู้สึกผ่านงานเขียนและภาพถ่ายก็ได้มั้ง หนังเรื่องนี้ถึงได้ตรงจริต และในมุมกลับกัน ผมก็ชอบที่อ่านความรู้สึกคนอื่นๆ ผ่านงานเขียน และภาพถ่ายเช่นกัน จึงรู้สึกเข้าถึงหนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ว่าการรู้สึกดีกับใครบางคน โดยที่ไม่เคยพบกันและไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน เป็นเช่นไร

ผมเชื่อว่าทุกคนในสมัยประถม (อย่างน้อยก็ยุคผม) คงได้สัมผัสความรู้สึกแนวนี้กันมาบ้างในวิชาภาษาไทย เพราะคุณครูจะสั่งให้เราเขียนจดหมายไปหาเพื่อนต่างโรงเรียน โดยมีเลขห้องและเลขลำดับเดียวกันกับเรา เล่าเรื่องราวต่างๆ นานา เกี่ยวกับเรา และก็คาดหวังว่าเขาจะตอบกลับมา, นั่นหละ! ความรู้สึกเดียวกันเลย (เพียงแต่ตอนนั้นเราไม่อิน เพราะเรารู้สึกว่า ฉันเบื่อวิชานี้ ฉันเบื่อครู และครูให้ฉันทำอะไรลมๆแล้งๆ น่าเบื่อๆ นี้ทำไมวะ)

แต่นั่นคือเมื่อก่อน, สมัยนี้คงเป็นการอธิบายได้ยากว่าความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเช่นไร ในยุคสมัยที่ค้นชื่อก็เห็นหน้า ตามโซเชี่ยลก็เห็นความรู้สึก(จริงหรือหลอกลวงก็ตอบยาก) และคุยสามวันก็นัดเจอกันง่ายๆ, ซึ่งในหนังเองต้องจำลองสภาพแวดล้อมดังกล่าว ให้ใครบางคนได้ดำเนินชิวิตเพียงลำพัง ไม่สามารถติดต่อใครได้ และไม่รู้ข้อมูลใดๆเลยของกันและกัน นอกจากหนังสือบันทึกเพียงเล่มเดียว

“คิดถึงวิทยา” หากหนังเรื่องนี้ไม่โดนใจ อย่างน้อยมันก็ทำให้คิดถึงความรู้สึกตอนส่งจดหมายหาเพื่อนต่างโรงเรียน และคิดถึงครูสอนภาษาไทยสมัยประถมได้

และไม่ว่าการได้เจอใครสักคน ผ่านถ้อยคำในงานเขียน ผ่านภาพถ่ายของความรู้สึก คงไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่รู้จักอ่านความหมายของการพบกัน

ปล. พลอยในเรื่องนี้ น่ารักกว่าพลอยในสามีตีตราเยอะ ฮ่าๆๆ