01. เริ่มต้นของฉัน

ปีที่แล้วผมเห็นหลายคนโพสถึง ABC ในพันทิพย์ แต่ละรูปสวยมาก! จนต้องตะลึง จู่ๆวันหนึ่งเพื่อนก็ชวนไป เราเองเคยแต่เดินป่ามากสุดแค่ 3 วัน หิมะก็ไม่เคยเจอนานๆ ที่เที่ยวของปีหน้า(ปี 2015)ก็ยังไม่มีไป เวลาเก็บเงินก็มีหลายเดือน เอาสิ! เสนอมา ฉันก็พร้อมสนองตอบ!

ABC ย่อมาจาก Annapurna Base Camp (และมันก็มีอีกชื่อคือ Annapurna Sanctuary) อยู่ในเทือกเขาเดียวกับหิมาลัย ประเทศเนปาล มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 4,130 เมตร นักเดินป่า ปีนเขาจะนิยมมาที่นี่เยอะ เพราะสวยมาก และเดินไม่ยาก(มั้ง) จุดไฮไลท์อยู่ที่ยอดเขา Machapuchare (สูง 6,993 เมตร) หรือเรียกสั้นๆว่า Fish Tail ที่แปลว่าหางปลา เพราะยอดเขานี้จะเป็นสองแฉกเหมือนหางปลา สวยมากครับ ยิ่งยามต้องแสงอาทิตย์ตอนเช้า ส่วนไฮไลท์อื่นๆ อีกคือ ยอดเขา Annapurna I (8,091 m), Annapurna South (7,219 m) และ Hiunchuli (6441 m) ที่ตั้งสูงตระหง่านให้เราได้เห็นตลอดการเดินทาง นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมใครๆก็อยากไป

จะเรียกทริปนี้ว่าไปบำเพ็ญทุกรกิริยาบนเทือกเขาอันนาปุรณะก็ได้ แอบดูเป็นผู้ทรงศีลดี เพราะก่อนไปผมป่วยนิดหน่อยจากน้ำหนัก 96 (เป็นชายอ้วนคนหนึ่งว่างั้นเถอะ) ลงไปถึงจุดอิ่มตัวที่ 94 แต่พอไปบำเพ็ญเพียรกลับมา ทำจุด new low ใหม่ในรอบ 5 ปี อยู่ที่ 92 คือใครคิดจะลดน้ำหนัก กินคลีน ไม่เจริญอาหาร ถ่ายเยอะ เดินทั้งวัน เชิญตามรอยได้เลยครับ

เส้นทางที่แพ็คเกจทัวร์ที่เราจองไป ค่อนข้างอ้อม เพราะเราจะแวะไปชมวิวที่ Poon Hill ก่อน (วิวแบบรูปแรกที่โพส) แล้วค่อยไป Annapurna Base Camp โดยเส้นทางทั้งหมดเป็นประมาณนี้ครับ

จะใช้เวลาเดินทั้งหมด 8 วัน

Day 1 – Nayapul -> Ulleri (1900 m)
Day 2 – Ulleri -> Ghorepani (2860 m)
Day 3 – Ghorepani -> Poon Hill (3210 m) -> Tadapani (2630 m)
Day 4 – Tadapani -> Chomrong (2170 m)
Day 5 – Chomrong -> Sinuwa (2360 m) -> Bamboo -> Hotel Himalaya -> Deureli (3200 m)
Day 6 – Deureli -> MBC (3700 m) -> ABC (4130 m)
Day 7 – ABC -> MBC -> Deureli -> Hotel Himalaya -> Bamboo -> Sinuwa
Day 8 – Sinuwa -> Chomrong -> Ghandruk -> Nayapul

แต่ที่นั่น ใช้วิธีจองเกสเฮ้าส์วันต่อวัน ปรากฎว่าพอถึงเมือง Tadapani เกสเฮ้าส์เต็ม เลยทำให้เราต้องพักระหว่างทาง รวมถึงเส้นขากลับ เรามีคนบาดเจ็บ จึงต้องปรับเส้นทางกันใหม่ ดังนั้นเวลาที่ใช้เดินคือ 8 วัน(ตามแผน) แต่ระยะทางลดลงจาก 120กม เหลือประมาณ 100กม (จับจาก GPS ในแอ๊พ Endomondo) เดินผ่าน 16 หมู่บ้าน ดังนี้ครับ

Day 1 – Nayapul -> Ulleri (1,900 m)
Day 2 – Ulleri -> Ghorepani (2,860 m)
Day 3 – Ghorepani -> Poon Hill (3210 m) -> Banthani
Day 4 – Banthani -> Tadapani (2,630 m) -> Chomrong (2,170 m)
Day 5 – Chomrong -> Sinuwa (2,360 m) -> Bamboo -> Hotel Himalaya -> Deureli (3,200 m)
Day 6 – Deureli -> MBC (3,700 m) -> ABC (4,130 m)
Day 7 – ABC -> MBC -> Deureli -> Hotel Himalaya -> Bamboo -> Sinuwa
Day 8 – Sinuwa -> Chomrong -> Jhinu -> New Bridge -> Kyumi -> Shiwai

หากใครสนใจเส้นทางนี้ ก็ไปตามได้เลยครับ ประหยัดเวลา ประหยัดแรงไปอีกหน่อย ไม่ต้องวกกลับ Nayapul ทางเดิมด้วยครับ

02. เตรียมตัว เตรียมของ

การไปเนปาลครั้งนี้ ค่อนข้างที่สุดของผมหลายอย่าง คือ

  • เป็นการเดินทางต่างประเทศที่นานที่สุดของผม (11 วัน)
  • เดินป่านานสุด (8 วัน)
  • เจออากาศหนาวสุดขั้วที่สุด ประมาณ -10
  • เดินต่อเนื่องนานและไกลที่สุด 12 ชั่วโมง หรือ 24กม

แต่ก่อนหน้าที่ผมจะไปสัมผัสจริงๆ ผมพยายามหาข้อมูลจากหลายแหล่ง และติดตามสภาพอากาศตลอดเวลา บ้างก็ว่าหนาวจัด บ้างก็ว่าจะเจอหิมะตก บ้างก็ว่าเจอฝน แต่ละเว็บไม่ตรงกันเท่าไรนัก แต่ที่ช่วยได้เยอะเลยคือติดตามจากตนที่เพิ่งกลับมาแล้วเขียน Review ใน Facebook, Pantip

แต่ถึงกระนั้น เรามีไว้เกินก็จะดีกว่าขาด ผมเริ่มสะสมของใช้ต่างๆ ตั้งแต่วันที่จองทริป ประมาณกลางปี 2014 ยาวจนถึงวันเดินทางคือ เมษายน 2015 ซึ่งพอจะจับเทคนิคและแชร์กันได้บ้าง

  • การตัดสินใจเดินทางก่อนหน้านานๆ จะลดภาระใช้จ่ายได้เยอะ ทะยอยๆซื้อเก็บ เพราะสินค้ากันหนาวและเดินป่าพวกนี้ราคาแพงมากจริงๆ แล้วนานๆทีจะได้ใช้ (แต่คุณภาพก็ดีมากๆ เช่นกัน เพื่อรองรับการใช้งานโหดๆ)
  • ดูรูปคนที่เขาไปมาก่อนหน้าเรา ใช้ของประมาณไหน ยี่ห้ออะไร เราก็เล็งๆไว้ ไปหาข้อมูลจดราคามาไว้ก่อน
  • สินค้ากันหนาวและเดินป่า มักลดราคาตอนมีนาคม-เมษายน มีทั้งยี่ห้อของนอก ยี่ห้อในประเทศ หรือแม้แต่ของก้อป (เข้าใจว่าล้างสต็อกเพื่อเปลี่ยนคอลเล็กชั่นใหม่ หรือเขาอาจรู้ว่าคนเที่ยวช่วงนี้เยอะ)
  • ปลายปี พวกสินค้าลดล้างสต็อก End Year Sale จะเยอะ ก็ลองติดตามยี่ห้อที่ตัวเองสนใจไว้บ่อยๆ อาจจะมีลดราคา
  • ของที่เป็นหัวใจหลักในการเที่ยว ให้กลั้นใจซื้อของแท้ไปเลย เช่น รองเท้า เป้ เสื้อกันหนาว เพราะของก้อปลอกรูปแบบได้ แต่ลอกคุณสัมบัติไม่ได้ดีนัก เช่น ถุงนอนก้อป ที่เห็นว่าป้องกันได้ถึง -10 เอาจริงๆ ใกล้ 0 ก็หนาวแล้วครับ
  • ของหลายๆอย่างไปหาซื้อได้ที่ย่าน Tamel ในเมือง Kathmandu เพราะของที่นั่นถูกมาก(จริงๆ) แม้จะเป็นของก้อปก็คุ้ม
  • ใช้ของก้อป ต้องมีแผนสำรอง เช่น ผมซื้อถุงนอน -10 ในราคา 800 บาท ผมไม่ไว้ใจว่ามันจะเอาอยู่ ผมก็ซื้อเสื้อ Down Jacket เพิ่มอีกตัวในราคา 1000บาท เพื่อใส่เดินด้วย และใส่นอนด้วย ซึ่งโชคดีว่ามันเอาอยู่ครับ รวมแล้วถูกกว่าซื้อถุงนอนแท้เอาอยู่แต่ในราคาหลายพัน (แต่ซื้อหลายชิ้น น้ำหนักในกระเป๋าเรามากขึ้นอีกนิด คำนวณดีๆ ว่าลูกหาบช่วยเราแบกไหวไหม)

เอาหละ หลังจากผมทะยอยซื้อของเก็บมาตลอดปี ทุกอย่างที่ผมพกไปลุยทริปนี้ มีดังนี้ครับ

Nepal Checklist

  • เสื้อผ้า
    • Gaiter x1
    • แว่นกันแดด x1
    • หมวกกันแดด x1 (แบบที่กันน้ำได้ด้วย)
    • หมวกไหมพรม x1
    • เสื้อคอกลม x8
    • ผ้าบลัฟ x1
    • ถุงมือกันหนาว x1
    • ผ้าพันคอ x2
    • ผ้าปิดคอ x1
    • เสื้อขนเป็ด x1 (ผมใช้ Uniqlo แต่ไม่ใช้ กลัวพัง เอาไม่อยู่, ไปซื้อใหม่ที่เนปาล 1000บาท)
    • เสื้อกันฝน x1
    • เสื้อกันลม x1
    • ลองจอนเสื้อ+กางเกง x2
    • กางเกงเดินป่า x1
    • กางเกงเดินป่ากันลมกันน้ำ x1 (จริงๆควรใช้กางเกงกันหิมะ)
    • กางเกงขาสั้น x1
    • กางเกงใน x8
    • ถุงเท้า wool x6
  • ของใช้
    • เป้เล็ก (Day Pack) x1
    • เป้ใหญ่ (Backpack) x1
    • เป้ใส่ของ (Duffle Bag) x1 (ไปซื้อที่เนปาล 500บาท)
    • ผ้าเช็ดตัว x1
    • ขวดใส่น้ำร้อน x1
    • ทิชชู่แห้ง x 2 ม้วน
    • ทิชชู่เปียก x2 ห่อ
    • ผ้าปิดจมูก x2 (ไป, เที่ยวเมือง, กลับ)
    • ไม้เท้า x1คู่ (ซื้อที่เนปาล คู่ละ 250บาท)
    • ถุงนอน-10 x1 (ไปซื้อที่เนปาล 800บาท)
    • ผ้าห่มฉุกเฉิน x1
    • สบู่อาบน้ำ x1
    • โลชั่นทาหน้า x1
    • ครีมกันแดด x1
    • ลิปมัน x1
    • น้ำยาสระผม x1
    • แปรงสีฟัน x1
    • ยาสีฟัน x1
    • ถุงเปล่า x5
    • ถุงซิปกันน้ำ x3
    • ถุงดำใหญ่ x1
  • อุปกรณ์ไฟฟ้า
    • ปลั๊กพ่วง แบบสามหัว x1
    • ไฟฉายคาดหัว x1
    • กล้องถ่ายรูป x1
    • ที่ชาร์ตแบตกล้องถ่ายรูป x1
    • Lens Filter CPL x1
    • ขาตั้งกล้อง x1
    • แบตกล้อง x2
    • สาย USB ชาร์ตมือถือ x1
    • แบตสำรอง (Power Bank) x2
    • ปลั๊กไฟสำหรับต่อสาย USB 4 หัว x1
    • SD Card ใส่กล้อง x3 (32,16,8)
  • อาหาร
    • มาม่า x10 ซอง
    • หมูฝอย x1 ถุง
    • น้ำขิง x10 ซอง
    • กาแฟ x10 ซอง
    • เกลือแร่ x5 ซอง
  • ยา
    • ยาคลายกล้ามเนื้อ x1 แผง
    • ยาฆ่าเชื้อ x1 แผง
    • พาราเซตามอล x1 แผง
    • คาบอน x1 แผง
    • L-Carnitine x10 เม็ด
  • เงิน 300 USD (ใช้เป็น ค่าอาบน้ำอุ่น, ชาร์ตไฟ, อินเทอร์เน็ต, ซื้อน้ำ+ขนม, ของเดินป่าที่ซื้อเพิ่ม, จิปาถะ)

อนึ่ง การเตรียมตัวและเตรียมอง ของแต่ละคน น่าจะแตกต่างกันพอสมควร อย่างไรควรศึกษาข้อมูลก่อนการเดินทางจะดีกว่าครับ หรือปรึกษาคนที่เคยไป น่าจะได้ข้อมูลเชิงลึกมากกว่านี้

เมื่อเตรียมของเสร็จแล้ว มาดูเรื่องการเตรียมตัวบ้างครับ ซึ่งทางผู้จัดทริปได้แปะภาพนี้ไว้ให้เราทำล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มจองทริปเลยทีเดียว นั่นคือการทำ Squat Challenge!

Squat คือการทำท่าลุกนั่งๆ หรือถ้าใครมีลู่วิ่ง ก็สามารถหัดเดินบนลู่แบบชันๆแทนก็ได้ครับ หรือถ้าไม่มีก็เดินขึ้นลงบันไดแทนก็ได้ แต่วันที่เดินจริงเราจะต้องเจอกระเป๋าใส่ของไปด้วย อาจทำให้หนักกว่าปกติ แถมจุดที่เราเดินก็จะสูงกว่า 3,000เมตร อาจทำให้เหนื่อยง่ายกว่าปกติด้วยเช่นกัน ดังนั้น นอกจากสร้างกล้ามเนื้อขาแล้ว อย่าลืมวิ่งหรือแอโรบิกเพื่อให้ปอดและหัวใจแข็งแรงด้วยนะครับ

ข้างต้น เป็นคำแนะนำแบบหมอๆ ที่ดูดี และมีประโยชน์ แต่ในความเป็นจริง.. อะแฮ่มๆ ผมวิ่งอาทิตย์ละ 1-2วัน ทำ Squat ก่อนไป 10 วัน และมีนัดกินบุฟเฟ่กับเพื่อนก่อนไปตลอด 5 วัน..

ส่วนผลที่ได้หรอครับ.. ลองตามอ่านดูเองในตอนต่อๆไปก็แล้วกันนะ


ซีรี่ – 8 วันเดินเท้า ไปเข้าตู้เย็น ในนาม ABC

ตอนที่ 1-2 เริ่มต้นและเตรียมตัว
ตอนที่ 3 มุ่งสู่เนปาล และอันนาปุรณะ
ตอนที่ 4 พบรักที่ Poon Hill
ตอนที่ 5 รสชาติชีวิต
ตอนที่ 6 ในวงล้อมแห่งหิมะ
ตอนที่ 7 จากลาพร้อมบทสรุป

Published by iFew

ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ชื่นชอบหลายเรื่องที่ไม่น่าจะไปกันได้ ทำงานไอที แต่ชอบท่องโลกกว้าง รักประวัติศาสตร์ แต่ก็สนใจเทคโนโลยี ชอบสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง และไปป้ายยาคนอื่นต่อ

Join the Conversation

10 Comments

  1. Pingback: - Tripder

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Exit mobile version