พอดีได้รับอีเมล์ส่งต่อกันมา ของคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ที่พูดถึงการฝึกคน ค่อนข้างมีประโยชน์มากครับ ใช้เริ่มต้นในการปรับแนวคิดได้ดี และไม่เฉพาะเอาไปใช้ในมุมทำงานเท่านั้น แต่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนได้ด้วย ในการสอนลูก สอนหลาน สอนเพื่อน
ว่าด้วยการเป็นโค้ชและการชมเชย
การเป็นโค้ชในการทำงานที่เรียกกันว่า “Business Coaching” นั้น จะต่างจากการเป็นโค้ชในวงการ
กีฬาอย่างมาก เพราะไม่ใช่การสอนเทคนิคและควบคุมการฝึกฝน แต่เป็นการรับฟังปัญหาหรือประเด็นต่างๆ
ของลูกทีม แล้วกระตุ้นให้เขาคิดวิเคราะห์หลากหลายแง่มุม จนค้นพบคำตอบได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่
ผู้บังคับบัญชาโดยทั่วไป ไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะรับฟังเรื่องราวให้ครบถ้วน และเข้าใจในสถานการณ์
อย่างกระจ่างแจ้งเท่ากับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ชอบที่จะตัดบทแล้วก็ออกคำสั่งตามใจนาย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหา
ที่ไม่รอบคอบและขาดประสิทธิภาพ
ผมนึกถึงเรื่องเมื่อสมัยนานมาแล้ว ที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีลูกน้องคนหนึ่ง
เพิ่งอกหักมาอย่างสาหัส เจ็บปวดปานจะขาดใจตายอยู่นานเป็นสัปดาห์ ผมจึงกระตุ้นให้เขาคุยให้ฟังว่า
ผู้หญิงคนนั้นเป็นใคร เรียนที่ไหน รู้จักกันได้อย่างไร ทำให้ผมทราบว่าทั้งคู่เป็นเพื่อนบ้านกัน
ผมซักถามต่อว่า รักผู้หญิงคนนี้มากแค่ไหน หรือสวยแค่ไหนเมื่อเทียบกับคนนั้นคนนี้ คำตอบที่ได้ คือ
ก็ไม่เท่าไหร่ เมื่อถามว่าเธอมีจุดเด่นอะไรถึงทำให้หลงใหลได้ขนาดนี้ รักเธอที่ตรงไหนกันแน่ ก็ตอบไม่ได้สาระ
เป็นชิ้นเป็นอัน
ในที่สุด เขาก็ ตอบตัวเองได้ว่า ที่จริงแล้วเขาไม่ได้รักเธอมากมายเหมือนที่พร่ำพรรณนา แต่ประเด็นสำคัญ
คือไม่อยากรับความพ่ายแพ้ ไม่อยากเสียเชิงชายขายหน้าคนอื่น เมื่อได้คำตอบที่แท้จริงแล้ว เขาก็โล่งอก
ไม่ต้องจมปลักอยู่กับความรู้สึกที่ทึกทักเอาเองว่า “อกหัก” อีกต่อไป
นี่แหละคือ “Business Coaching” ! ซึ่งจะเป็นคนละเรื่องกับการให้คำปรึกษาทั่วไป
การโค้ชชิ่ง (Coaching) จะไม่ให้คำแนะนำอะไรเลย
ผมซึ่งเป็นหัวหน้า ถ้าใช้วิธีการแบบเก่า ๆ ก็คือต้องรีบแสดงภูมิรู้ ให้คำสั่งสอนจิปาถะ ต้องจีบอย่างนั้น
อย่างนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร นี่เป็นตัวอย่างคลาสสิคของจริงที่จะ
เปรียบเทียบให้เห็นว่าการ Coaching นั้นถูกต้อง และได้ผลดีกว่าการตะบี้ตะบันออกคำสั่งอยู่ฝ่ายเดียว
ในการโค้ชชิ่งโดยการรับฟังปัญหา จะให้ได้ผลดีก็ควรต้องรู้จักให้กำลังใจทีมงานด้วย ถ้าเขามีเรื่องดีๆ
ที่น่าชมเชย เราก็อย่าขี้เหนียวน้ำลายที่จะกล่าวคำชมเชยจากใจจริง
ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราทักใครว่าวันนี้แต่งตัวดีนะ หน้าตาสดชื่นจังนะ ถูกรางวัลที่หนึ่งมาเหรอ ผู้ฟัง
ก็มักจะหน้าบาน อย่าไปบอกว่าหน้าตาซึมเซา คิดมากนอนไม่หลับเพราะถูกแฟนทิ้งมาเหรอ คนฟังก็คงจะหน้างอ
เป็นม้าหมากรุก
การชมเชยในสิ่งที่เป็นจริง เรียกว่า “Recognition” แต่การชมเชยที่ไม่เป็นความจริง ชมเชยส่งเดช
เรียกว่า “ประจบ” แถมถ้าไปพูดกับผู้บังคับบัญชา ยกยอในเรื่องไม่จริงก็ต้องเรียกว่า “สอพลอ”!
ทั้ง Business Coaching และ Recognition เป็นสองปัจจัยสำคัญในหลายๆปัจจัยที่จะก่อให้เกิด
Harmony อันเป็นเป้าหมายที่จะช่วยสร้างให้ที่ทำงานเป็นสถานที่แห่งความสุข ที่พนักงานอยากจะมาพบกัน
เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ดีให้เกิดขึ้นทุกๆวัน
บทความโดย คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์