ฉันห่างหายจากการเดินหนักหน่วง มาได้ 7 ปี ซึ่งครั้งนั้นสมัยยังหนุ่มได้ขึ้นไปบนยอดภูสอยดาว จนวันนี้ ฉันแก่ขึ้นและกลับมาสัมผัสการขึ้นเขาอีกครั้ง นัยหนึ่งก็เป็นความชอบ และนัยหนึ่งก็เพื่อทดสอบร่างกาย

ครั้งนี้เป็นทริปหนึ่งที่ชวนใครไปก็ไม่มีใครไป ทั้งๆที่ในตอนต้นฉันชวนพวกเขาไปเขาช้างเผือก จ.กาญจนบรี เป็นภูเขายอดฮิต ณ ตอนนี้ แต่บังเอิญว่ามีเหตุบางอย่างทำให้เข้าอุทยานไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยนเส้นทางมาที่เขาหลวงสุโขทัยแทน ฉันก็เพิ่งค้นพบตอนนี้แหละว่า ฉันหาคนรอบข้างที่จะชอบเที่ยวหนักหน่วงแบบนี้ด้วยยากพอสมควร แต่การไปครั้งนี้ฉันไปครั้งแรกกับกลุ่มเพื่อนใหม่ในเว็บไซต์ trekkerhut.com โดยเป็นเว็บบอร์ดนัดกันไปเที่ยว บางคนก็รู้จักกันมาก่อน บางคนก็เป้นแบบฉัน คือหน้าใหม่ที่ไม่รู้จักใครเลย แต่ก็เอาเถอะ ลองดูสักตั้ง

เราเริ่มต้นนัดเจอกันที่ BTS จตุจักรตอนสองทุ่ม (24 พ.ค. 2556) เพื่ออกเดินทางไปจังหวัดสุโขทัยด้วยรถตู้ ที่แม้คนขับจะอายุมากแล้ว แต่ฉันเดาได้ว่าเก๋าประสบการณ์มาก เพราะลุงแกคล่องแคล่วและซิ่งแหลกด้วยความแม่นยำ ทำให้เราถึงจุดมุ่งหมายและมีเวลานอนพักอีก 4-5 ชั่วโมงที่อุทยาน

 


รถตู้ที่เราใช้เดินทางกัน บรรทุกสัมภาระเพรียบ และต้องหุ้มผ้าใบป้องกันฝนตกด้วย เผื่อกรณีผิดพลาด

 

เช้าตรู่ (25 พ.ค. 2556) ที่เขาหลวงสุโขทัย (หรือ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง) อากาศค่อนข้างเย็นสบาย พวกเราตื่นมาทำธุระและทานอาหารเช้ากัน ก่อนจะเตรียมตัวออกเดินทางตามเวลาที่กำหนดคือ 9:00น. ณ ตอนนั้นฉันแอบหวั่นใจเล็กๆ เพราะได้อ่านข้อมุลใน Internet มาบ้างว่าภูเขานี้ชันพอสมควร คือสูงแค่ 1,200เมตร แต่ระยะทางแค่ 3.7 กม. (ภูกระดึงสูงเท่ากัน แต่ระยะทางขึ้นเขา 6 กม.) แต่มาถึงนี่แล้ว ทำได้แค่เพียงจัดการร่างกายและกำลังใจให้ดี และเนื่องจากฉันตัดสินใจแบกสัมภาระเองด้วยประมาณ 9 กิโลฯ จึงต้องหาท่อนไม้คอยค้ำยันอีกหนึ่งท่อนไว้ป้องกันเรื่องหัวเข่า

 

เรามาถึงประมาณตี 2:00 หาที่หลักปูถุงนอนกันตามศาลาเชิงเขา

 

ทางขึ้นเขามีต้นไม้ (เข้าใจว่าคือต้าประดู่ยักษ์) ตั้งตระหง่านต้อนรับนักท่องเที่ยว

 

ทางขึ้นเขาลูกนี้ช่วงใน 1-2 กิโลฯ แรก จะเป็นหินและดินเกือบทั้งหมด ทำให้การปีนขึ้นทำได้ง่าย เดินเหยียบหินสลับกับทางดินไปเรื่อยๆ และมีถังน้ำที่รองน้ำมาจากบนเขาไว้ให้พักผ่อนเป็นจุดๆ(ประมาณ 500 เมตร) ฉันดื่มและล้างหน้าไปครั้งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นมีเพื่อนร่วมทริปเล่าให้ฟังว่าเจอ ลิงลอยอยู่ในถัง (กางเกงใน) ซึ่งไม่รู้เป็นถังเดียวกับที่ฉันดื่มหรือไม่ ฟังแล้วแทบอยากจะอาเจียนเลยทีเดียว (ปกติที่ฉํนเห็น ถังจะถูกขันน็อตปิดฝาไว้ แต่คาดว่าบางถังอาจจะพังและเปิดได้)

 

ทางขึ้นในช่วงแรก ชิลๆ สบายๆ ชันเล็กน้อยประมาณ 30-45 องศา

 

เริ่มมาเจอทางชันและก้อนหินขนาดใหญ่ ที่ต้องก้าวเท้ายาวๆ เพิ่มความล้าตรงช่วงขาเป็นอย่างดี

 

คงถูกทิ้งร้างมานานหลายปี ทางเดินที่เคยดีๆ ก็พังถล่มตามอายุขัย ทำให้จากทางสบายๆ ก็กลายเป็นทางลำบาก แต่ยังดีที่มีราวให้จับ (ผุบ้าง ดีบ้างก็ระวังกันให้ดี)

 

เราเดินมาถึงจุดชมวิว ซึ่งประมาณ 40% ของระยะทาง ค่อนข้างเริ่มล้า เนื่องจากต้องยกขาสูงเพราะไต่หินสูงชันมาตลอดทาง แต่ลูกหาบที่แบกสัมภาระกลางบอกกับฉันว่า ไอ้ที่เดินขึ้นมายังเด็กๆ แต่ต่อไปนี่สิของจริง เพราะเขาเรียกกันว่ามออีหก ที่มาของชื่อคือ มันเป็นป่าไผ่และมีความชันมาก จึงทำให้ไผ่ล้มประปราย หรืออีกความหมายคือคนที่เดินอาจจะหกล้มได้ เพราะเป็นทางชันที่ปกคลุมด้วยใบไผ่ โอกาสลื่นมีสูง

 

วิวจากจุดชมวิว ยังไม่สูงนัก แต่ก็เหนื่อยเหมือนกัน

 

ชาวคณะที่มาร่วมทริปด้วยกัน ส่วนใหญ่จะอายุไม่น้อยกันแล้ว แต่อึดโครตๆ เดินเร็วกว่าคนหนุ่มๆแบบผมเยอะ

 

ในจุดตรงที่เป็นมออีหก ไม้เท้าช่วยฉันได้เยอะ ฉันใช้มันเขี่ยๆทางด้วย และโชคดีอย่างหนึ่งคือก่อนหน้าที่เราจะขึ้นมีฝนตก ทำให้ดินมีความเหนียวบ้าง จุดนี้จึงไม่ลื่นอย่างที่คิด แต่ชันและเดินยากพอสมควร ฉันว่าเป็นจุดที่ยากสุดในทริปแล้วหละ ทั้งขาขึ้นและขาลง

จุดเดินยากและอันตรายอีกจุด คือ มออีหก ดินลื่น และใบไผ่ปกคลุม ถ้าเดินไม่ดีก็ลื่นได้ง่ายๆ

 

ธรรมชาติระหว่างทางขึ้นเขา ค่อนข้างหลากหลาย เริ่มจากป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ทั่วไป มาเจอเต็มไปด้วยต้นประดู่ยักษ์ ตามมาเป็นป่าไผ่ และบนๆจะเป็นป่าผสม ที่ฉันเจอต้นไม้ใหญ่ๆ รวมถึงต้นไทรงาม เป็นจุดพักที่เรากินข้าวเที่ยงกัน อยู่ข้างๆต้นไทรขนาดยักษ์ ทำให้ฉันคิดถึงเรื่อง Avatar เลยทีเดียว ที่จะมีต้นหนึ่งเป็นตัวควบคุมธรรมาติทั้งหมด เสียดายที่มีคนมือบอนไปขีดเขียนซะเต็มต้นไทรเลย

 

ป่านี้เต็มไปด้วยต้นประดู่ยักษ์ และต้นไม้ขนาดใหญ่หลายๆชนิด สมบูรณ์ดีครับๆ

 

เราพักกินข้าวกลางวันกันที่ไทรงาม ร่มรื่น ร่มเย็น แต่ยุงและแมลงเยอะมากๆ (จริงๆก็เยอะตลอดเส้นทาง)

 

ลองเทียบไทรงามกับตัวฉัน ฉันตัวเล็กไปเลย นี่ยังเก็บได้ไม่ครบทั้งต้นนะ แล้วด้านหลังก็ยังมีรากแผ่กระจายเยอะมาก

 

ไทรงาม สูงมาก

 

เถาวัลย์ขนาดมหึมา ขนาดต้องยืนมองหาที่มากันเลยทีเดียว

 

เราถึงจุดกางเต้นท์ประมาณ 13:00 น ใช้เวลาเดินไป 4 ชม ถือว่าปกติทั่วไป แต่สถิติที่มีจดบันทึกไว้งานวิ่งมาราธอนพิชิตยอดเขาหลวงสุโขทัย เร็วสุดคือ 46 นาที ช้าสุด 8 ชั่วโมง และอายุมากที่สุดที่พิชิตได้คือ 72 ปี

 

ในที่สุดเราก็ถึงจุดกางเต้นท์

 

เต้นท์กลางที่เราจะใช้พักแรมกัน

 

ย่างหมู ยางเนื้อ ไว้รอมื้อค่ำ

 

เรากางเต้นท์และย่างเนื้อทิ้งไว้เสร็จ ก็เริ่มไปเดินสำรวจบนยอดเขากันต่อ ระยะทางประมาณ 2.2 กม. โดยจุดพีคที่นี่คือ ยอดเขานารายณ์ จะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านยื่นออกไป ให้ได้ยืนถ่ายรูปเเสียวๆกัน และว่ากนัว่าถ้ามองจากกลางคืน จะเห็นดาวดินสองฝั่ง หรือแสงไฟจากเมืองพิษณุโลก และเมืองสุโขทัย

 

ยอดเขานารายณ์ จุดที่ใครๆก็ต้องมา

 

วิวด้านล่าง สวยแปลกตา เพราะมันค่อนข้างอยู่ใกล้ชุมชน พ้นจากเขตป่าไปก็เป็นบ้านคนและทุ่งนาทันที

 

ถ่ายคู่หน่อยๆ

 

ตื่นเต้นดี อิอิ

 

เราเดินจากจุดเขานารายณ์ไปต่อที่ เขาพระแม่ย่า ซึ่งฉันลองมองไปรอบๆ คิดว่าสูงที่สุดในบรรดายอดเขาทั้งหมด วิวดีที่สุด และพวกเราตั้งใจว่าจะอยู่ดูพระอาทิตย์ตกดินที่นี่  แต่น่าเสียดายที่ท้องฟ้าไม่เป็นใจ แถมระหว่างทางเดินไปอีกเขาก็เจอฝนตกด้วย ไอ้ฝนตกยังพอเข้าใจ แต่เดินหลงทางนี่สิ ทำเอาออกกำลังกายฟรีกันทั้งทีม เพราะเห็นป้ายไปเขาภูกา แต่เดินลุยป่าเข้าไปเท่าไรก็ไม่พบ ยิ่งเดินเส้นทางก็ยิ่งหาย เจอแต่หญ้าและต้นไม้ ซึ่ง ณ ตอนนั้นฝนตก และเวลาใกล้จะ 18:00 น. พวกเราจึงตัดสินใจรีบเดินกลับ เพื่อความปลอดภัย

 

ถ้ามองจากยอดเขาพระแม่ย่าลงไป จะเห็นยอดเขาทุกลูก สวยงามมากๆ

 

และยอดเขาเจดีย์ เป็นยอดสุดท้ายที่เรามาพิชิตและชมวิวกัน บนยอดนี้ก็สวยมาก เห็นได้รอบด้านเช่นกัน และจุดนี้เอง เราก็เห็นกลุ่มฝนตกห่าใหญ่ มาจากทุกทิศ และเป็นไปได้ว่ากำลังมุ่งหน้ามารวมตัวกันที่เรา แต่ ณ ตอนนั้น เป็นภาพที่สวยและควรบันทึกไว้เลยครับ และก็เป็นจริงตามที่คาด ระหว่างเดินลงกลับไปที่จุดกางเต้นท์ ฝนก็เริ่มตกทันที และหนักขึ้นเมื่อเราถึงจุดกางเต้นท์พอดี

 

ฝนตกทั่วทิศทางเลย

ยอดเขาเจดีย์ อีกมุมที่นั่งชิลสบาย

 

สภาพร่างกายฉันตอนนี้มันเลยจุดเหนื่อยไปแล้ว ไม่รู้สึกเหนื่อยและไม่รู้สึกปวดขาเท่าไรนัก อาจเพราะฉันกินยาพาราดักไว้หลังจากที่ขึ้นถึงจุดกางเต้นท์ก็ได้มั้ง

ค่ำนั้นเราแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มหนึ่งที่มีฉันอยู่ด้วย ทะยอยย้ายข้าวของไปอยู่ในศาลาเก็บของของเจ้าหน้าที่ แล้วจัดแจงที่นอนและที่ทานข้าวให้พร้อม ส่วนอีกกลุ่มก็จัดการทำอาหารอย่างขะมักขะเม่น ฉันว่าอาหารมื้อนี้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในรอบหลายปี เนื่องจากหิวโครตๆเลยหละ

คืนนั้นฝนตกหนักและลมพัดแรงตลอดทั้งคืน ดีอย่างหนึ่งตรงที่อากาศเย็นสบายจนถึงเกือบหนาว แต่เราก็พลาดโอกาสที่จะได้นอนดูดาวบนฟ้า และดาวบนดิน ไปอย่างน่าเสียดาย

 

ฝนตกหนักและลมแรงตลอดคืน

 

เช้าวันรุ่งขึ้น (26 พ.ค. 2556)  พวกเรารีบกระเสือกกระสนวิ่งขึ้นไปที่ยอดเขานารายณ์ บางคนตะโกน นั่นไง! ทะเลหมอก! ขาวโพลนเต็มท้องฟ้าไปเลย สวยมากๆ นี่เป็นครั้งที่สองในชีวิตที่ฉันโชคดี (ครั้งแรกที่ภูทับเบิก) คือได้มาบนเขาหลังฝนตกหนักตอนกลางคืน ซึ่งปรากฏการณ์ตอนเช้าคือจะมีทะเลหมอกหนาแน่นให้ได้เห็น

 

ทะเลหมอก!

 

แต่อาจเพราะอากาศในหน้าร้อน เลยทำให้ทะเลหมอกมีให้เราเห็นประมาณ 30 นาที แล้วก็เริ่มจางหายไป

เราทำอาหารเช้ากินกันง่ายๆ และก็เริ่มออกเดินทางลงเขาด้วยเวลาเดิมคือ 9:00 น. ซึ่งการเดินลงเขาครั้งนี้เราประเมินกันไว้ว่าทางจะลื่นและชันมากๆ จึงต้องเตรียมรองเท้าให้ดี เขี่ยดินออก และหาไม้ค้ำที่แข็งแรง ส่วนกระเป๋าเดินทาง คราวนี้เราให้ลูกหาบแบกกันทุกคน แต่ไม่ใช่เพราะต้องการเตรียมตัว แต่เพราะลูกหาบที่นี่ค่อนข้างขาดร้ายได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่ค่อยมาเที่ยวกัน เขาจึงขอให้เราอุดหนุนเขาบ้าง

 

มื้อเช้าง่ายๆ อร่อย อิ่มแล้วก็เตรียมออกเดินทาง

 

การเดินลงเป็นอะไรที่ลำบากกว่าขึ้นมากพอสมควร นอกจากเราต้องรับน้ำหนักตัวเองแล้ว ยังต้องคอยระวังด้วย เนื่องจากตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยโคลนและดินลื่นๆ ใบไม้ลื่นๆ แต่ก็ดีตรงที่ไม่ต้องแบกสัมภาระ เดินตัวปลิวได้สบาย จึงทำให้ขาลงเราเดินถึงด้านล่าง 11:30 น. ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. 30 นาที แต่ขอบอกว่า ช่วง 1 กม. ท้ายๆที่ต้องเดินตามโขดหิน ช่วงข้อขาฉันรู้สึกล้าเต็มทน แม้ยกขาขึ้น แต่ข้อขาทำงานไม่สมบรณ์ก็มีสิทธิทำให้สะดุดหรือก้าวไม่พ้นสิ่งกีดขวางได้ วันนั้นฉันรู้เลยว่าฉันไม่เคยออกกำลังกายข้อขาเลย จึงทำให้เกิดอาการแบบนี้

 

หลังจากฝนตกหนักทั้งคืน ขาลงก็ไม่ได้สบายอย่างที่คิด มีแต่ดินโคลนตลอดทาง

ทางพังและโคลน

 

ว่ากันว่า ใกล้ตา แต่ไกลตีน มันเป็นแบบนี้เอง

 

ระยะทางโดยรวมทั้งหมด ขึ้น 3.7 กม. ลง 3.7 กม. เดินบนเขาอีก 2.2 กม. หลงอีกอีก 1 กม. ก็ประมาณ 10.6 กม.

ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ ฉันได้ข้อคิดที่ว่า การก้าวยาวๆ ก็ทำให้เราหมดพลังเร็ว และอาจไปไม่ถึงยอด หรือถึงยอด แต่ก็เหนื่อยเต็มทน แต่การก้าวทีละก้าว ถี่ๆ และอาจต้องยอมเดินอ้อมเล็กน้อย ฉันพบว่าประหยัดแรงกว่าการฝืนใช้ทางตรงที่ชันเกินไป และปลอยภัยมั่นคงกว่า

บางทีต้นไม้ใบใหญ้าที่มันขึ้นตามทางลื่นทั้งหลาย การเหยียบไปที่มัน ที่โคนรากของมัน ก็ช่วยทำให้ที่ลื่นๆ ก็หนึบติดรองเท้า แต่บางทีวัชพืชเหล่านี้ เราไปเหยียบมัน มันอาจเป็นหลุมพลางก็ได้ เหยียบไปก็อาจเป็นหลุมที่มันปกคลุมซ่อนไว้ หรือเหยียบไปแล้วเราพลาดลื่นเอง ซึ่งการร่วงมาทีจากทางชัน หรือจากที่สูง ค่อนข้างเจ็บหนัก และเสียงดัง..

การเดินและการดูรอยเท้าผู้อื่นที่เขาเดินไปข้างหน้าเราแล้ว ทำให้เรารู้ว่า เราต้องระวังตรงจุดไหนบ้าง บางทีเขาลื่นไปแล้ว เราก็ไม่ไปเหยียบซ้ำ จะได้ไม่ลื่นล้มตามเขา และเราควรต้องระวังตัวให้มาก แต่บางทีจำเป็นต้องเหยียบก็ต้องเหยียบ แต่เหยียบด้วยความระมัดระวัง หาอุปกรณ์หรือตัวช่วยไว้บ้าง เช่น ไม้เท้า ก็จะช่วยเราให้ถึงจุดหมายได้เร็วและปลอดภัยขึ้น

ทริปนี้ฉันค่อนข้างประทับใจ ทั้งเพื่อนใหม่ที่ดี ทั้งความมันส์ที่ได้รับ และประสบการณ์ใหม่ๆที่ได้เจอ ไฟในตัวได้กลับมาลุกโชติช่วงอีกครั้ง เหมือนเป็นหนุ่ม เพราะอย่างน้อยเราได้พิสูจน์ไปเล็กๆว่า ใจเรายังสู้ ร่างกายเรายังแข็งแรง

Published by iFew

ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ชื่นชอบหลายเรื่องที่ไม่น่าจะไปกันได้ ทำงานไอที แต่ชอบท่องโลกกว้าง รักประวัติศาสตร์ แต่ก็สนใจเทคโนโลยี ชอบสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง และไปป้ายยาคนอื่นต่อ

Join the Conversation

1 Comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Exit mobile version