โอกาสเหมาะๆที่จะโดนต่อย

ช่วงแว่บหนึ่งของชีวิตบนรถเมล์สาย 12 จินตนาการเลยเถิดไปว่า ถ้ารถคว่ำจนผมต้องมีอันเป็นไป จะเดาสาเหตุกันอย่างไรนะ?

คำว่า “กรรม” หรือที่บางคนเรียกว่า “เจ้ากรรมนายเวร” คงถูกยกมาอ้างถึงเป็นแน่ ถ้าเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่มีเหตุผลเพียงพอ

บางทีผมก็แอบสงสัยว่า “กรรม”, “เจ้ากรรมนายเวร” หรืออื่นๆ มันจะมีระยะเวลาเล่นงานเราไปได้นานเพียงใด ในหนึ่งชีวิตนี้ ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด

แล้วเจ้ากรรมที่ว่า เลือกช่วงเวลาเล่นงานเราอย่างไรกัน ไหนๆก็เกิดมาพร้อมกรรมแล้ว ก็เล่นให้ครบเครื่องไปเลย เหมือนกับผ่อนบ้าน มีเท่าไรถาโถมโปะให้หมด โดนมันทุกวัน ทุกเวลา สมมุติว่าพออายุสัก 50 ปี ก็จะได้หมดกรรมกันไป  หรือกรรมหนักไปเล่นจนตาย ก็เกิดปุ๊บ ตายปั๊บ ชดใช้กันไปก่อนเลย ชาติหน้าค่อยว่ากันใหม่ วนไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดชดใช้การตาย แล้วค่อยเหลือชาติที่มีชีวิตมาผ่อนกรรมกันอื่นๆกันต่อ

จริงๆ พอมาถึงตรงนี้ก็แอบได้สติเหมือนกันว่าระหว่างชดใช้กรรม เอ็งก็ต้องทำกรรมอื่นมาทับถมต่อไปอีก ใช้อย่างไรก็คงไม่หมด, ไอ้ฟิวส์เอ้ย ชีวิตมันไม่ใช่การผ่อนบ้าน และไม่ใช่เกมส์นี่นา

และการจะเกิดเหตุการใดๆขึ้นกับเรา (แม้แต่การเกิดปุ๊บตายปั๊บแบบใช้กรรม) แปลว่ามันต้องมีสาเหตุ ไม่ว่าจะสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย สิ่งมีชีวิตเอื้ออำนวย สิ่งไม่มีชีวิตเอื้ออำนวย พอคิดมาถึงนี่ แล้วอย่างนี้มันจะไปเกิดได้อย่างไรกัน

ตัดฉากกลับมาสภาวะปัจจุบันที่ธรรมชาติเป็น แปลว่า กรรมที่เราเผชิญ มันอาจจะมีหรือไม่มีเราไม่รู้ รู้แต่มันอยู่ในสภาวะ “กรรมรอส่งผล”

มันรอโอกาส รอจังหวะเหมาะๆ แล้วเหวี่ยงหมัดซัดเราทีเดียวให้น่วมเลย อาจจะเจ็บตัวเท่าตอนที่เคยทำ หรือเจ็บกว่าเพราะมีดอกเบี้ยตามทวงข้ามภพชาติ อันนี้ก็ไม่มีใครรู้

คำว่าโอกาสและจังหวะเหมาะๆ ที่มันรอส่งผลดีหรือไม่ดีกับเรา คงเป็นเพราะตัวเรานั่นเองที่สร้างจังหวะเหล่านั้นให้กับมัน เช่น กำลังทำชั่ว กำลังประมาท ขาดสติ ยุ่งกับเรื่องไม่ดี คนไม่ดี ก็เป็นจังหวะเหมาะที่เจ้ากรรมมันอาจขุดคุ้ยข้อมูลที่ใกล้เคียงมาจากฐานข้อมูล ว่ามีอะไรที่ฉันมีโอกาสจะเล่นงานแกได้บ้าง จากเหตุการณ์ที่แกกำลังทำอยู่

หรือแม้แต่กรรมดีๆ เช่น ทำดี บริจาคทาน เข้าวัด ช่วยคนพิการ ไอ้เจ้ากรรมก็คงไปค้นจากฐานข้อมูล แล้วเทียบเคียงเหตุการณ์ เพื่อส่งเสริมความดีหรือชดใช้คนที่เคยทำดีกับแก ในเหตุการณ์ที่แกกำลังทำอยู่ก็เป็นได้

คงอาจเป็นด้วยเหตุผลดังนี้หรือเปล่านะ ครูบาอาจารย์จึงบอกไว้ให้ทำดีเสมอ อยู่ในที่ดีเสมอ เจอแต่คนดีเสมอ ทำใจดีๆไว้ และอย่าไปทำความชั่ว เพื่อลดโอกาสที่กรรมชั่วมันจะเล่นงานเรานั่นเอง (แม้จะห้ามไม่ได้) หรือเรียกว่ายืดเวลาไปเรื่อยๆ ไม่ต้องพบกับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสที่เจ้ากรรมต่อยเรา จนกว่าชาติใดชาติหนึ่ง เราจะหลุดพ้นมัน อย่างที่ศาสนาพุทธเรียกว่า บรรลุนิพพาน

ว่าแล้ว รถเมล์ถึงบ้านเสียก่อน และผมก็ไม่ได้มีอันเป็นไปตามที่มโนไปเอง เรื่องนี้มันเป็นความคิดยามว่างของคนโง่เขลาอย่างผม ใครมีความคิดอย่างไร แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ

อดีตกาลอันไกลโพ้น

654242main_p1220b3k

“มีอยู่สองสิ่งที่ไม่สิ้นสุด นั่นคือจักรวาลและความโง่เขลาของมนุษย์ แต่ผมไม่แน่ใจเท่าใดนักว่าจักรวาลเป็นเช่นนั้น” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้เช่นนั้น

ภาพจากกล้อง Hubble ของ NASA ที่ทำให้เราได้เห็นบางส่วนของ Milky way galaxy หรือภาษาไทยเรียกว่าทางช้างเผือกอยู่ทางด้านขวามือ ส่วนกาแล็กซี้ด้านซ้ายชื่อว่าแอนโดรเมด้า (Andromeda galaxy) เป็นกาแล็กซี่ที่ใกล้เรามากที่สุด ใช้เวลาเดินทางเพียงแค่  “3 ล้านปีแสง” เท่านั้นเอง..

ภาพที่เราเห็น ถ้าถูกถ่ายขึ้นเมื่อวานนี้ ก็กลายเป็นอดีตแอนโดรเมด้า เมื่อ 3 ล้านปีที่แล้ว เราสมมุติว่ามนุษย์ต่างดาวเฝ้ามองโลกอยู่ พวกเขาคงกำลังเพลิดเพลินดูไดโนเสาร์วิ่งไล่กันกระหนุงกระหนิงบนทุ่งหญ้าริมทะเลสาปท่ามกลางแสงแดดรำไร  เป็นไปได้ว่า แม้มนุษย์ต่างดาวจะเดินทางมาได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากมาเจอมนุษย์ขี้เหม็นในปัจจุบัน

ในการ์ตูนหลายๆเรื่องอย่างโดเรม่อน (บางตอน) หรือเออิชิ นักประดิษฐ์รุ่นจิ๋ว ยังสร้างจินตนาการที่ค่อนข้างสนุกและน่าคิดว่า เมื่อย้อนกลับไปอดีตได้แล้ว ห้ามไปแตะต้อง สื่อสาร หรือทำการใดๆ กับทุกสิ่งในอดีต เพราะบางทีสิ่งเหล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับทุกชีวิตหรือแม้แต่ชีวิตเราในอนาคต จนอาจทำให้ไม่มีเราอย่างปัจจุบัน เหมือนการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ที่เราคาดไม่ถึง

บางทีธรรมชาติก็บอกเราว่าอดีตแม้จะมองเห็นหรือนึกได้ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ ต่อให้ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใดๆ ทำให้เดินทางย้อนอดีตกลับไปได้ แต่มั่นใจหรือว่าเราเองจะกล้าเปลี่ยนแปลงอดีตเหล่านั้น โดยไม่คิดถึงสิ่งที่จะกระทบกับปัจจุบัน

เสน่ห์ของอดีตมีไว้ให้คิดถึง.. คงเหมือนเสน่ห์ของการส่งจดหมาย ที่มีคุณค่าต่อคนรับเสมอ แม้มีช่องทางอื่นที่ดีกว่า

System Thinking Iceberg ที่มองแบบพุทธ

iceberg-ifew

ท่าน ว.วชิรเมธี เคยกล่าวไว้ว่า

เธอจงระวังความคิด เพราะความคิดก่อให้เกิดการกระทำ
เธอจงระวังการกระทำ เพราะการกระทำก่อให้เกิดนิสัย
เธอจงระวังการนิสัย เพราะนิสัยก่อให้เกิดบุคคลิก
เธอจงระวังบุคลิก เพราะถึงที่สุดแล้วบุคลิกจะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของเธอ
ซึ่งชะตากรรมที่ดีหรือไม่ดีของเธอนั้น เกิดจากความคิดของเธอนั่นเอง

ซึ่งเข้าใจว่าท่าน ว.วชิรเมธี น่าจะนำคำของหลวงพ่อชา สุภัทโท มากล่าวอีกรอบ

เธอจงระวัง โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท

เธอจงระวัง ความคิด ของเธอ
เพราะความคิดของเธอ
จะกลายเป็นความประพฤติของเธอ

เธอจงระวัง ความประพฤติ ของเธอ
เพราะความประพฤติของเธอ
จะกลายเป็นความเคยชินของเธอ

เธอจงระวังความ เคยชิน ของเธอ
เพราะความเคยชินของเธอ
จะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ

เธอจงระวัง อุปนิสัย ของเธอ
เพราะอุปนิสัยของเธอ
จะกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต

แต่ที่น่าตลกคือ ผมเพิ่งฟังเรื่องของ System Thinking Iceberg ซึ่งมันจับมาชนกันได้ลงตัวดีทีเดียว
โดย ในมุมของ System Thinking Iceberg มีดังนี้

  • Event คือ ปรากฏการณ์ หรือเหตุการณ์  (บางทีก็ใช้เป็น Behavior คือ นิสัย)
  • Pattern คือ แบบแผนแน่นอนที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ หรือเหตุการณ์นั้นๆ
  • Structure คือ โครงสร้างที่ทำให้เกิดแบบแผน
  • Mental คือ ทัศนคิตที่ทำให้เกิดโครงสร้าง

ผมคงบอกไม่ได้ว่าใครได้แนวคิดจากใครหรือไม่อย่างไร แต่กระบวนการคิดเหล่านี้น่าสนใจ และบังเอิญตรงกันพอดี ระหว่างกระบวนการบริหาร (หรือจะมองว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตก็ได้อ่ะ) และศาสนาพุทธ

ยิ่งรู้จักกันมากขึ้น อาจเข้าใจกันน้อยลง

20131210_105758

ผมเริ่มไม่แปลกใจ ที่ปรายพันแสงจะบอกว่า ยิ่งรู้จักกันมากขึ้น อาจเข้าใจกันน้อยลง, เพราะชีวิตทุกวันนี้เราอาจตัดสินใครเท่าที่เขาแสดงให้เราเห็น แต่ไม่อาจพบตัวตนที่เขาเป็น

แล้วใครกัน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ผมกำลังถ่ายเด็กยากจนกลุ่มหนึ่งบนโรงเรียนลอยน้ำที่โตเลสาบ (กัมพูชา) จู่ๆฝนก็ตกลงห่าใหญ่ นักท่องเที่ยวที่อยู่ใต้หลังคาเรือตกใจและรีบเก็บของกันจ้าละหวั่น แต่เด็กบนแพเหล่านั้นกลับยิ้มวิ่งหยอกล้อเล่นกันท่ามสายฝน

แล้วใครกัน ที่มีสุข และมีทุกข์..