ตั้งแต่เดินป่าและวิ่งเทรล ผมมีอยู่ไม่กี่ครั้งที่เรียกได้ว่า “หลงทาง” แบบจังๆ ซึ่งครั้งล่าสุดผมไปซ้อมวิ่งเล่นเทรลเปิ้ล เป็นการหลงบนดอยสุเทพ-ปุย ใจกลางเมืองเชียงใหม่ที่ทุกคนรู้จักกันดี เป็นเส้นทางจากบ้านขุนช่างเคี่ยนมาที่อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ผมไปเส้นนี้มาก็หลายครั้ง แต่เพื่อความชะล่าใจ และไม่ถอยกลับ เกือบพาตัวเองและแฟนไปลำบากซะแล้ว
ประสบการณ์หลงป่า
(หากต้องการอ่านเฉพาะข้อคิดที่ผมได้ ข้ามบทนี้ได้เลยครับ)
ผมกับเปิ้ลเริ่มต้นขึ้นจากศูนย์แสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ประมาณเที่ยงครึ่ง คิดว่าใช้เวลาไปถึงขุนช่างเคี่ยนไม่น่าเกิน 3 ชั่วโมง จากนั้นกินข้าว กินน้ำ แล้วจะลงถึงพื้นล่างก่อนพระอาทิตย์ตกดิน
ช่วงขาขึ้น เป็นไปตามแผน ถึงขุนช่างเคี่ยนราวๆ 15:30 กินข้าว พักผ่อน และเดินลงไปทางเส้นวังบัวบาน เพื่อไปหน้า มช กลับที่พัก
ก่อนจะออกพ้นหมู่บ้าน เราเจอทางแยกที่มีลักษณะเป็นดินดำร่วนซุยเหมือนถูกใช้อยู่บ่อย ก็ตัดสินใจไปทางนั้น ผ่านไปได้สองร้อยเมตร ผมเริ่มเอะใจว่าทางไม่คุ้นเคยเท่าไร หยิบแผนที่ GPS ในมือถือขึ้นมาดู เห็นว่ายังเป็นเส้นปะ (เส้นที่ใช้เดินทางเท้าได้) แต่เป็นเส้นขนานกับเส้นที่เราจะกลับ และพบว่า ทางข้างหน้ามีจุดบรรจบได้ จึงตัดสินใจลุยไปข้างหน้าต่อ
ทางเริ่มลงชันดิ่งไปเรื่อยๆ ผมหยิบแผนที่มาดูอีกครั้ง พบว่าทางที่ควรเป็นจุดบรรจบกัน มันหายไปแล้ว เลยคุยกับเปิ้ลว่าจะถอยกลับไปจุดเริ่มหรือลุยต่อ เพราะข้างหน้าก็ยังมีทางบรรจบกันอีก ผมอยากย้อนกลับไป แต่ด้วยความขี้เกียจ ผมบอกว่าไม่อยากกลับไปขึ้นชัน อยากลงไปเรื่อยๆ ก็ตกลงกันว่าไปต่อ
เรามาโผล่ที่สวนลำใยแห่งหนึ่ง ที่ผมไม่เคยมา แต่ก็ยังเดินตามเส้นปะบนแผน ต้องบอกว่า GPS บนมือถือ มันไม่ได้แม่นมากนัก บางทีเจอทางสามแยก เราไม่สามารถรู้ได้ว่าต้องไปทางไหน จนกว่าจะลองเดินไปสักร้อยสองร้อยเมตรเพื่อดูทิศทางว่าตอนนี้อยู่เหนือเส้นปะเส้นไหน ต้องทำแบบนี้อยู่สองสามจุด
จนเส้นปะพาเราออกไปนอกเส้นทางเดิน ย่ำเข้าไปในหญ้าและสวนลำใย จนไปสุดที่ลำห้วยเล็กๆ ที่ดูไม่มีทางไปต่อ จากที่ใจดีสู้เสือ ก็เริ่มใจคอไม่ดี พวกเราเดินย้อนกลับไปในเส้นทางเดินและมุ่งตามทางเดินต่อ ซึ่งโชคดีมากๆ เราเจอชาวบ้านสองคน ก็เริ่มอุ่นใจบ้างแล้ว แต่เราก็ยังก้มหน้าเดินไปตามทางต่อ แต่แล้วพบว่าทางมันขาดหายไป ก็ต้องย้อนกลับมาถามชาวบ้าน ซึ่งเขาบอกมีสองทาง คือไปทางใหญ่(จุดที่เราโผล่เจอสวนลยใยตอนแรก) เป็นทางปกติที่รถยนต์ขับเข้ามาได้ แต่ก็ไกลหน่อย ไปโผล่อีกทีคือน้ำตกมณฑาธารหรือดอยสุเทพ กับอีกทางหนึ่งซึ่งชาวบ้านชี้ไปที่ลำห้วยที่เราเดินมา เป็นทางเดินป่าเส้นเก่าของชาวบ้าน เลาะห้วยไปเรื่อยๆ เดินไม่นานก็จะไปบรรจบเส้นน้ำตกวังบัวบานได้
จากน้ำดื่มที่เราเหลืออยู่ไม่มาก แบตเตอรี่มือถือที่อยู่ได้อีกไม่นาน และพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน พวกเราก็ไม่มีไฟฉายติดมาด้วย ผมจึงตัดสินใจพาเปิ้ลไปเส้นทางเดินป่าเก่า เพราะคิดว่าพอถึงเส้นทางที่คุ้นเคย อย่างน้อยก็ปลอดภัย และไม่น่าจะมืดจนมองไม่เห็นทาง
เราย้อนกลับไปที่ลำห้วยอีกครั้งและพยายามหาร่องรอยทางเดินเก่า ก็เจอจริงๆครับ เป็นเส้นจางๆหญ้าปกคลุมที่พาดข้ามลำห้วยไปอีกฝั่ง เราข้ามมาเดินเลาะห้วยไปเรื่อยๆ เจอไม้ล้ม ต้นไม้โตขึ้นมาขวาง และใยแมงมุมที่พาดบังทาง รู้ได้เลยว่าไม่ถูกใช้งานมานาน
เรายังยืนอยู่บนเส้นปะของแผนที่ GPS แต่ทางที่เจอ ต้นไม้รกเหลือเกิน และเป็นร่องหินที่คิดว่าช่วงน้ำเยอะ น่าจะเป็นน้ำตกย่อมๆหรือทางน้ำไหล ผมใช้สัญชาตญาณที่ว่า ถ้าเดินตามร่องน้ำไปเรื่อยๆ เราก็น่าจะถึงพื้นล่าง แต่ยิ่งไต่ลงไปเท่าไร ทางก็ยิ่งรก จนต้องถอยกลับออกมาเพื่อยืนนิ่งๆ ให้กำลังใจกัน และรอให้ GPS มันนิ่งๆ และมองไปรอบๆตัวเพื่อดูสภาพแวดล้อมใหม่อีกครั้ง
หลังจากเรายืนนิ่งสักพัก สังเกตุ GPS ได้ว่าจุดที่เรายืนเหมือนจะเบนออกไปจากเส้นปะเล็กน้อย ก้ำกึ่งมากว่าเราหลุดนอกทางจริงๆ หรือ GPS คลาดเคลื่อน แต่ก็ลองเส้นเปลี่ยนทาง ไต่สันเนินขึ้นจากน้ำตกขยับตามมันดู ปรากฎว่าเจอเส้นทางเดินที่ชัดเจนมาก พร้อมกับท่อปะปา ตอนนั้นโครตดีใจเลยครับ ผมกับเปิ้ลรีบสับเดินอย่างรวดเร็วแม้ว่าเป็นทางเลาะริมผาแคบๆก็ตาม
สุดท้ายเรามาบรรจบกับเส้นวังบัวบานที่ผมคุ้นเคย ล้มตัวนั่งลงกันทั้งคู่ พักดื่มน้ำและหัวเราะกับการหลงป่าที่เป็นครั้งแรกของเปิ้ลและน่าจะครั้งที่สองของผม จากนั้นเราก็รีบวงลงไปที่ครูบาศรีวิชัยทันทีพร้อมกับพระอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้า เราถึงโรงแรม เปิ้ลได้แผลถลอกที่หัวเขาเพราะล้มตอนวิ่งลง ผมได้แผลเกี่ยวหนามต้นไม้ที่มือเพราะลื่นตรงน้ำตก ก็ยังคงเป็นเรื่องเล่าสนุกๆ ปนตื่นเต้นกันอยู่เรื่อยๆ
ข้อคิดที่ได้
จัดสรรแผนและทรัพยากรให้ดี มีของสำรองไว้เสมอ แม้ว่าเส้นทางนั้นจะมีประสบการณ์มาแล้ว
อาจถูกสอนจากป๋าคมรัฐผู้เป็นอาจารย์เดินป่า แม้เคยไปเส้นทางนั้นมาแล้ว หรือทางไม่ยาก แต่การมีแผนที่หรือทำความเข้าใจป่า การเตรียมน้ำ เตรียมอาหารติดตัวไว้บ้าง ก็เป็นสิ่งที่ดี มีดีกว่าไม่มี แม้จะไม่ได้ใช้ก็ตาม (กรณีเดินป่า ป๋าบอกว่า เต้นท์และเครื่องนอนก็ต้องแบกเอง ถ้าหลงป่าข้ามคืน จะได้มีที่นอน)
การพาแฟนไปด้วย ผมต้องไปเส้นทางที่ผมคุ้นเคย แม้เส้นทางนี้ผมไปมาหลายครั้ง แต่ผมก็ยังโหลดแผนที่ GPS ไว้ มีน้ำ มีอาหารติดตัวบ้าง มีแรงเหลือ ทั้งผมและแฟน ทำให้เราไม่มีข้อจำกัดให้ตัวเอง จึงกล้าตัดสินใจไปเสี่ยงต่อ
เช่นกัน แม้ว่าสิ่งที่เราเคยทำมาก่อน แม้จะหลายครั้ง แต่ก็ไม่ควรอยู่แค่ในหัวเราเท่านั้น ควรแยกชิ้นงาน ขั้นตอนการทำ จัดลำดับไว้ พูดง่ายๆ มันควรทำแผนนั่นแหละ เพราะเราไม่รู้ได้เลยว่า จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก ภายใน หรือตัวเราเอง
เพราะแผนที่เราทำไว้ สามารถทำให้ผู้เกี่ยวข้องรู้สิ่งที่เราจะทำ เพื่อเขาไปวางแผนต่อ หรือสามารถให้คนอื่นทำแทนเราได้ แค่เดินตามสเต็ปของเรา และสุดท้าย มันเป็นจุดเริ่มต้นของ Improvement ได้
เมื่อรู้ว่าไปทางที่ผิด การถอยหลังกลับ อาจเป็นสิ่งที่ควรทำ
เพราะเราไม่รู้หรอกว่าข้างหน้าจะเจออะไร มีสองปัจจัยคือ หนึ่ง ปัจจัยภายนอกที่จำกัดที่เราควบคุมไม่ได้ และ สอง ปัจจัยภายในหรือทรัพยากรที่จำกัดที่เรามี ซึ่งเรารู้ดี
แต่นั่นเป็นการเลือกปลายทางแล้วจากการที่เราไม่หันหลังกลับแต่ทีแรก เพื่อป้องกันไม่ให้ทางเลือกของเราน้อยลง ถ้ารู้แต่แรกว่าผิด ก็ควรแก้ไขให้ถูก หรือถอยหลังกลับไปจุดเริ่มต้นปัญหาใหม่อีกครั้ง
ผมมักพูดกับหลายๆคนว่า อย่าเอาปัญหามาแก้ปัญหา เพราะบางทีปัญหาใหม่ที่ซ้อนทับมา อาจจะแก้ยากกว่าปัญหาเก่า โดยเฉพาะ คนที่ทำ Software น่าจะรู้ว่า การเพิ่มโค้ดขยะเข้าไปในโค้ดที่เน่าอยู่แล้ว มันคือการเติมขยะกองโต แก้ก็ยาก เติมฟีเจอร์ก็ยาก ขยายระบบก็เสียเงินมาก ทำใหม่ก็ใช้ทรัพยากรเยอะ ยิ่งปล่อยนานยิ่งค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเสมือนขยายระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด
ผมรู้ว่าผมกับเปิ้ลมีน้ำ มีอาหารเพียงเล็กน้อย แบตเตอรี่มือถือที่อยู่ได้อีกไม่นาน สำหรับที่จะเหนื่อยได้เพียงไม่กี่กิโลเมตร และพวกผมไม่มีไฟ ที่จะเดินไปในตอนกลางคืน ดังนั้นจึงเลือกเส้นทางที่จะเสี่ยงไปต่อ เพราะมีแผนที่อยู่ในมือ และโอกาสสูงที่จะถึงเป้าหมายในข้อจำกัดที่มีได้มากกว่า
ถ้าเลือกไปต่อข้างหน้า เครื่องมือชี้วัดและการตัดสินใจ ต้องแม่นยำ
การไปต่อข้างหน้า คือการผจญภัยภายใต้ข้อจำกัดที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ดังนั้นเมื่อภาพใหญ่ไม่ถอยหลังกลับแล้ว ต้องมั่นใจที่จะไปต่อ แต่การตัดสินใจในภาพย่อยก็จะยังเกิดขึ้นตลอดเส้นทาง เดินหน้าบ้าง ถอยหลังกลับบ้าง อยู่นิ่งๆบ้าง
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การตัดสินใจให้แม่นยำขึ้น นอกจากความเก๋าและประสบการณ์ของเราแล้ว นั่นคือเครื่องมือชี้วัด (Indicator) ที่เที่ยงตรง เป็นประโยชน์ เหมาะสม และเราใช้เป็น
ความเที่ยงตรงทุกคนคงเข้าใจดี เช่น เหมือนตราชั่งที่ควรตรงกับน้ำหนักของเราจริงๆ แต่ความเป็นประโยชน์ของผมหมายถึงการใช้งานที่เหมาะสมและให้เราถึงเป้าหมายได้ ไม่ใช่เพื่อเอามาเพิ่มปัญหา หรือเพิ่มการตัดสินใจให้เราต้องไขว้เขว เคสตัวอย่างที่เห็นได้แพร่หลายคือ ต้องการลดความอ้วน แต่ใช้วิธีชั่งน้ำหนัก แทนที่จะวัดจากสัดส่วน
และสุดท้าย เครื่องมือชี้วัด ต้องเหมาะสมและเราใช้เป็น ไม่ใช่เลือกจากการ Compare ฟีเจอร์ต่อฟีเจอร์แล้วว่าดีที่สุดในอุตสาหกรรม แต่ต้องดูจากการที่เราจะใช้งานมันว่าใช้เพื่ออะไร เช่น แผนที่ที่ดีที่สุดที่ทุกคนรู้ อาจเป็น Google Map, แต่ Google Map ไม่สามารถบอกเส้นทางเดินเท้าได้ละเอียดนะครับ ไม่สามารถสู้ OpenStreetMap ได้เลย ดังนั้น แอพหนึ่งที่สามารถใช้เข้าป่า วิ่งเทรล ได้ คือ Map.Me ที่ใช้แผนที่ของ OpenStreetMap และสามารถโหลดแผนที่มาก่อน เผื่อไม่มีสัญญาณ Internet ได้ด้วย (Google Map ทำ Offline mode ได้เช่นกัน)
หากเครื่องมือที่คุณใช้เที่ยงตรง ถูกต้องและเหมาะสม นอกจากคุณจะได้ไกด์นำทางที่ดีแล้ว คุณจะสามารถรู้ความเร็วในการเดินทางได้ ว่าช้าไป หรือเร็วไป ในการเผาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด (ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นอย่างจิตใจและอารมณ์มนุษย์)
เมื่อจนหนทาง ให้ถามหาผู้มีประสบการณ์
แน่นอน การถามผู้มีประสบการณ์เป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่เราต้องหาเขาเจอก่อนนะ
บางครั้งเราก็พบว่าเรามีอัตตามากพอตัว ไม่ก้มหัว ไม่รับฟังความเห็นใดๆทั้งนั้น โดยเฉพาะคนใหญ่คนโต นอกจากเป็นเองแล้ว บางทีก็สั่งลูกน้องให้คิดแบบนั้นด้วย เพราะเชื่อว่าทำได้และทำได้ไวกว่า
ผมคงไม่แย้งในกรณีนั้น บางทีให้ลูกน้องไป Research อาจจะเสียเวลาหรือได้ผลลัพธ์ที่ผิด คิดเป็นค่าใช้จ่าย อาจจะแพงกว่าส่งลูกน้องไปเรียน หรือ ซื้อชั่วโมงที่ปรึกษาเสียอีก
หากผมไม่ย้อนกลับไปถามชายสองคนในพื้นที่ อาจเสียเวลาไปฝ่าดงหาทางออกเอง แสงอาทิตย์ไม่อาจหวนกลับ หากตัดสินใจช้าไป อาจเพิ่มความอันตรายในการลงจากเขามากขึ้นเพราะความมืด
ฉลองให้กับความสำเร็จ
หลายครั้งเรามักหลงลืม หรืออาจตั้งใจ ที่จะไม่เบรก หรือหยุดพัก หรือฉลองความสำเร็จที่ผ่านมา เพราะคิดว่ามันไม่สำคัญ และเอาเวลาไปทำงานชิ้นต่อไปดีกว่า
ผมพบว่าการรีดทรัพยากรที่มีและเร่งไปให้ถึงเป้าหมายอย่างต่อเนื่องโดยไม่พัก จะก่อผลเสียสะสมในทางอ้อม โดยเฉพาะทรัพยากรที่เรามองไม่เห็น อย่างเช่น ใจของมนุษย์
ช่วงไหนจำเป็นต้องคับขันก็ต้องเร่ง ช่วงไหนพอผ่อนคลายได้บ้างก็เบรกลง ถามว่าจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อ คุณรู้ถึงทรัพยากรที่มี และมีเครื่องมือที่ชัดเจน ยิ่งถ้าเคยมีประสบการณ์แล้วก็จะยิ่งแม่นยำ
เช่นกัน ผมกับเปิ้ลหลงทาง แต่เมื่อหลุดจากวิกฤติได้ เราก็พักและหัวเราะให้กับมัน เมื่อผ่อนคลายความวิตก จึงมีแรงกายแรงใจเร่งฝีเท้ากลับไปที่พัก และแม้รู้ว่าอาทิตย์จะลับขอบฟ้า แต่เป็นคืนจันทร์เจ็มดวง และแบตมือถือยังพอเหลือส่องทางหรือโทรออกได้ยามจำเป็น ในช่วงระยะไม่เกิน 1ชั่วโมง ที่จะถึงที่พักได้
สรุป
การเดินทางผิด หากมองไม่เห็นอนาคตข้างหน้าที่ควรจะเสี่ยง หรือไม่มั่นใจ การย้อนกลับมาตั้งต้นที่เดิม น่าจะเป็น safe zone มากกว่า เพื่อลดความสูญเสีย แต่หากชั่งน้ำหนัก รู้ตนเอง รู้สิ่งที่มี รู้สภาพภายนอก และพร้อมเสี่ยง ก็ลองลุยดูสักตั้ง และมันจะกลายเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำแบบที่ผมเขียนมาทั้งหมด